จาก RAKxa สู่ ‘RXV สามพราน’ มั่นคงฯ ปั้นแลนด์มาร์กสุขภาพใหม่

09 ก.ย. 2565 | 08:15 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2565 | 15:16 น.

มั่นคงเคหะการ เพิ่มสปีดลุย Health & Wellness เทรนด์ธุรกิจแห่งอนาคต เดินหน้าปักหมุดแลนด์มาร์คสุขภาพใหม่ใกล้กรุง เปิดตัว “RXV สามพราน” มูลค่า 700 ล้านบาท จับตลาดลูกค้าคนไทยและcorporate wellness หลังโปรเจ็กต์ RAKxa บางกะเจ้า สยายปีกจับตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติสำเร็จ

ปี 2558 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ “มั่นคงเคหะการ” เมื่อบริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) เข้ามาถือหุ้นใหญ่ ในสัดส่วน 31.5% พร้อมนโยบายใหม่ชะลอการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 60 ปี และหันมาลงทุนในธุรกิจคลังสินค้าให้เช่าพร้อมกับมุ่งสู่ธุรกิจที่กำลังเติบโต

 

อย่างธุรกิจเพื่อสุขภาพ (Wellness) เพื่อสร้างให้เป็นแหล่งรายได้ใหม่ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท อาร์เอ็กซ์ เวลเนส จำกัด พร้อมกับเปิดตัวโครงการ “รักษ บางกะเจ้า” (RAKxa) ศูนย์บูรณาการสุขภาพและการแพทย์ แบบองค์รวม บนพื้นที่ 180 ไร่

           

นอกจากนี้ยังลงทุนร่วมกับ“ไวทัลไลฟ์ อัลไลอันซ์” บริษัทย่อยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ในสัดส่วน 50:50 เปิดบริษัท เฮลท์ แอนด์ เวลเนส เวนเจอร์ จำกัด เพื่อให้บริการธุรกิจศูนย์ดูแลสุขภาพและเวชศาสตร์ชะลอวัยในโครงการ “รักษ” วางกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นชาวต่างชาติ 70% ซึ่งสร้างความสำเร็จให้กับมั่นคงเคหะการเป็นอย่างดี

จาก RAKxa สู่ ‘RXV สามพราน’ มั่นคงฯ ปั้นแลนด์มาร์กสุขภาพใหม่            

ล่าสุดในปี 2565 นี้ “มั่นคงเคหะการ” ประกาศเตรียมใช้งบลงทุนรวม 3,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจกลุ่มคลังสินค้าให้เช่าและเวลเนส โดยคาดว่าในช่วง 3 ปีจากนี้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจกลุ่มคลังสินค้าให้เช่าและเวลเนสจะขยับเพิ่มเป็น 70% ขณะที่อสังหาริมทรัพย์จะลดลงเหลือเพียง 30%

           

นางดุษฎี ตันเจริญ กรรมการบริหาร บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) หรือ MK เล่าให้ฟังว่า จากแผนธุรกิจของมั่นคงฯ ที่ตั้งเป้าหมายเดินหน้ารุกธุรกิจเพื่อเช่าและการบริการ ธุรกิจ wellness ให้เติบโตมากขึ้นซึ่งบริษัทเล็งเห็นความสำเร็จในการพัฒนาโครงการ “รักษ บางกะเจ้า” โดยมองหาโลเคชั่นที่จะปั้นให้เป็น wellness destination แห่งใหม่ จนเกิดโครงการ RXV หรือ “รักษ วิลเลจ สามพราน” ด้วยงบลงทุน 700 ล้านบาท ตั้งเป้าให้ New Health & Lifestyle Destination เป็นแลนด์มาร์คใกล้กรุงแห่งใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปท์ “Everyone’s Wellness”

 

“จากประสบการณ์ในการพัฒนา “รักษ บางกะเจ้า” ทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่าเทรนด์ของการดูแลสุขภาพของไทยเองเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยมีโควิดเป็นตัวกระตุ้น และเฮลท์ แอนด์ เวลเนส เวนเจอร์ที่ทำร่วมกับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่ “รักษ” (RAKxa) เราจึงต่อยอดการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ใน RXV ที่สวนสามพราน เป็นอีกหนึ่งโลเคชั่นที่เราเลือกว่าควรจะเป็น Health and Wellness Destination ที่ใหม่เพราะ มีพื้นที่สีเขียวแวดล้อมด้วยบรรยากาศที่สะอาดปลอดภัย”

จาก RAKxa สู่ ‘RXV สามพราน’ มั่นคงฯ ปั้นแลนด์มาร์กสุขภาพใหม่            

หลังจากพูดคุยกับพาร์ทเนอร์ลงตัว บริษัทจะเช่าพื้นที่โรงแรมโรสการ์เด้นเดิม เป็นเวลา 40 ปี บนพื้นที่ 11-12 ไร่ซึ่งมีอาคารอยู่ และสามารถนำมารีโนเวทพื้นที่ห้องและสร้างพื้นที่ Health and Wellness เพิ่มได้ทันที โดยในส่วนของห้องพักยังคงไว้ในจำนวน 150 ห้อง แต่เฟสแรกจะเปิดบริการ 83 ห้องภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

 

รวมทั้งในส่วนขยายเพิ่มเติมที่ก่อสร้างขึ้นใหม่เป็นพื้นที่ Health and Wellness ประมาณ 4,000 ตารางเมตร ซึ่งบริษัทจะลงทุนกับเครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบต่างๆรองรับ เพื่อให้บริการและดูแลสุขภาพได้ครบสมบูรณ์ โดยคาดว่าจะทยอยเปิดบริการในส่วนห้องพักจนครบ 150 ห้องในปี 2567

  จาก RAKxa สู่ ‘RXV สามพราน’ มั่นคงฯ ปั้นแลนด์มาร์กสุขภาพใหม่           

อย่างไรก็ดี ลักษณะของการทำเวลเนส รีทรีท RXV จะปรับให้เข้ากับลักษณะนิสัยและความต้องการของลูกค้าคนไทยที่เป็นตลาดหลักซึ่งถูกวางสัดส่วนราว 80%-90% และจากการที่ RXV ต่อยอดจากโรสการ์เด้นซึ่งมีฐานลูกค้าเดิมอยู่แล้วจะช่วยผลักดันให้เติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งสิ่งที่โรสการ์เด้น มองเพิ่มคือ corporate wellness ซึ่งในอนาคตการดูแลพนักงานจะต้องใส่ใจเรื่องสุขภาพของพนักงานด้วย

           

“การที่เรานำเสนอสิ่งใหม่ๆ ในแง่ของการดูแลสุขภาพของพนักงานให้กับ corporate เราสามารถอินทิเกรตว่า ลูกค้าเข้ามาสัมนากับเราพร้อมๆ กับมีกิจกรรมดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นเทรนด์หนึ่งที่เรามองไว้ในช่วงของการสร้างโครงการนี้ขึ้นมา นอกจากนี้บริการที่นำเข้ามาที่ RXV สามพรานมีทั้งฝั่งเมดิคอลที่เราเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ทั้งการชะลอวัย การตรวจแลป การดริปวิตามิน การใช้เทคโนโลยีในการกระตุ้นและดูแลสุขภาพ เป็นต้น

จาก RAKxa สู่ ‘RXV สามพราน’ มั่นคงฯ ปั้นแลนด์มาร์กสุขภาพใหม่            

ในส่วนของ medical genic โดยเฉพาะในพาร์ทที่เป็น physical body ซึ่งในช่วงโควิดคนทำงานที่บ้านและเกิดอาการ work from home syndrome มากขึ้น ดังนั้นเราเน้นการตรวจประเมินสุขภาพแต่ละส่วน ทำให้เข้าใจสุขภาพในเชิงร่างกายแนวลึกมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีบริการแพทย์ทางเลือก RXV จึงเป็น wellness destination ที่ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งในส่วนของ Medical with Teachnology ในส่วนของการออกกำลังกายและการทำทรีทเม้นแบบแพทย์แผนไทย รวมทั้งเรื่องของอาหารโดยใช้ concept rainbow diet”

           

ทั้งนี้เชื่อว่าหลังจากเปิดบริการ RXV เฟสแรกในช่วงปลายปีนี้จะมีการเติบโตราว 35% และเติบโต 50% ในปี 2566 และโดยปกติการลงทุนโรงแรมจะใช้เวลาคืนทุนประมาณ 10 ปี ในการเช่าอาจจะใช้ประมาณ 7 ปี ดังนั้น RXV น่าจะเริ่มสร้างรายได้ในปีหน้า โดยคาดว่าจะมีรายได้ราว 250 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้จากห้องพัก 50% และ Health and Wellness 50%

           

นางดุษฎี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ผ่านมาททท.ให้การสนับสนุนเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพค่อนข้างมาก เห็นว่าปีนี้ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใดๆ ที่ททท.เข้ามาสนับสนุนจะเน้นเรื่องเวลเนสและท่องเที่ยวสุขภาพเป็นหลัก ดังนั้นแม้ว่า RXV จะมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นลูกค้าคนไทยเป็นหลักในช่วงต้น

จาก RAKxa สู่ ‘RXV สามพราน’ มั่นคงฯ ปั้นแลนด์มาร์กสุขภาพใหม่

เพราะมองว่าลูกค้าไทยที่สนใจสุขภาพยังมีกำลังซื้ออยู่ แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่า RXV เป็นส่วนหนึ่งของ RAKxa ดังนั้นในการเข้าไปพูดคุยกับต่างชาติหรือเอเยนต์ มั่นคงฯจะถือโอกาสแนะนำ RXV เข้าไปด้วย นอกจากนี้ยังมองตลาดชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย (expat) โดยจะไม่ดึงลูกค้าต่างชาติเข้ามา

 

“สำหรับ RXV สามพรานคอนเซปท์จะเน้น Everyone’s เราต้องการให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกช่วงอายุหรือแม้กระทั่งคนที่ดูแลสุขภาพเบื้องต้น ไปจนถึงคนที่ใส่ใจสุขภาพแบบจริงจัง ที่นี่เป็นสถานที่ที่คนเข้ามาเริ่มต้นและต่อยอดการดูแลสุขภาพได้ การที่จะเป็น Wellness Destination ที่ใหม่ เราต้องทำให้แตกต่าง ที่นี่เราสามารถทำการดูแลสุขภาพให้สนุกขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น

 

นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าคอนเซ็ปท์ของ RXV เป็น “Everyone’s Wellness” นอกจากพื้นที่โรงแรมแล้ว สวนสามพรานยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อมเพรียง และคาดว่าในช่วงแรกจะมีฐานลูกค้ากลุ่ม B2B ราว 60% จากฐานลูกค้าเดิมและตลาดสัมนาจะช่วยเติมเต็มการเติบโตในช่วง with Day ด้วย”

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,816 วันที่ 8 - 10 กันยายน พ.ศ. 2565