ปี 2568 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การแข่งขันที่รุนแรง และความคาดหวังด้านความยั่งยืนที่เพิ่มสูงขึ้น ผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงและนักวิชาการชั้นนำของประเทศจำนวน 50 ราย ของ “ฐานเศรษฐกิจ” สะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่กำลังเกิดขึ้นในภาคธุรกิจไทยไว้อย่างชัดเจน
ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ถึง 67.3% คาดการณ์การเติบโตของ GDP ไทยในปี 2568 จะอยู่ที่ระดับ 2-3% สะท้อนมุมมองที่ค่อนข้างระมัดระวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มี 20.4% ที่มองว่าเศรษฐกิจจะเติบโตที่ 3-4% แสดงให้เห็นว่ายังมีกลุ่มที่มองเห็นโอกาสการเติบโต โดย 38.8% วางแผนที่จะเพิ่มการลงทุน และ 36.7% จะรักษาระดับการลงทุนเท่าเดิม
ขณะที่นโยบายภาครัฐถูกจัดให้เป็นปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากที่สุด ตามมาด้วยสถานการณ์การเมืองโลกและอัตราดอกเบี้ย สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของปัจจัยเชิงนโยบายและสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
ด้านต่างประเทศผู้บริหารส่วนใหญ่มองว่าอาเซียนยังคงเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพในการขยายธุรกิจมากที่สุด (49%) ตามมาด้วยอินเดีย (24.5%) และจีน (18.4%) สะท้อนโอกาสในการขยายตลาดในภูมิภาค แม้จะต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่ 53.1% ของผู้บริหารมองว่าเป็นอุปสรรคสำคัญที่น่าสนใจ คือ จะมีการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทยมากที่สุดในปี 2568 เปิดโอกาสให้ไทยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในบริบทของการปรับห่วงโซ่อุปทานโลก
AI และ Machine Learning ถูกมองว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมมากที่สุด โดยมีผู้บริหารถึง 71.4% ให้ความสำคัญกับบทบาทของ AI ในการเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยเฉพาะในด้าน Data Analysis (34.7%) และ Administrative Tasks (28.6%) ที่คาดว่า AI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ
ขณะที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลก็ได้รับความสำคัญไม่แพ้กัน โดย Network Upgrade (52.2%) และ Security System (50%) เป็นสองด้านที่ได้รับความสนใจมากที่สุด สะท้อนการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคถูกจัดให้เป็นความเสี่ยงที่ผู้บริหารกังวลมากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของ E-commerce (42.9%) และ Social Commerce (36.7%) ที่กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าของการค้าปลีก โดยผู้บริหาร 44.9% มองว่าพฤติกรรมผู้บริโภคในปี 68 จะให้ความสำคัญกับราคามากที่สุด ขณะที่ 28.6% มีความเห็นว่าเป็นเรื่องคุณภาพ เป็นหลัก แต่ก็เริ่มให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายและความยั่งยืนมากขึ้น
นอกจากนี้ในเรื่องของ Cybersecurity เป็นความท้าทายสำคัญอีกประการหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องของ Data Breach (และ Ransomware รวมถึง Supply Chain Attack และ Social Engineering ที่ผู้บริหารกังวลมากที่สุด สะท้อนความจำเป็นในการลงทุนด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ควบคู่ไปกับการพัฒนาดิจิทัล
การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า, ความสามารถด้านดิจิทัล และ Data Analytics เป็นทักษะที่ผู้บริหารมองว่าสำคัญที่สุด สะท้อนความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลและความสามารถในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ขณะที่รูปแบบการทำงานก็กำลังเปลี่ยนแปลงไป โดย 61.2% คาดว่า Hybrid Work จะเป็นมาตรฐานใหม่ในปี 2568
ประเด็นความยั่งยืนกำลังกลายเป็นประเด็นสำคัญในการดำเนินธุรกิจ โดย 59.2% ของผู้บริหารระบุว่ามีแผนการลงทุนด้าน ESG โดยการลดการปล่อยคาร์บอน (40.8%) และธรรมาภิบาลองค์กร (26.5%) เป็นประเด็นที่ได้รับความสำคัญสูงสุด เช่นเดียวกับ Green Technology ที่ได้รับความสนใจในการลงทุนสูงถึง 67.3% ขณะที่ 49% ของผู้บริหารอยู่ระหว่างพัฒนาแผนรับมือ Climate Change สะท้อนการตื่นตัวต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
55.1% ของผู้บริหารคาดว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมจะเพิ่มมากขึ้นในปี 2568 โดย Digital Transformation เป็นเทรนด์สำคัญที่จะส่งผลต่อธุรกิจ โดย Super App อย่าง Line (49%), TikTok (46.9%), Shopee (30.6%), Grab (8.2%) และอื่นๆ (2%) จะมีอิทธิพลต่อธุรกิจมากขึ้น ขณะที่ AI & Automation (65.3%) จะเป็น Game Changer ในอุตสาหกรรม
ขณะที่ 44.9% ของธุรกิจวางแผนปรับโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อรับมือกับ Digital Disruptor โดย 40.8% วางแผนที่จะเพิ่มสายธุรกิจใหม่หรือปรับโครงสร้างธุรกิจเดิม สะท้อนการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด
แม้จะเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน แต่ผู้บริหารส่วนใหญ่ยังมองผลประกอบการในแง่บวก โดย 53% คาดว่าองค์กรจะมีการเติบโต 0.1-10% ในปี 2568,ขณะที่ 22.4% คาดว่าจะเติบโตมากกว่า 10%, อีก 22.4% คาดว่าจะทรงตัว และ 2% คาดว่าจะลดลง โดยแหล่งเงินทุนหลักเป็นเงินทุนภายใน (55.1%) และเงินกู้ธนาคาร (22.4%)
ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าภาคเอกชนต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐในหลายด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (28.6%) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตามมาด้วยมาตรการภาษี (26.8%) ที่จะช่วยลดภาระและสร้างแรงจูงใจในการลงทุน และการพัฒนาทักษะแรงงาน (22.4%) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว
นอกจากนี้ ผู้บริหารยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุน (14.3%) การส่งเสริมการส่งออก (2%) และมาตรการสนับสนุนอื่นๆ ที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย
1. การเร่งตัวของ Digital Transformation การนำ AI และ Machine Learning มาใช้ในธุรกิจจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การแข่งขันในตลาดดิจิทัลจะรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในแพลตฟอร์ม Super App ความสำคัญของความปลอดภัยทางไซเบอร์จะเพิ่มสูงขึ้น
2. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค การซื้อสินค้าออนไลน์จะเติบโตต่อเนื่อง ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น Mobile Payment จะเป็นวิธีการชำระเงินหลัก
3. การปรับตัวของรูปแบบการทำงาน Hybrid Work จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ การทำงานแบบ Result-based จะได้รับความนิยมมากขึ้น ความต้องการทักษะดิจิทัลจะเพิ่มสูงขึ้น
4. การเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานโลก การย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทยจะเพิ่มขึ้น Green Supply Chain จะได้รับความสำคัญมากขึ้น การพึ่งพาตลาดในภูมิภาคจะเพิ่มสูงขึ้น
5. ความสำคัญของ ESG และความยั่งยืน มาตรการ ESG จะส่งผลต่อต้นทุนการส่งออก การลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียวจะเพิ่มขึ้น ธรรมาภิบาลองค์กรจะได้รับความสำคัญมากขึ้น
แม้ผู้บริหารส่วนใหญ่จะมองการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยความระมัดระวัง แต่ก็เห็นโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะโอกาสจากการย้ายฐานการผลิต การเติบโตของตลาดดิจิทัล และการขยายตัวในภูมิภาคอาเซียน
การลงทุนในเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากรจะเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ ควบคู่ไปกับการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางธุรกิจและความยั่งยืน องค์กรที่สามารถปรับตัวและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นผู้ได้เปรียบในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง