สถานการณ์ความยากจน ยังเป็นปัญหาหนักอกของทุกรัฐบาลที่แม้จะพยายามหาสารพัดวิธีเข้ามาแก้ไข แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่สามารถปลดเปลื้องออกได้เสียที ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประกาศสถานการณ์ความยากจน รายงานและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ประจำปี 2566 พบตัวเลขล่าสุดของจำนวน "คนจนไทย" อยู่ที่ 2.39 ล้านคน ลดลงจากปีก่อนที่มีจำนวน 3.79 ล้านคน เล็กน้อยเท่านั้น
จากข้อมูลของ สศช. ระบุว่า แม้คนจนในประเทศไทยจะมีจำนวนลดลง แต่ปัญหาความยากจนหลายมิติยังคงเป็นปัญหาสำคัญ ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ในปี 2566 มีคนไทยที่ประสบปัญหาความยากจน จำนวนทั้งสิ้น 7.17 ล้านคน
ทั้งนี้คนไทยที่ประสบปัญหาความยากจน สามารถจำแนกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
สศช. ระบุว่า แม้ว่าแนวโน้มจำนวนคนจนทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนจนด้านตัวเงินเพียงอย่างเดียวที่มีอัตราการลดลงมากที่สุด แต่คนจนหลายมิติที่มีปัญหาความขัดสนในมิติต่าง ๆ ยังคงอยู่ในระดับสูง สะท้อนว่า แนวทางการดำเนินงานของภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยทางด้านรายได้นั้น ยังไม่ครอบคลุมมิติต่าง ๆ ของคนจนอย่างรอบด้าน
หากพิจารณาแนวโน้มความยากจนด้านตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินเปรียบเทียบระหว่างปี 2564 และปี 2566 ในระดับจังหวัด และจำแนกจังหวัดออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีการพัฒนา กลุ่มเสี่ยงสูง และกลุ่มที่ควรเฝ้าระวัง พบว่า แนวโน้มสถานการณ์ความยากจนทั้งตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินของจังหวัดส่วนใหญ่ดีขึ้นอย่างชัดเจน
โดยมี 53 จังหวัด หรือคิดเป็น 68.83% ของจังหวัดทั้งหมดที่อยู่ใน “กลุ่มที่มีการพัฒนา” เช่น กาฬสินธุ์ พะเยา ศรีสะเกษ นครราชสีมา และนครสวรรค์ เป็นต้น เพราะมีทิศทางของแนวโน้มความยากจนดีขึ้น ทั้งในส่วนของสัดส่วนคนจน (ความยากจนตัวเงิน) และดัชนีความยากจนหลายมิติ (ความยากจนที่ไม่ใช่ตัวเงิน) ซึ่งสะท้อนให้เห็นผลลัพธ์การพัฒนาที่ดีในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า “กลุ่มเสี่ยงสูง” จะมีเพียง 5 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก และมุกดาหาร แต่เป็นกลุ่มที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากประสบปัญหาแนวโน้มความยากจนที่เกิดขึ้นทั้งในมิติของความยากจนที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน
ส่วน “กลุ่มที่ควรเฝ้าระวัง” เป็นจังหวัดที่มีปัญหาการเพิ่มขึ้นของความยากจนในมิติที่เป็นตัวเงินหรือไม่ใช่ตัวเงินด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น มีจำนวน 19 จังหวัด เช่น สุรินทร์ พังงา และเชียงราย เป็นต้น โดยจังหวัดในกลุ่มนี้ ภาครัฐควรวิเคราะห์เพิ่มเติมถึงด้านที่จังหวัดมีความขัดสนสูง เพื่อนำไปสู่การมุ่งเน้นการแก้ปัญหาดังกล่าวและลดความขัดสนได้อย่างเป็นรูปธรรม