รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายปี 67 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 4% และยังคงมีแรงส่งต่อเนื่องต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไตรมาสแรกปี 68 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การเร่งใช้จ่ายงบประมาณปี 68 บวกเข้ากับ การเร่งตัวของภาคส่งออกก่อนสงครามการค้า การใช้จ่ายในภาคการท่องเที่ยวจะทำให้การเติบโตในช่วงสองไตรมาสแรกปีนี้เป็นไปได้ด้วยดี
อย่างไรก็ตาม สงครามทางการค้าจะเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยและระบบการค้าโลกในช่วงครึ่งปีหลัง และอาจมีความเสี่ยงของภาวะฟองสบู่แตกในตลาดการเงินโลกเพิ่มขึ้น จะกดดันให้เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังชะลอตัวลง งบประมาณปี 2568 ที่มีการจัดสรรงบลงทุนสูงเป็นประวัติการณ์ 0.91 ล้านล้านบาท หรือเกือบ 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบปี 67 ถึง 26.5% จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ภาคการลงทุนของไทยฟื้นตัวอย่างชัดเจนหากไม่มีปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง
การเพิ่มงบลงทุนสูงเป็นประวัติการณ์ทำให้ต้องทำงบประมาณขาดดุลสูงถึง 4.5% ของจีดีพี ระดับการขาดดุลที่สูงมีความจำเป็นแต่ไม่เพียงพอต่อการฟื้นเศรษฐกิจ เพราะต้องอาศัยนโยบายและมาตรการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจด้วย จึงจะทำให้การฟื้นตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจมีความยั่งยืน
หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย การบริหารจัดการกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีให้อยู่ในระดับที่ไม่เกิดความเสี่ยงฐานะทางการคลังเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า จีดีพีไทยสามารถโตทะลุ 3% ในปีนี้ได้ หากใช้นโยบายและมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม รวมถึงการบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนให้สนับสนุนการส่งออกสินค้าและบริการ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร และ ภาคบริการท่องเที่ยว ต้องตั้งเป้าพร้อมยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ขึ้นไปแตะระดับ 40 ล้านคนในปี 2568
อย่างไรก็ดี ในภาวะเศรษฐกิจมีความผันผวนสูงมาก การเร่งพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนทุกช่วงวัยมีความสำคัญ เพื่อให้คนกลุ่มต่างๆในสังคมสามารถรับมือกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจได้ โดยไม่เกิดความขัดแย้งทางสังคมรุนแรง การพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนทุกช่วงวัยนั้นต้องอยู่บนรูปแบบสวัสดิการที่มาจาก 4 ฐาน คือ สวัสดิการจากฐานทรัพยากรธรรมชาติ ต้องให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเสมอภาคกัน
สวัสดิการจากฐานชีวิตวัฒนธรรมในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน สวัสดิการจากฐานประกัน เช่น ระบบประกันสังคม การสร้างระบบการออมและการประกันการมีรายได้เมื่อเกษียณอายุการทำงานหรือชราภาพ สวัสดิการจากฐานสิทธิ
นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบค่าจ่ายขั้นต่ำและเงินเดือนขั้นต่ำที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ควรส่งเสริมศักยภาพแรงงานในการมีส่วนร่วมพัฒนาระบบสวัสดิการ การยกระดับและขยายขอบเขตของสวัสดิการสำหรับแรงงานทุกกลุ่ม ส่งเสริมให้แรงงานลูกจ้างสามารถรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน เป็นต้น
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ขอเสนอให้มีสวัสดิการพื้นฐานเด็กเล็กถ้วนหน้า 5,000 บาทต่อเดือน ครอบครัวไหนไม่มีความจำเป็น มีฐานะทางเศรษฐกิจดี ก็สามารถสละการใช้สิทธินี้ได้เพื่อประหยัดเงินงบประมาณไปพัฒนาประเทศด้านอื่น งานวิจัยของทีดีอาร์ไอในปี พ.ศ. 2565 ระบุว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลเด็กเล็ก (0-6 ปี) จากมาตรฐานรายได้ขั้นต่ำ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3,375 บาทต่อเดือน ก็มอบสวัสดิการเด็กเล็กประมาณ 5,000 บาทจึงเพียงพอ ปัจจุบันเราจ่ายเงินอุดหนุนเด็กเล็กรายละ 600 บาทซึ่งไม่เพียงพอ
การจะได้รับสวัสดิการ 600 บาทเป็นการให้แบบไม่ถ้วนหน้าอีกต่างหาก จึงต้องไปพิสูจน์ความจนอีก การเสนอให้มีสวัสดิการพื้นฐานเด็กเล็กถ้วนหน้าเนื่องจาก การพิสูจน์สิทธิว่าเป็นคนจนทำให้เด็กเล็กครอบครัวยากจนตกหล่นจากการช่วยเหลือไม่ต่ำกว่า 30% ขณะนี้ประเทศไทยมีเด็กเล็ก 0-6 ปีอยู่ที่ 4.2 ล้านคน หากต้องการให้สังคมไทยมีพลเมืองและแรงงานที่มีคุณภาพ จำเป็นต้องลงทุนดูแลเด็กๆเหล่านี้อย่างเต็มที่ มีครอบครัวที่ไปลงทะเบียนเพื่อขอรับสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กประมาณ 2.3 ล้านคนซึ่งมีเด็กยากจนตกหล่นจำนวนมาก นอกจากนี้ ขั้นตอนการพิสูจน์ความยากจนก็ยุ่งยาก บางครอบครัวเข้าไม่ถึงสิทธิตรงนี้ การพิสูจน์ยุ่งยากเป็นการบั่นทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ส่วนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมขณะนี้ได้รับสิทธิประโยชน์สงเคราะห์บุตรเดือนละ 1,000 บาทเมื่อบวกเข้ากับสวัสดิการพื้นฐานอุดหนุนเด็กเล็กอีกตามที่ตนเสนอ 5,000 บาท จะได้สวัสดิการเด็กเล็กตกเดือนละ 6,000 บาท เงินจำนวนนี้มากพอที่จะเลี้ยงลูกอย่างมีคุณภาพ ประเทศไทยจะมีอนาคตดีขึ้นทุกด้านในอนาคตจากพลเมืองและแรงงานคุณภาพ D.W. Dunlop (1995) ได้ทำการศึกษาวิจัยและพบว่า ระดับสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนในโภชนาการ การลงทุนในการศึกษาและการลดมลพิษ ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศลดลง
กรณีประเทศมีผลิตภาพของแรงงานต่ำเนื่องจากระดับสุขภาพต่ำ ส่งผลให้มีรายได้น้อยและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพน้อยตามไปด้วย C.E. Phelps (1997) ได้ทำการศึกษาวิจัยและพบว่า รายได้ต่อหัวของประชากรที่เพิ่มขึ้นทำให้ประชาชนมีอำนาจในการซื้อบริการสุขภาพมากขึ้นย่อมส่งผลให้ระดับสุขภาพดีขึ้นด้วย ประชาชนใช้รายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้นเพื่อการศึกษาที่สูงขึ้น ระดับการศึกษาที่สูงขึ้นนำมาสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ประชาชนที่มีระดับรายได้สูงขึ้นเสริมสร้างสุขภาพของตนเองให้ดีขึ้นได้ด้วยการบริหารจัดการกับชีวิตตัวเองให้เหมาะสม สุขภาพที่ดีขึ้น การศึกษาที่ดีขึ้น ก็นำมาสู่รายได้ที่มากขึ้นอีกในอนาคต
สังคมไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มขั้นและมีผู้สูงอายุจำนวนมากไม่มีเงินออม ไม่มีรายได้ มีฐานะยากจน จึงขอเสนอให้มีสวัสดิการบำนาญพื้นฐานชราภาพ 3,000 บาทต่อเดือน ส่วนจะหารายได้ของรัฐส่วนไหนมาสนับสนุนจำเป็นต้องปฏิรูปรายได้ภาครัฐ ปฏิรูปภาษีโดยเฉพาะเก็บภาษีทรัพย์สินเพิ่ม ขณะเดียวกันต้องตัดลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงพร้อมลดการรั่วไหลทุจริตคอร์รัปชันให้ได้ การพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนทุกช่วงวัยพร้อมกับการเพิ่มการออมสำหรับเกษียณอายุจะช่วยเพิ่มความมั่นคงในคุณภาพชีวิตของประชาชนและสังคมโดยรวม การมีเงินออมสำหรับวัยชราภาพจะช่วยลดภาระ
ทางการคลังของรัฐ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาจะช่วยบรรเทาให้ภาระหนี้ของครัวเรือนและภาคธุรกิจ รวมทั้งหนี้สาธารณะลดลง ภาระทางการเงินที่ลดลงของภาครัฐและประชาชนจะทำให้มีเงินออมมากขึ้น มีเงินมากขึ้นในการลงทุนทางด้านการศึกษาและสุขภาพ การลงทุนดังกล่าวจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้ในระยะยาว สัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนทางด้านศึกษาและสุขภาพเทียบกับจีดีพีมากเท่าไหร่ เราก็จะได้คุณภาพทรัพยากรมนุษย์ที่ดีขึ้นอันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตในระยะยาว