นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการสั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ปรับกลไกการอนุมัติอนุญาตโรงงานทั้งระบบ เช่น การออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ รง.4
การอนุญาตเกี่ยวกับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ภายใต้แนวคิดเพิ่มแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการที่ดี โดยการขยายช่องว่างให้ผู้ประกอบการที่ดีได้รับการสนับสนุน ให้คำปรึกษา และจากเจ้าหน้าที่ในการบริการด้วยความรวดเร็วในทุกช่องทาง
นอกจากนี้ จะดำเนินการขึ้นบัญชี Blacklist ผู้ประกอบการที่มีประวัติไม่ดี เช่น บริษัทหรือกรรมการผู้จัดการที่เคยต้องโทษหรือดำเนินคดี มีการถูกร้องเรียน สร้างมลภาวะ หรือปล่อยมลพิษเกินเกณฑ์มาตรฐานออกนอกบริเวณโรงงาน มีการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้อง หรือเคยถูกสั่งการให้ต้องปรับปรุงแก้ไขโรงงาน เป็นต้น
สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวนี้นั้น จะต้องถูกตรวจสอบ และพิจารณาข้อมูลตั้งแต่ประวัติการประกอบการในอดีต ทำเลที่ตั้ง การติดตั้งเครื่องจักร การผลิตที่ต้องมีความปลอดภัย มีระบบบำบัดมลพิษที่มีมาตรฐานและมีระบบบริหารจัดการกากที่มีประสิทธิภาพถูกต้องตามหลักวิชาการและสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเข้มข้นและมีประสิทธิผล โดยจะดำเนินการอย่างเด็ดขาด และกำชับเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมทุกคนไม่ปลอดภัย ไม่อนุญาต
“การตั้งและประกอบกิจการโรงงานต้องสะอาด สะดวก โปร่งใส ไม่เกรงใจอิทธิพล เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างสมดุล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยอยู่ร่วมกับสังคมและชุมชนได้อย่างยั่งยืน”
นายพรยศ กลั่นกรอง รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรอ. ได้ปรับปรุงกระบวนการอนุมัติอนุญาตโรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยการปรับลดขั้นตอนให้สั้นลง ลดระยะเวลา และออกใบอนุญาตให้รวดเร็วขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มแต้มต่อให้กับผู้ประกอบธุรกิจภาคอุตสาหกรรมที่ดี
อีกทั้ง กรอ.ได้กำหนดระเบียบหลักเกณฑ์ที่รัดกุมในการออกใบอนุญาต รง.4 และการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น โรงงานที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโรงงานที่มีการหลอมหล่อตะกรัน หรือโรงงานลำดับที่ 101 , 105 และ 106 ซึ่งเป็นโรงงานรับกำจัดกากอุตสาหกรรม
ทั้งที่เป็นของเสียอันตรายและไม่เป็นของเสียอันตราย เช่น การคัดแยก หลุมฝังกลบ ทำเชื้อเพลิงผสม ทำเชื้อเพลิงทดแทนจากน้ำมันและตัวทำละลายใช้แล้ว สกัดแยกโลหะ ถอดแยกบดย่อยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หลอมตะกรัน รีไซเคิลกรดด่าง เป็นต้น
ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาเอกสารประกอบการดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบรัดกุม มีความปลอดภัย เป็นไปตามหลักวิชาการทุกกระบวนการ ประกอบกับการยกระดับปรับปรุงกระบวนการอนุมัติอนุญาตโรงงานด้วยการจัดทำบัญชี Blacklist ผู้ประกอบการที่มีประวัติไม่ดี จะนำไปสู่การปฏิรูปยกระดับการพิจารณาตรวจสอบและเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้การประกอบกิจการโรงงานส่งผลกระทบร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในอนาคต ภายใต้กระบวนการพิจารณาและตรวจสอบกำกับอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบติดตามได้ในทุกขั้นตอน