‘AACSB’ หนุนเพิ่มทักษะ ‘นักบัญชี’ ลดปัญหาขาดแคลน

27 พ.ย. 2565 | 07:10 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ย. 2565 | 14:15 น.

สถาบัน AACSB เผยเทรนด์ทั่วโลกเริ่มขาดแคลนนักบัญชี เหตุ “ผู้เรียนน้อย -ต้องสอบไลเซ่น-กังวลถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี” ขณะที่ความต้องการองค์กร เปลี่ยนนิยมนักบัญชีที่มีทักษะรอบด้าน

นายเจฟฟ์ เพอร์รี รองประธานบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีระดับนานาชาติ (Association to Advance Collegiate Schools of Business : AACSB) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันจำนวนนักศึกษาที่ลงทะเบียนในสาขาบัญชีทั่วโลกลดลงทั้งในอินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา เกาหลีและยุโรป รวมทั้งประเทศไทย สาเหตุที่ผู้เรียนจบทางด้านสาขาบัญชีลดลง

 

เนื่องจากผู้เรียนสาขาบัญชีหลังจากจบปริญญาจำเป็นต้องศึกษาต่อ Professional Program เพื่อสอบขอไลเซ่นหรือใบอนุญาตทำงาน ขณะที่การเรียนสายบริหารธุรกิจมีทางเลือกอื่นที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันเช่น Data analytics การตลาด ดีไซน์ ไฟแนนซ์ ซึ่งเมื่อเรียนจบสาขาเหล่านี้สามารถทำงานได้ทันทีโดยไม่ต้องเรียนต่อเพื่อขอใบอนุญาตทำงาน

              

นอกจากนี้ ผู้เรียนเองเริ่มมีความกังวลว่าเทคโนโลยีจะมีผลต่อวิชาชีพด้านนี้ โดยเฉพาะทางด้าน Technical เพราะเทคโนโลยีสามารถเข้ามาทดแทนได้ เพราะฉะนั้นปัจจุบันคนที่ทำงานทางด้านนี้จะเน้นทำงานด้านการวางกลยุทธ์หรือการวิเคราะห์มากกว่าด้านเทคนิคอล

              

อย่างไรก็ตามปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีส่วนช่วยในการทำงานอย่างมากทำให้นักบัญชีปัจจุบันจำเป็นต้องมีการปรับตัวและมีทักษะที่เพิ่มขึ้น โดยสกิลของนักบัญชีเปลี่ยนไปโฟกัสที่การวิเคราะห์การตีความหรืออ่านข้อมูลหรือการแก้ปัญหาจากข้อมูลที่ได้รับแทนโฟกัสในอดีตที่เน้นการลงบัญชีเดบิต-เครดิต

‘AACSB’ หนุนเพิ่มทักษะ ‘นักบัญชี’ ลดปัญหาขาดแคลน               

ตอนนี้ทิศทางของสกิลจะเน้นไปที่ทักษะการสื่อสาร ทักษะการวิเคราะห์ ทักษะการทำงานเป็นทีม และทักษะการทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดี บริษัทบัญชีหลายแห่งเวลาตัดสินใจจ้างพนักงานเข้ามาจะโฟกัสไปที่การหาพนักงานที่มีแนวความคิดที่หลากหลายหรือวิธีคิดที่แตกต่าง แต่ในแง่ของดีกรีหรือปริญญาทางด้านบัญชีหรือคุณวุฒิทางด้านบัญชียังมีความจำเป็นและคุณค่าสำหรับบริษัท ขณะเดียวกันก็เริ่มมองหาพนักงานที่มีคุณวุฒิและความรู้ทางด้านอื่นๆ เสริมด้วย

 

เช่น ทางด้านธุรกิจ ทางด้านการสื่อสาร ทางด้านวิศวกรรมหรืออื่นๆ เพื่อตอบรับความต้องการทักษะที่เพิ่มขึ้นปัจจุบัน Business School หรือคณะบริหารธุรกิจทั่วโลกเริ่มปรับหลักสูตรเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่เรียนทางด้านบัญชีได้ศึกษาหาความรู้ในคณะอื่นด้วยและโฟกัสไปที่การทำให้นักศึกษามีความรู้หลากหลายสาขาวิชาชีพ

              

“ความสำคัญนักบัญชียังมีความสำคัญอยู่ แต่สกิลเซตเปลี่ยนไปเพราะทักษะหลายๆ อย่างที่เป็นเทคนิคคอล เช่นการคำนวณ การลงบัญชี การทำงบดุลเป็นส่วนที่เทคโนโลยีสามารถเข้ามาทดแทนได้ เพราะฉะนั้นบทบาทของนักบัญชีจะเปลี่ยนไปโฟกัสทางด้านการวิเคราะห์ การอ่านการแปลผลข้อมูล การให้คำปรึกษาทางด้านการวางกลยุทธ์ การวางยุทธศาสตร์และนักบัญชีจะต้องมีความรู้ความเข้าใจสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับทางด้านการเงินมากขึ้น เพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการวางกลยุทธ์ เพราะฉะนั้นบทบาทของนักการบัญชีจะอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง”

              

ทั้งนี้ AACSB ได้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์แรงงานนักบัญชีผ่านการดำเนินการใน 3 ประการคือ

 

1. กำหนดให้คณะบริหารธุรกิจจำเป็นจะต้องมีหลักสูตรที่คำนึงถึงเทรนด์ที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคตและจัดหลักสูตรให้สัมพันธ์กับบริบทสถานการณ์ในปัจจุบันด้วย ส่วนเนื้อหาและการออกแบบหลักสูตรจะต้องได้รับการแนะนำและความคิดเห็นจากนักวิชาการและภาคธุรกิจด้วย

              

2. ในส่วนการรับรองมาตรฐาน เปิดโอกาสให้คณะบริหารธุรกิจเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นอภิปรายในเวทีที่เราจัดขึ้นมา ทั้งประเด็นภาพรวมและประเด็นเฉพาะทาง

 

3. จัดการประชุมซึ่งจะมีเซคชั่นหรือหัวข้อย่อยที่เจาะไปที่การพัฒนาหลักสูตรและการประชุมที่เราเน้นไปที่หลักสูตรที่สร้างสรรค์และมีแนวคิดใหม่ๆ และส่วนหนึ่งที่เราช่วยสนับสนุนคือ การส่งเสริมความเป็นผู้นำทางด้านความคิดในหมู่ของ Business School ผ่านบทความที่มีการเผยแพร่ให้กับสมาชิกทั้งหลาย

              

“ปัจจุบันเรามีสมาชิก 1774 ทั่วโลก มีสถาบันที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจำนวน 965 มหาวิทยาลัย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 5.6 % ของสถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจทั้งหมดทั่วโลก ขณะที่ในประเทศไทยมีสมาชิกอยู่ 17 มหาวิทยาลัย 8 มหาวิทยาลัยที่ได้รับการได้รับรองมาตรฐานแล้วและมีมหาวิทยาลัยอีก 7 แห่งที่อยู่ในขั้นตอนดำเนินการเพื่อขอรับการรับรองมาตรฐาน”

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,839 วันที่ 27 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565