วันที่ 14 พ.ย. 67 นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยถึงความคืบหน้า “การจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย (เงินเยียวยาน้ำท่วม)” ตามมติ ครม. วันที่ 17 กันยายน 2567 และ 8 ตุลาคม 2567 เร่งดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อให้เงินถึงมือผู้ประสบภัยเร็วที่สุด
ล่าสุด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ได้ส่งข้อมูลให้ธนาคารออมสินโอนเงินผ่าน PromptPay ให้ผู้ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 9,000 บาท แล้ว 24 ครั้ง 250,210 ครัวเรือน เป็นเงินรวม 2,251,838,000 บาท และมีกำหนดจ่ายเงินอีก 3 ครั้ง รวม 8,381 ครัวเรือน ในวันนี้(14 พ.ย. 67), วันพรุ่งนี้ (15 พ.ย. 67) และวันที่ 18 พ.ย. นี้
ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ตามมติครม. วันที่ 17 กันยายน 2567 และ 8 ตุลาคม 2567 ระบุว่า ครัวเรือนผู้ประสบภัยทั้งหมดจำนวน 338,391 ครัวเรือน ตามข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ/พื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/พื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จำนวน 57 จังหวัด
ได้แก่ จังหวัดกระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นนทบุรี นครนายก นครปฐม นครพนม นครสวรรค์ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่าน บึงกาฬ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พังงา พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ระยอง
ราชบุรี ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สระแก้ว สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อุทัยธานี อุดรธานี อุตรดิตถ์ และจังหวัดอุบลราชธานี
เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 สำหรับเป็นค่าดำรงชีพเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ประสบอุทกภัย เป็นกรณีพิเศษและเพื่อให้การดำรงชีพของประชาชนเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
สำหรับหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนตามมติครม.วันที่ 17 กันยายน 2567 ระบุว่า
1.กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 5,000 บาท
2.กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 7,000 บาท
3.กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 60 วัน ขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 9,000 บาท
จากนั้นครม.มีมติวันที่ 8 ตุลาคม 2567 แก้ไขหลักเกณฑ์มติครม. 17 กันยายน 2567 โดยขอทบทวนเป็น
"กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 7 วัน ให้ความช่วยเหลืออัตราเดียว ครัวเรือนละ 9,000 บาท"
สำหรับผู้ประสบภัยได้รับเงินช่วยเหลือตามมติคณะรัฐมนตรีฯ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ไปแล้ว ให้จ่ายเงินช่วยเหลือฯ เพิ่มเติมให้ครบ จำนวนเงิน 9,000 บาท กรณีผู้ประสบภัยที่ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือฯ ให้จ่ายเงินช่วยเหลือฯ ตามหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายเงินฯ ที่ขอทบทวนในครั้งนี้
อ่านรายละเอียด