ผลสำรวจบริษัทเอกชน ปี 2568 พร้อมจ่ายโบนัส แต่ไม่ปรับขึ้นค่าจ้าง

04 ธ.ค. 2567 | 06:56 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ธ.ค. 2567 | 07:04 น.

ผลสำรวจแนวโน้มการปรับโบนัส บริษัทเอกชนในปี 2568 ส่วนใหญ่ระบุพร้อมจ่ายโบนัส แต่ยังไม่พร้อมปรับค่าจ้างแรงงาน เช็ครายละเอียดทุกแง่มุม รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นการจ้างงาน รวมไว้ที่นี่ครบ

ดร.ธนิต โสรัตน์ ประธานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ และรองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยรายงานผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นการจ้างงาน การจ่ายโบนัส และการปรับค่าจ้าง ว่า  คณะกรรมการสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ได้จัดทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 1 – 22 พฤศจิกายน 2567 

พร้อมจ่ายโบนัส-ไม่ขึ้นค่าจ้าง

จากการสำรวจพบแนวโน้มการปรับโบนัส ในปี 2568 สถานประกอบการส่วนใหญ่ที่สำรวจระบุว่ามีการจ่ายโบนัสคิดเป็น สัดส่วนร้อยละ 41.1 ที่ตอบว่าไม่จ่ายโบนัสสัดส่วนร้อยละ 31.1 และไม่แน่ใจสัดส่วนร้อยละ 27.1 หากจ่ายโบนัส เฉลี่ย 1.0 – 1.5 เท่าของเงินเดือน ส่วนหนึ่งกำหนดไว้ในข้อบังคับการทำงาน

ขณะที่แนวโน้มการปรับค่าจ้าง พบว่า สถานการณ์เศรษฐกิจปี 2568 ไม่เอื้อต่อการปรับค่าจ้างและอุปสงค์ความ ต้องการงานมีมากกว่าอุปทานของตลาดแรงงาน ภาพรวมสถานประกอบการส่วนใหญ่ระบุไม่ปรับค่าจ้างคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.4 แนวโน้มการปรับเพิ่มค่าจ้างสัดส่วนร้อยละ 42.1 (เฉลี่ยค่าจ้างปรับขึ้นร้อยละ 4 – 5) และไม่แน่ใจ ร้อยละ 11.5

ส่วนผลสำรวจผลกระทบการปรับค่าจ้างอัตรา 400 บาททั่วประเทศ จากการสำรวจตัวอย่าง 586 กิจการ ธุรกิจส่วนใหญ่ร้อยละ 74.9 กระทบมากไปจนถึงปานกลาง โดยมีรายละเอียดดังนี้ ได้รับกระทบมากสัดส่วนร้อย ละ 43.2 กระทบปานกลางร้อยละ 31.7 ธุรกิจที่กระทบน้อยสัดส่วนร้อยละ 12.6 และไม่กระทบร้อยละ 12.5

เชื่อมั่นเริ่มดี-ยอดขยายขยับ

ด้านความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ พบว่า ภาพรวมธุรกิจเอกชนเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นร้อยละ 28.3 เศรษฐกิจ คงเดิมร้อยละ 44.3 และแย่ลงร้อยละ 27.4 หากแยกตามขนาดธุรกิจตามจำนวนการจ้างงานธุรกิจ ขนาดเล็ก เชื่อมั่นเศรษฐกิจดีขึ้นร้อยละ 22.1 ขนาดกลางดีขึ้นร้อยละ 32.5 และขนาดใหญ่ดีขึ้นร้อยละ 31.8

ขณะที่ความเชื่อมั่นแนวโน้มการดำเนินการของธุรกิจ พบว่า ภาพรวมธุรกิจเอกชนเชื่อมั่นแนวโน้มธุรกิจดีขึ้น ร้อยละ 35.7 คงเดิมร้อยละ 42.5 แย่ลงร้อยละ 21.8 หากแยกตามขนาดธุรกิจตามจำนวนการจ้างงาน ธุรกิจ ขนาดเล็กเชื่อมั่นดีขึ้นร้อยละ 27.2 ขนาดกลางดีขึ้นร้อยละ 39.4 และขนาดใหญ่ดีขึ้นร้อยละ 43.9

สำหรับความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมส่งออกซึ่งมีการแยกสำรวจต่างหาก ส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าการดำเนิน ธุรกิจปี 2568 ยอดขายจะเพิ่มขึ้นสัดส่วนร้อยละ 70.11 คงเดิมร้อยละ 25.67 และแย่ลงร้อยละ 4.22 แสดงให้ เห็นว่าภาคส่งออกยังเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ

เชื่อมั่นจ้างงานฟื้น แต่ไม่จ้างงานเพิ่ม

ด้านความเชื่อมั่นการจ้างงาน พบว่า ภายใต้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะซบเซา สถานประกอบการจำนวนมากขาดสภาพคล่องจนรัฐบาลต้องจัดโครงการปรับโครงสร้างหนี้ มีผลต่อการจ้างงานปี 2568 จากแบบสอบถาม ภาพรวมธุรกิจ เอกชนเชื่อมั่นการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 23.0 

ส่วนใหญ่ไม่จ้างเพิ่ม/คงเดิมสัดส่วนร้อยละ 52.8 และอาจลดลงสัดส่วนร้อยละ 24.2 หากแยกตามขนาดธุรกิจตามจำนวนการจ้างงาน ธุรกิจขนาดเล็กเชื่อมั่นการจ้าง งานเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 ขนาดกลางเพิ่มขึ้นขึ้นร้อยละ 26.0 และขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.1

สำหรับการสำรวจครั้งนี้มีกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม นิติบุคคล 852 กิจการ แยกสำรวจเป็น 2 กลุ่มคือ สภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ 591 กิจการ และสถาบันวิชาการ วี-เซิร์ฟแยกสำรวจเฉพาะอุตสาหกรรมส่งออกจำนวน 261 กิจการ ครอบคลุม 31 จังหวัดทั้ง 5 ภาคและกทม. การสำรวจแยกเป็นคลัสเตอร์ที่สำคัญทั้งภาคอุตสาหกรรม-บริการ-ค้าปลีก-ค้าส่ง ฯลฯ และแยกขนาดการจ้างงานตั้งแต่ขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่