แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (พื้นที่สีเขียว) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
สำหรับเหตุผลที่ต้องออกร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่สีเขียวเข้าข่ายเป็นที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพซึ่งจะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูง จึงทำให้ที่ผ่านมามีผู้ปรับเปลี่ยนที่ดินที่เป็นพื้นที่สีเขียวให้เป็นที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมเพื่อให้เสียภาษีในอัตราที่ต่ำลง
ทั้งนี้ พื้นที่สีเขียวดังกล่าวมีคุณค่าและคุณประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการช่วยลดปัญหาการกัดเซาะดินและชายฝั่ง
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง เป็นการยกเว้นภาษีให้แก่พื้นที่สีเขียว โดยกำหนดให้ที่ดินที่จะได้รับยกเว้นภาษีจะต้องเป็นที่ดิน ซึ่งปกคลุมด้วยพืชพรรณเป็นองค์ประกอบหลัก และมีประโยชน์เพื่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศการดำรงชีวิต หรือคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ตลอดปีภาษี ดังนี้
1. ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) ในประเภทการลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตรจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เฉพาะโครงการที่สอดคล้องกับระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจประเภทปลูกป่าและฟื้นฟูป่า
2. เป็นป่าชายเลน โดยมีรายละเอียดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งประกาศกำหนด
3. เป็นพื้นที่สีเขียวตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศกำหนด
ทั้งนี้ ที่ดินที่เข้าข่ายได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะต้องไม่มีการใช้หาผลประโยชน์ เว้นแต่เป็นการขาย หรือการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตซึ่งได้รับการรับรองจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังประเมินว่า การยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่สีเขียว จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวรวมกันปีละ 1,096 ล้านบาท แต่จะช่วยลดปัญหาการแผ้วถางพื้นที่สีเขียวเพื่อภาระลดภาษี
ทั้งนี้เนื่องจากที่ดินที่เป็นพื้นที่สีเขียวที่เข้าข่ายเป็นที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า จะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราสูง เริ่มต้นที่ 0.3% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน จึงทำให้มีผู้ปรับเปลี่ยนที่ดินที่เป็นพื้นที่สีเขียวให้เป็นที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม เพื่อให้การเสียภาษีลดลงเหลือแค่อัตราเริ่มต้นที่ 0.01% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินเท่านั้น