ยักษ์ผู้ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์โลกเตรียมจ้างงาน 1,500 ตำแหน่งปี 67-68

17 ธ.ค. 2567 | 01:00 น.

ยักษ์ผู้ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์โลกเตรียมจ้างงาน 1,500 ตำแหน่งปี 67-68 หลังเปิดโรงงานผลิตที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย สมุทรปราการ ระบุจะเริ่มเดินเครื่องผลิตในประเทศไทยตั้งแต่เดือนธันวาคม

บริษัท คอมเปค (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ผลิตลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) อันดับ 5 ของโลกจากไต้หวันได้ดำเนินการเปิดโรงงานผลิต PCB ที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย (สุวรรณภูมิ) จังหวัดสมุทรปราการ

สำหรับเฟสแรกจะมีการลงทุน 10,417 ล้านบาท โดยจะก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรแล้วเสร็จในเวลาเพียงประมาณ 1 ปี และจะเริ่มเดินเครื่องผลิตในประเทศไทยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 เป็นต้นไป 

ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวจะเป็นขนาดใหญ่บนพื้นที่ 112 ไร่ โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชนิด Multilayer Printed Circuit Board ซึ่งสร้างวงจรอิเล็กทรอนิกส์ได้สูงสุดถึง 34 ชั้นในแผงวงจรเดียว
 

ทำให้สามารถสร้างระบบที่มีความซับซ้อนและเสถียรภาพ (Reliability) สูง สำหรับใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องการประสิทธิภาพสูงหรือมีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก เช่น ระบบสื่อสารและดาวเทียม รถยนต์ไฟฟ้า ดาต้าเซ็นเตอร์ สมาร์ทโฟน เครื่องมือแพทย์ และ Power Supply เป็นต้น 

ยักษ์ผู้ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์โลกเตรียมจ้างงาน 1,500 ตำแหน่งปี 67-68

โดยจะเป็นการผลิตเพื่อส่งออกถึงกว่า 90% คิดเป็นมูลค่าส่งออกกว่า 6,600 ล้านบาทต่อปี โดยโครงการลงทุนในเฟสแรกนี้จะมีการจ้างงานบุคลากรไทยทันทีประมาณ 600 คน และจะขยายการจ้างงานถึงกว่า 1,500 คนในปีหน้า

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) กล่าวว่า อุตสาหกรรม PCB เป็นส่วนประกอบสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ได้หลั่งไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกทั้งจากจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมและอยู่ระหว่างเร่งลงทุนสร้างโรงงานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ส่วนใหญ่มีแผนเดินเครื่องการผลิตตั้งแต่ปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า

"บริษัท คอมเปค (Compeq) เป็นผู้ผลิต PCB อันดับ 5 ของโลกจากไต้หวัน ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเมื่อเดือนธันวาคม 2566"

อย่างไรก็ดี ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2566 - พ.ย. 67) มีผู้ผลิตในอุตสาหกรรม PCB ระดับโลกได้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยมีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 107 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมกว่า 173,000 ล้านบาท

ส่วนใหญ่มาจากจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น มีทั้งบริษัทรายใหม่ เช่น Compeq, ZDT, Unimicron, WUS, Gold Circuit, Chin Poon, Dynamic Electronics และการขยายการลงทุนต่อเนื่องของกลุ่มผู้ผลิตเดิม เช่น Delta Electronics, Mektec, KCE Electronics เป็นต้น ซึ่งได้ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิต PCB อันดับ 1 ในอาเซียน และติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก