แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการยกเลิกมติดณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 เรื่อง การลงทุนโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดลำพูน และเรื่องการลงทุนโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอ
กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รายงานเหตุผลความจำเป็นที่ต้องเสนอครม.ครั้งนี้เพื่อขอยกเลิกมติว่า ในการประชุมครม.เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 มีมติอนุมัติการลงทุนจัดซื้อ ที่ดินเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ดังนี้
1. อนุมัติการลงทุนจัดซื้อที่ดินโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ จังหวัดลำพูน พื้นที่ตำบลมะเขือแจ้ ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เนื้อที่ประมาณ 653 ไร่ และที่ดินถนนทางเข้าประมาณ 25 ไร่ วงเงิน 842 ล้านบาท
2. อนุมัติการลงทุนจัดซื้อที่ดินโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลสำนักทอง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เนื้อที่ประมาณ 1,482 ไร่ วงเงิน 2,668 ล้านบาท
ทั้งนี้หลังจากครม.มีมติอนุมัติการลงทุนจัดซื้อที่ดินเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวแล้ว การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จึงได้ดำเนินการกระบวนการทางพัสดุ เพื่อจัดซื้อที่ดิน
แต่เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่าที่ดินสำหรับดำเนินโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดลำพูน และที่ดินสำหรับดำเนินโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC เป็นเอกสารสิทธิ์ของบริษัทเอกชนผู้ร่วมดำเนินงาน และอยู่ระหว่างการเสนอที่ดินเพื่อร่วมดำเนินงานเพิ่มเติมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดังนี้
ตามผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ณ ขณะนั้น กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของเอกชน ไม่ได้มีสภาพเป็นนิคมอุตสาหกรรม แต่หลังจากมีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติการลงทุนจัดซื้อที่ดินเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแล้ว เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 มีบริษัทแห่งหนึ่งได้ยื่นหนังสือแสดงเอกสารสิทธิ์ประกอบการขอจัดตั้งโครงการนิคม อุตสาหกรรมเวิลด์ (ลำพูน) 2 ต่อ กนอ.
ทั้งนี้พบว่าที่ดินของโครงการนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ (ลำพูน) 2 เป็นพื้นที่เดียวกับโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดลำพูน ประมาณ 621 ไร่ เป็นเอกสารสิทธิ์ของบริษัทเอกชน จึงทำให้กนอ.ไม่สามารถซื้อที่ดินดังกล่าวได้
ตามผลการศึกษาความเป็นไป ได้ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ณ ขณะนั้น กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของเอกชน ไม่ได้มีสภาพเป็นนิคมอุตสาหกรรม แต่หลังจากมีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติการลงทุนจัดซื้อที่ดินเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแล้ว เมื่อเดือน มิถุนายน 2566 มีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ได้ยื่นหนังสือแสดงเอกสารสิทธิ์ประกอบการขอขยายนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยางต่อกนอ.
ทั้งนี้พบว่าที่ดินบางส่วนของพื้นที่ใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประมาณ 531 ไร่ เป็นเอกสารสิทธิ์ของบริษัทเอกชนดังกล่าว จึงทำให้กนอ.ไม่สามารถซื้อที่ดินดังกล่าวได้
ดังนั้น กนอ. จึงไม่สามารถดำเนินโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 2 แห่งได้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กนอ. จึงเสนอเรื่องเพื่อพิจารณายกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 เนื่องจาก กนอ.ได้ขออนุมัติงบประมาณสำหรับการจัดซื้อที่ดินโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่งแล้ว แต่ไม่สามารถจัดซื้อที่ดินได้ ส่งผลให้ไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวได้
ด้วยเหตุนี้จึงต้องเสนอเรื่องเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และนำมติคณะรัฐมนตรี มาประกอบการแจ้งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อขอยกเลิกวงเงินลงทุนดังกล่าว วงเงินรวม 3,510 ล้านบาท ซึ่งงบงบประมาณในส่วนนี้จะสามารถนำไปบริหารจัดการโครงการอื่นที่มีความสำคัญ และตอบสนองนโยบายรัฐบาลต่อไป