คลังเตรียมจัด “ซอฟต์โลน” ช่วยลูกหนี้กลุ่มนอนแบงก์

19 ธ.ค. 2567 | 08:03 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ธ.ค. 2567 | 08:09 น.

“พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯ และรมว.คลัง เล็งใช้กลไกแบงก์รัฐ ปล่อย “ซอฟต์โลน” ช่วยลูกหนี้กลุ่มนอนแบงก์ ชี้ยอดลงทะเบียน “คุณสู้ เราช่วย” พุ่ง 2 แสนราย คาดปีนี้จีดีพีโต 2.8%

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างดูรายละเอียดมูลหนี้ลูกค้ากลุ่มน็อนแบงก์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน และเป็นหนี้เพื่อการบริโภค โดยจะนำกลุ่มนี้มาดูแล ผ่านกลไกสถาบันการเงินของรัฐ

โดยสถาบันการเงินของรัฐ จะจัดสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้กับน็อนแบงก์ เพื่อให้บริษัทมีเงินทุนไปปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่รายย่อยต่อไป

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“ตอนนี้เรากำลังแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มน็อนแบงก์ ส่วนใหญ่เป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน เราจะดึงออกมา และแบงก์รัฐจะจัดซอฟต์โลนให้ กับน็อนแบงก์ที่ปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้ประชาชนได้รับดอกเบี้ยถูก”

ส่วนการเดินหน้าโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งมีมูลหนี้รวมกันกว่า 8 แสนล้านบาทนั้น จะเป็นการพักดอกเบี้ย และจ่ายเงินต้นตามเงื่อนไขของโครงการ สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.67 จนถึงปัจจุบันมีคนมาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 2 แสนราย 

สำหรับการพักดอกเบี้ย 3 ปี หากลูกหนี้ทำตามเงื่อนไขที่กำหนด จะได้รับการยกดอกเบี้ยให้ ซึ่งจะเป็นภาระดอกเบี้ยที่ยกให้รวมกันประมาณ 2 แสนล้านบาท และจะทำให้ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบสถาบันการเงินค่อยๆ ลดลง ส่วนเศรษฐกิจในประเทศก็จะดีขึ้น

“เมื่อ NPL ลด ความเชื่อมั่นก็จะกลับมา การเข้าถึงสินเชื่อใหม่ก็สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น ส่วนแบงก์รัฐ เราจะมีงบประมาณจัดสรรไว้ให้ประจำปีละ 7-8 พันล้านบาท เพื่อช่วยลดดอกเบี้ย พักดอกเบี้ย ซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง”

นายพิชัย กล่าวว่า คาดว่าในไตรมาสที่สี่ของปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ในระดับ 4 % ทำให้ทั้งปี 2567  เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้ 2.7-2.8%  สูงขึ้นกว่าปี 2566  ที่ขยายตัวเพียง 1.9 %

ส่วนในปี 2568 นั้น คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ 3-3.5 % โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยในปีหน้าประมาณ 39.9 ล้านคน สูงกว่าปีนี้ที่คาดว่าจะเข้ามา 36 ล้านคน รวมถึงได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการบริโภคที่สูงขึ้น และภาคส่งออกที่ขยายตัวด้วย