รัฐบาลอัดฉีดเงินลงกองทุนหมู่บ้านฯ SML หมื่นล้าน นัดถกใหญ่ 6 ม.ค.68

26 ธ.ค. 2567 | 23:28 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ธ.ค. 2567 | 07:20 น.

จับตาบอร์ด กองทุนหมู่บ้านฯ นัดประชุมใหญ่ 6 มกราคม 2568 นี้ ดันโครงการ SML จัดเงินลงกองทุน 1.1 หมื่นล้านบาท โดยเตรียมพิจารณาระเบียบของโครงการ พร้อมเล็งปัดฝุ่นโคแสนล้านรอบใหม่

น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 6 มกราคม 2568 นี้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะนัดประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) โดยมีวาระสำคัญเกี่ยวกับการพิจารณาการอัดฉีดเงินลงไปยังกองทุนหมู่บ้านฯ ตามนโยบายของรัฐบาล

สำหรับการหารือนัดแรกของบอร์ด กทบ. วันที่ 6 ม.ค. นี้ ที่ประชุมจะหารือวาระสำคัญ 2 เรื่อง โดยเรื่องแรกเป็นการพิจารณาระเบียบการจัดสรรงบประมาณของกองทุนหมู่บ้าน วงเงินรวม 1.1 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งผลักดันโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน หรือ SML ส่วนอีกเรื่องจะพิจารณาระเบียบโครงการโคแสนล้าน เพื่อสานต่อโครงการเดิมจากรัฐบาลที่แล้ว

"ที่ประชุมจะหารือถึงรายละเอียดการจัดสรรเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท ให้กับกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ แต่หากที่ประชุมมีความเห็นว่า ไม่พอและจะต้องเพิ่มวงเงินอีก ก็อาจขอเงินเพิ่มในปีงบประมาณ 2568 หรือขอตั้งงบปี 2569 มาดำเนินการต่อไป” น.ส.จิราพร กล่าว

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า แนวนโยบายรัฐบาลมีแนวคิดที่ดึงเงินของกองทุนหมู่บ้านฯ เดิมที่ยังค้างท่ออยู่ 1,000-2,000 ล้านบาท มาดำเนินโครงการของกองทุนหมู่บ้านในปี 2568 เพื่อให้มีเงินทำโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 – 1.4 หมื่นล้านบาท 

 

ส่วนโครงการโคแสนล้าน ถือเป็นการโครงการเดิมที่ ครม. เคยมีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา และมอบหมายให้ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ไปแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงาน งบประมาณ และกรอบระยะเวลาในการดำเนินโครงการฯ โดยโครงการเดิมกำหนดกรอบวงเงินสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์หรือธ.ก.ส. กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท 

โดยให้สินเชื่อแก่กองทุนหมู่บ้านฯ สำหรับให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงโค จำนวน 1 แสนครัวเรือน (ครัวเรือนละ 50,000 บาท) และรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้กับธ.ก.ส. ในอัตราดอกเบี้ย 4.50% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี (ปีละ 225 ล้านบาท) โดยให้ธ.ก.ส. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดเชยดอกเบี้ยต่อไป