ภายหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระยะเวลาสองปีที่ที่ผ่านมา โลกของเราได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของผู้คน หรือนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตมนุษย์ในเกือบทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการศึกษา
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแห่งประเทศไทย เผยถึงถึงวิสัยทัศน์ของกระทรวงศึกษาธิการต่อการศึกษา หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความสำคัญของการผสมผสานเทคโนโลยีในการเรียนการสอน เพื่อการพัฒนาการศึกษาในประเทศไทย ว่ากระทรวงศึกษาธิการได้มีการปรับใช้การเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) รูปแบบใหม่ เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา อันเนื่องมาจากภัยพิบัติต่างๆ อาทิ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือผลกระทบจากปัจจัยภายนอกอื่นๆ ซึ่งเมื่อเดือนมกราคม ปีพ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้เปิดตัวโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการติดตาม ค้นหา และบันทึกผลการติดตาม ผ่านแอปพลิเคชัน “พาน้องกลับมาเรียน” และเว็บไซต์ dropout.edudev.in.th
เพื่อค้นหาเด็กตกหล่นและเด็กออกกลางคัน ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ คุณครูยังได้รับการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาทักษะความสามารถในการปรับใช้การเรียนผ่านระบบดิจิทัล ควบคู่ไปกับการสอนในห้องเรียน ซึ่งการเรียนการสอนแบบผสมผสานนี้ จะทำให้ระบบการศึกษามีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน หรือวิกฤติเกิดขึ้น เพื่อให้การเรียนการสอนยังดำเนินต่อเนื่องไปได้ ไม่หยุดชะงักหรือขาดความต่อเนื่อง
“อย่างที่เราทราบกันดีว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อการศึกษา อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ก็เปิดโอกาสให้ระบบการศึกษาได้เดินไปข้างหน้า โดยการปรับใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้น และพาระบบการศึกษาเข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 21 และด้วยรูปแบบการเรียนการสอนแบบบูรณาการ online learning และ face-to-face meetings เข้าด้วยกัน ทำให้การเรียนการสอนมีความยืดหยุ่นมากขึ้นแม้ช่วงวิกฤติ คุณครูยังได้รับการฝึกฝนเพื่อเพิ่มทักษะและเรียนรู้ทักษะใหม่ ซึ่งถือเป็นเปิดประตูสู่การปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นด้านการเรียนการสอน อาทิ เทคโนโลยี AI รวมถึงแพลตฟอร์มการเรียนรู้ดิจิทัลอื่นๆ ให้สามารถนำมาใช้ในหลักสูตรได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น”
และด้วยการเล็งเห็นความสำคัญที่เทคโนโลยีมีต่อการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงได้ร่วมมือกับ Bett จัดงาน Bett Asia Leadership Summit & Expo ปีที่ 6 จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย โดยถือเป็นงานประชุมสุดยอดผู้นำและนิทรรศการระดับนานาชาติด้านการศึกษาและเทคโนโลยี ที่น่าตื่นตาที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเลยทีเดียว
โดยนายทอม พูล ผู้อำนวยการ Bett Asia กล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่สุดคือโควิดได้เข้ามาสร้างผลกระทบอันยิ่งใหญ่ ส่งผลให้การเรียนรู้ต้องย้ายรูปแบบไปเป็นไฮบริดและออนไลน์แบบเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเคยคาดไว้ว่าจะใช้เวลากว่า 10 ปี ให้เหลืออยู่ที่ 3 ปีเท่านั้น ซึ่งส่งผลให้ปัจจุบันเราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของความสามารถการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต รวมถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานโดยรวม สำหรับระบบการศึกษาทั้งหมด เพื่อที่จะพร้อมก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 และเติบโตต่อไป นอกจากนี้ เทรนด์สำคัญที่เราเห็นหลายๆ ที่ให้ความสนใจเพื่อนำมาปรับใช้ในการเรียนการสอน ได้แก่ XR หรือเทคโนโลยีเสมือนจริง และผมตื่นเต้นเป็นอย่างมากว่าเราจะสามารถนำเทคโนโลยี XR มาใช้ในห้องรียนอย่างเต็มรูปแบบได้อย่างไร”
“ผู้จัดและทีมงาน Bett Asia ทุกคน รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้ร่วมสานสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ทำให้เข้าใจความท้าทายสำคัญที่เกิดขึ้นของกระทรวงทั้งสอง รวมถึงคุณครู และสถานศึกษาในประเทศไทย ซึ่ง Bett Asia เกิดจากการรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นจริง แล้วมาสร้างโครงการที่นำเสนอเนื้อหาที่สร้างแรงบันดาลใจ และเกิดการกระตุ้นทางความคิดสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้มาร่วมงาน การสนับสนุนจากกระทรวงทั้งสอง ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ Bett Asia สามารถทำความตั้งใจในฐานะตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ” คุณทอม พูล กล่าวเสริม
นอกจากโครงการต่างๆ ที่กล่าวมา กระทรวงศึกษาธิการ ประเทศไทยยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ มากมายทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก ในการผลักดันนวัตกรรมทางการศึกษา และเนื่องจากการศึกษามีจุดเริ่มต้นจากครูผู้สอน กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ดำเนินโครงการร่วมกับประเทศญี่ปุ่น ภายใต้โครงการชื่อ Thailand-Japan International Educational Exchange Online Programme ซึ่งเป็นโครงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาระหว่างประเทศไทย-ญี่ปุ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพคุณครู แลกเปลี่ยนวิธีการสอน และเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่แตกต่างในบริบทของการเรียนการสอน นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ประเทศไทย ยังได้จัดตั้งหน่วยงานเพื่อดูแลความร่วมมือระหว่างยูเนสโกและกระทรวงฯ ซึ่งมีโครงการร่วมกันเกิดขึ้นแล้วมากมาย โดยในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2565 ประเทศไทยได้จับมือกับยูเนสโก จัดการประชุม APREMC II โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการเร่งด่วนในการฟื้นฟูการเรียนรู้หลังการระบาดใหญ่ และประเทศไทยยังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม SEAMEO อันมีส่วนช่วยส่งเสริมโครงการทางการศึกษามากมายในประเทศไทย อาทิ จัดการประชุมเกี่ยวกับ Teacher Education เพื่อหารือด้านการฝึกหัดครู ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน รวมถึงการฝึกหัดครู ต่อเนื่องหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ทางกระทรวงยังได้เป็นพันธมิตรกับยูนิเซฟเพื่อสนับสนุนด้านการศึกษาต่อ และร่วมมือกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (ASEM) ดำเนินโครงการจัดหางาน และ TVET อีกด้วย