นาวสาวณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุน ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของประเทศ เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถด้านความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ให้สร้างมูลค่าและสร้างรายได้
รวมถึงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำมาต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่านโครงการส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการ SME ด้วย Soft Power
โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้วางแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งมีสินค้าและบริการหลายอย่างที่สามารถต่อยอดและผลักดันไปสู่เวทีโลกได้ โดยเฉพาะเรื่องอาหารไทยและการท่องเที่ยวที่เป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย
ซึ่งรัฐบาลคาดหวังว่า ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน จะร่วมกันพัฒนา ส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความเข้มแข็ง เติบโต และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระบบอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน สามารถเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคตต่อไป
นายวชิระ แก้วกอ รองผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า ในช่วงการดำเนินธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้นจนถึง 3 ปีแรก เป็นช่วงที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจและอยู่รอดได้ ดังนั้นการสร้างกลไกต่าง ๆ ในการต่อยอดธุรกิจ การหาช่องทางตลาด การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ฯลฯ มีความสำคัญสำหรับผู้ประกอบการใหม่ และเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการเป็นลำดับแรก เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
สำหรับผลสำเร็จของการดำเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการด้วยซอฟต์พาวเวอร์ในวันนี้ จากผู้ประกอบการ 740 ราย และได้เลือกผู้ประกอบการที่มีความโดดเด่น ที่สามารถสื่อสารอัตลักษณ์ของท้องถิ่นผ่านสินค้าและบริการได้อย่างน่าสนใจ
หลังจากนี้ สสว. จะมีกิจกรรมและโครงการที่จะสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกราย รวมถึง สสว.ยังมีศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีครบวงจร หรือศูนย์ OSS ที่ประจำอยู่แต่ละจังหวัดซึ่งสามารถไปรับบริการและขอคำปรึกษาได้ตลอดเวลา
นายอภิชิต ประสพรัตน์ ประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวสรุปข้อมูลการดำเนินงานว่า โครงการดังกล่าวสามารถอบรมให้ความรู้ในการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการและผู้ประกอบการายใหม่ จำนวน 740 ราย สามารถต่อยอด/เชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและสถาบันการเงินได้ 148 ราย
และสามารถจดทะเบียนกับหน่วยงานภาครัฐได้จำนวน 126 ราย ภายใต้โครงการยังได้ผลการศึกษารูปแบบการพัฒนาธุรกิจซอฟต์พาวเวอร์ในอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 1 ฉบับที่จะสามารถนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ในอนาคตต่อไปได้
"ผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการ ได้ถูกต่อยอดเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยทางโครงการได้คัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความโดดเด่นของแต่ละพื้นที่ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจภายใต้โครงการมากกว่า 180 ล้านบาทในระยะเวลา 1 ปี"