รัฐบาลขีดเส้น พ.ร.ก.ไซเบอร์ จบ ม.ค.68 บี้แบงก์-ค่ายมือถือ ร่วมรับผิดชอบ

06 ม.ค. 2568 | 23:34 น.

รองนายกฯ “ประเสริฐ” เร่งออกกฎหมาย พ.ร.ก.ไซเบอร์ แก้ปัญหาคอลเซนเตอร์หลอกลวง รัฐบาลตั้งเป้าหมายเสนอกฎหมายให้จบภายในม.ค.68 มัดมือ แบงก์ – ค่ายมือถือร่วมจ่ายหากผู้บริโภคเจอตุ๋น

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 มกราคม 2568 นี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ยังไม่ได้เสนอร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ หรือ พ.ร.ก.ไซเบอร์ เข้าสู่ที่ประชุมครม. เพราะยังติดขั้นตอนทางด้านเอกสาร แต่คาดว่า ภายในเดือนมกราคมนี้ จะเสนอเข้ามาพิจารณา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

“รัฐบาลต้องการให้กฎหมายบังคับใช้ได้อย่างรวดเร็วจึงเตรียมที่จะออกเป็น พ.ร.ก. คาดว่า พ.ร.ก.จะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน ม.ค.2568 ได้เลย เพราะไม่ต้องเข้าสภาฯ เพื่อจะเร่งแก้ปัญหานี้ให้เร็ว โดยให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเข้ามาร่วมรับผิดชอบด้วย” นายประเสริฐ ระบุ

นายประเสริฐ กล่าวว่า กฎหมายเรื่องนี้มีคนถามเข้ามามากว่ามิจฉาชีพออนไลน์มีมาก เรื่องนี้เป็นไปตามข้อกำหนดที่มีการหารือกับคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งกฎหมายการป้องกันและปราบปรามภัยทางไซเบอร์ที่มีการหารือกันแล้ว 

ตัวอย่างเช่น หากสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ไม่ทำระบบป้องกันที่ดีพอปล่อยให้เกิดความเสียหาย เช่น ปล่อยให้มีการเปิดบัญชีม้า โดยที่ไม่มีการสอบถามเลยว่าคนที่ไม่มีอาชีพจะเปิดบัญชีธนาคาร 10 บัญชี ได้อย่างไร ต้องสอบถามด้วยถึงเหตุผลของการเปิดบัญชี ไม่ใช่ปล่อยให้มีการเปิดบัญชีได้ง่าย ๆ เพราะหากเกิดความเสียหายขึ้นจากกรณีนี้ต้องมีส่วนในการรับผิดชอบต่อไป 

เช่นเดียวกับกรณีนิติบุคคลที่มีการเปิดบัญชี ก็ต้องมีการชี้ว่าเป็นบัญชีต้องห้ามตามบัญชี HR03 หรือไม่ บัญชีที่เป็นผู้ต้องสงสัยในการทำความผิดก็ต้องป้องกันไม่ให้มีการเปิดบัญชี ไม่ใช่ว่าใครที่เดินเข้าไปที่ธนาคารก็จะสามารถเปิดได้ทุกราย หากปล่อยปะละเลยก็ต้องมีส่วนในการรับผิดชอบเช่นกัน 

โดยมีปัจจุบันมีประมาณ 100 บัญชีที่เป็นบัญชีนิติบุคคลแล้วเป็นบัญชีม้าต้องมีการตรวจสอบโดยเชื่อมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เพื่อตรวจสอบว่าเป็นชื่อที่อยู่ในบัญชีดำหรือไม่ ถ้าอยู่ใมบัญชีดำจะเปิดไม่ได้ถือว่าเป็นการตัดวงจรทางการเงิน 

รองนายกฯ กล่าวว่า ในกรณีของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์หากยังปล่อยให้มีข้อความ SMS ที่ปล่อยมาแล้วเก็บค่าส่งโดยที่ไม่ระมัดระวังว่าเป็น SMS ที่มีการแนบลิงก์ดูดเงินมา ก็ต้องมีการร่วมจ่ายกับผู้ที่ถูกมิจฉาชีพหลอกด้วย ถือเป็นการป้องกันที่ระบบ ซึ่งเอกชนต้องมาช่วยรัฐบาลด้วย