“ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” เปิดยุทธศาสตร์ ไปรษณีย์ไทย ขยายปีก ปักธงเวอร์ชวลแบงก์

17 พ.ย. 2567 | 22:05 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2567 | 00:48 น.

ผ่ายุทธศาสตร์ ไปรษณีย์ไทย ภายใต้ปีก “ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” หลังโดนยักษ์ข้ามชาติชิงตลาดขนส่ง ลุยต่อวิชั่น Beyond Logistics ส่งมอบความยั่งยืนผ่านโครงข่ายไปรษณีย์ไทย

กว่า 3 ปีที่ นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท. ในฐานะ ซีอีโอ คนนอกได้รับคัดเลือกจาก คณะกรรมการ ไปรษณีย์ไทย ให้เข้ามารับตำแหน่งเป็นระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา

เมื่อพลิกไปดูประวัติ ดนันท์  เรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หลังจากเรียนจบเข้ามาทำงานที่ การสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือ กสท. หลังจากนั้นได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาโทด้านวิศวกรรมโทรคมนาคมจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และ ปริญญาเอกด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและระบบ จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา

หลังจากนั้นกลับมาทำงานใน บริษัท แคท เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท  หลังจาก ไปรษณีย์ไทย เปิดรับสมัคร ซีอีโอ เพราะด้วยประสบการณ์ด้านวิศวกรมีความเชี่ยวชาญเรื่องโครงข่ายและสนใจงานโลจิสติกส์จึงตัดสินใจลงสมัคร และ ในที่สุด บอร์ด ไปรษณีย์ไทย เสนอชื่อให้ "ดนันท์"  เป็น กรรมการผู้จัดการใหญ่ ในวัย 48 ปี

ปรับโครงสร้างองค์กรภารกิจแรก

ซีอีโอ ไปรษณีย์ไทย บอกว่า ช่วงที่เข้ามารับตำแหน่งผลประกอบการของ ไปรษณีย์ไทยขาดทุนติดต่อกัน 8 เดือน ตั้งแต่ปี 2561 ถึง ปี 2563 ยังมีกำไร ขณะที่รายได้ลดลงจาก 27,000 ล้านบาท ในปี 2564 ต้นทุนกับไม่ลดลง ดังนั้นหากไม่ทำอะไรกับไปรษณีย์ไทย มีปัญหาอย่างแน่นอน

นั้นจึงเป็นที่มาที่ปรับโครงสร้างบุคลากร อาทิ โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออรี่รีไทร์) ทำอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 ปี พนักงานจากเดิม 4.2 หมื่นคนปัจจุบันลดลงเหลือ 3.8 หมื่นคน ต้นทุนจากเดิม 64% ปัจจุบันเหลือ 56%

“ช่วงที่เข้ามารับตำแหน่งต้องปรับโครงสร้างองค์กร แถมเป็นช่วงโควิดระบาดอีกการบริหารขนส่งมีปัญหาหมด ไปรษณีย์ไทย ต้องเป็นคนส่งยา Home Isolation เพราะหน้าที่ของไปรษณีย์ไทย คือ การให้บริการสังคม และ ดูแลคนไทย”

ค่าแรง-ปรับฐานเงินเดือนข้าราชการและค่าครองชีพ ฉุดรายได้ลดลง

หนึ่งในปัญหาที่ทำให้รายได้ไปรษณีย์ไทย ปรับตัวลดลงนอกเหนือการแข่งขันกับกลุ่มทุนข้ามชาติแล้ว เรื่องของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การปรับปรุงฐานเงินเดือนข้าราชการ และ ค่าครองชีพพิเศษ เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคต่อ ไปรษณีย์ไทย ต้องปรับกลยุทธ์ด้วยการเพิ่มรายได้ด้วยการขยายฐานลูกค้า ดังนั้นสิ่งที่ปรับจะต้องสมดุล 

ในส่วนของเป้าหมายสิ้นปี 2567 วางเป้ารายได้ 2.1 หมื่นล้านบาท "ดนันท์" บอกว่าจะพยายามให้ได้มากกว่านี้แต่ธุรกิจโลจิสติกส์ปัจจุบันการแข่งขันสูง โดยเฉพาะเรื่อง พรบ.ไปรษณีย์ไทย 2477 ไม่เคยมีการปรับปรุงและแก้ไข เพราะด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ไปรษณีย์ไทย ได้นำเสนอปรับปรุงแก้ไขในเรื่องของการควบคุม คุณภาพสินค้า และ มาตราฐานการให้บริการ ซึ่ง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี นำเสนอและแก้ไขเข้าสู่สภาผู้แทนราษฏรไปแล้วคาดว่ากลางปี 2568 น่าจะสรุปในเรื่องนี้

ดนันท์ สุภัทรพันธุ์

ในด้านผลประกอบการช่วง 9 เดือนแรก ของปี 2567 (ม.ค.- ก.ย.) ไปรษณีย์ไทย ทำรายได้รวม 15,858.67 ล้านบาท โดยธุรกิจที่มีสัดส่วนรายได้มากที่สุดมาจาก กลุ่มธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ 46.48% ซึ่งเติบโตจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ราว 3.34% สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น ค้าปลีก และ อีคอมเมิร์ซ 

“ปริมาณงานธุรกิจขนส่งในประเทศ 2567 เปรียบเทียบกับ 2566  บริการพัสดุไปรษณีย์ในประเทศเติบโตที่ 18.45% ขณะที่บริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) เติบโตราว 8.07% สะท้อนถึงการได้รับความเชื่อมั่นจากคนไทย ยืนยันด้วยผลสำรวจความเชื่อมั่นในแบรนด์ไปรษณีย์ไทย 2567 สูงถึง 91.87%”

เสริมเขี้ยว “เวอร์ชวลแบงก์”

ไปรษณีย์ไทย เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่สนใจลงทุน ธนาคารไร้สาขา หรือ เวอร์ชวลแบงก์ โดยร่วมกับ “ซี กรุ๊ป” ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ, บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง หรือ BTS ที่ส่งบริษัทลูกอย่าง บริษัท วีจีไอ หรือ VGI และ เครือสหพัฒน์

“เหตุผลที่ ไปรษณีย์ไทย ร่วมกับพันธมิตรทำเวอร์ชวลแบงก์ เพราะ ไปรษณีย์ไทย มีจุดแข็งในเรื่องของสาขาที่ครอบคลุมมากที่สุดทั่วประเทศ  มีตัวตน คือ บุรุษไปรษณีย์ ที่สัมผัสและแนะนำบริการได้ สิ่งเหล่านี้ คือ สินทรัพย์และทรัพยากรนำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เมื่อลงทุนเวอร์ชวลแบงก์ คิดว่าภายใน 3 ปีก็น่าจะคุ้มทุน” ดนันท์ ให้เหตุผลถึงการทำเวอร์ชวลแบงก์

สานต่อวิชั่น Beyond Logistics

หากได้รับใบอนุญาต เวอร์ชวลแบงก์ จาก ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นการสานต่อ Beyond Logistics วิชั่นของไปรษณีย์ไทย คือ ส่งมอบการเติบโตแบบยั่งยืนผ่านโครงข่ายไปรษณีย์ไทย เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่ทำ คือ วิชั่นเพื่อทำให้ ไปรษณีย์ไทย อยู่รอดได้ ส่งมอบการเติบโตแบบยั่งยืน และ  เวอร์ชวลแบงก์ คือ ธุรกิจที่ต่อยอดให้กับไปรษณีย์ไทย ได้เช่นเดียวกัน

“อยากเปรียบเทียบอย่างนี้ว่า First Mile ของ ไปรษณีย์ไทย คือ สาขา ส่วน Middle Mile คือ ศูนย์คัดแยก และ การส่งต่อ Last Mile คือ บุรุษไปรษณีย์ สิ่งเหล่านี้ คือ ทรัพยากร นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดคือจุดแข็งของ ไปรษณีย์ไทย" 

นอกจากนี้แล้ว ไปรษณีย์ไทย ยังขยายความร่วมมืออาเซียน (ASEANPOST) ร่วมกับ ลาว เวียดนาม และ อินโดนิเซีย และ ในปี 2568 ไปรษณีย์ไทย ยังมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายทั้ง Physical และ Digital และ ระบบงานไปรษณีย์ร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศอย่างครบวงจร บริการทางการเงิน การส่งเสริมค้าปลีก การพัฒนาและสร้างธุรกิจใหม่ เพื่อรองรับ ทุกความต้องการของลูกค้า โดยมี 4 กลยุทธ์สำคัญ คือ

เพิ่มมูลค่า สร้างความแตกต่าง ไปรษณีย์ไทยจะขยายขอบเขตบริการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริการระหว่างประเทศ เช่น พัฒนาระบบงานคลังสินค้าครบวงจร บริการ document warehouse  พัฒนาการขนส่งสินค้าเข้าคลัง Amazon FBA พัฒนาการขนส่งสินค้าแบบ Virtual Address

ปรับธุรกิจบริการดิจิทัล รองรับการเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจและสังคม สนับสนุนส่งเสริมธุรกิจอื่น ๆ ของไทยให้เติบโตตามแนวทาง Connecting- the -dots นำสิ่งที่ทุกคนต้องการเชื่อมโยงได้ด้วยทรัพยากรที่โดดเด่น ของไปรษณีย์ไทย เช่น  Prompt POST ระบบจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร ที่มีจุดเด่นทั้ง Digital Postbox ตัวกลางในการรับส่งเอกสารหรือข้อมูลออนไลน์ระหว่างหน่วยงานกับหน่วยงาน และหน่วยงานกับประชาชน ปลอดภัยจากสแปม และจดหมายทุกฉบับสามารถมั่นใจได้ว่ามาจากบุคคลและองค์กรตัวจริง จากการรองรับการยืนยันตัวตน

ในระบบที่เชื่อถือได้ D/ID ซึ่งเป็น Post ID ส่วนบุคคลที่จะมีการเริ่มใช้จริงต้นปี 2568 ด้วยระบบ QR CODE  ที่จะเป็นทางเลือกการจ่าหน้า ช่วยปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลระหว่างการจัดส่งสิ่งของ ล้ำกว่าระบบพิกัดตำแหน่งทั่วไปด้วยการบอกพิกัดแนวดิ่งได้ทำให้สามารถระบุที่อยู่สำหรับผู้ที่อยู่ในอาคารสูงได้และเมื่อผู้ใช้งานมีการแก้ไขข้อมูลที่อยู่ในระบบ D/ID ข้อมูลที่อยู่ซึ่งเดิมไว้ใช้ติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ไปยังหน่วยงานปลายทางโดยอัตโนมัติ Postman Cloud ที่ใช้บุรุษไปรษณีย์กว่า 25,000 คนทั่วประเทศ

ในการให้บริการ Postman as a Service เช่น การเก็บข้อมูล รับส่งสิ่งของแบบ Point to Point และ Matching เชื่อมโยง Demand กับ Supply พัฒนาแพลตฟอร์ม e-marketplace โครงการ Virtual bank ให้บริการสินเชื่อกับประชาชน สามารถทำธุรกรรมฝากถอนเงินได้ที่สาขาของไปรษณีย์ทั่วประเทศ ออกแบบบริการเฉพาะกลุ่ม เช่น บริการไปรษณีย์ตอบรับในประเทศทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-AR) บริการ  Pick up Service สำหรับกลุ่ม e-marketplace ขยายจุด Drop Off ผ่านเครือข่ายพันธมิตร  สร้างความสัมพันธ์กับผู้ใช้บริการ  เช่น ระบบบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า ร้าน POST Café เป็นพื้นที่ Cups of Connection เพื่อให้ผู้คนมาพบปะ และ มีแผนทำสโมสรไปรษณีย์ไทยร่วมกับOR อีกด้วย.