ส.ขอนแก่น ธุรกิจอาหารที่สร้างชื่อจากอาหารพื้นบ้านจนโด่งดังและสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใต้การนำของผู้บริหารเจนเนเนชั่นที่ 2 "จรัสภล รุจิราโสภณ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน (RTE-QSR) บริษัท ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SORKON
ไม่เพียงเท่านั้น "จรัสภล รุจิราโสภณ" ยังได้วางทางเดินของ SORKON ให้เป็นมากกว่าอาหารพื้นบ้าน โดยที่ผ่านมามีการจับมือกับพันธมิตรแตกไลน์สินค้าใหม่ๆที่พลิกโฉมภาพจำเดิมๆของ ส.ขอนแก่น ไปอย่างมีนัยสำคัญไม่ว่าจะเป็น ส.อกไก่นรก ขนมขบเคี้ยวประเภทเนื้อสัตว์แปรรูป หรือการผนึก LINE MAN ส่ง ZAAP Classic และ ข้าวขาหมูยูนนาน 23 สาขา ลุยโมเดลคลาวด์คิทเช่นรับเทรนด์ New Normal
นอกจากนี้ผู้บริหารยังปักธงต่อไปสำหรับ ส.ขอนแก่น ในการเป็น Global Forefront in Food Solutions เตรียมพร้อมรับมือเทรนด์ความต้องการอาหารและต่อยอดอุตสาหกรรมอาหารไทยในอนาคต โดยดึงผู้บริหารรุ่นใหม่ ‘ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล’ เข้ามานั่งบอร์ดเสริมกลยุทธ์ด้านการตลาดและแบรนด์ในฐานะกรรมการและกรรมการอิสระ เพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกิจของ ส.ขอนแก่น ก้าวเข้าสู่โอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ภายหลังการเข้ามาคุมทัพการตลาด "ผศ.ดร.เอกก์" ได้วางกลยุทธิ์การตลาดและแบรนด์สำหรับ ส.ขอนแก่น ไว้ 3 มิติ คือ กว้าง ยาว ลึก ได้แก่ กว้าง คือ การขยายธุรกิจให้ครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ ยาว คือ มีความโดดเด่นของแบรนด์ อยู่ยาวนานในทุก Generations ส่วน ลึก คือ เข้าใจในธุรกิจอาหารอย่างลึกซึ้ง และพัฒนาจาก Product Based เป็น Solutions Based เพื่อนำพาให้แบรนด์ ส.ขอนแก่น ที่มีความแข็งแกร่งทั้งในและต่างประเทศอยู่แล้ว แข็งแกร่งมากขึ้นไปอีกขั้น พร้อมก้าวสู่การเป็น Global Forefront in Food Solutions ในอนาคต
นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมพร้อมรับมือเทรนด์ความต้องการอาหารในอนาคต เพราะอุตสาหกรรมอาหารจะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ท้าทาย เนื่องจากอาจเกิดวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการต้องบริหารจัดการซัพพลายอาหารให้เหมาะสมกับดีมานด์ของผู้บริโภคในอนาคต ทั้งนี้ กลยุทธ์ของ SORKON จะไม่จำกัดอยู่ที่การแบ่งกลุ่มประเภทอาหารแบบเดิม (Product Base) แต่ในอนาคตจะจับเป็น Lifestyle Solutions มากขึ้น (Solutions Base) เพื่อสร้าง New S-Curve ในธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน
“สิ่งที่ท้าทายที่สุดในการทำกลยุทธ์ทางการตลาดคือ เราจะได้เห็นเทรนด์หรือโซลูชั่นใหม่ ๆ ด้วยรูปแบบสินค้าและบริการที่จะเน้นไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคเป็นหลัก รวมถึงการเน้นสร้างมูลค่าเพิ่ม ตัวอย่างเช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือที่ขายไลฟ์สไตล์ชามละ 200 บาท ก็ยังขายได้ ซึ่งการเจาะกลุ่มไลฟ์สไตล์เราจะไม่จำกัดแค่ในประเทศ แต่จะไปในระดับนานาชาติด้วย รวมถึงเตรียมเข้ามาช่วยจัดพอร์ตแบรนด์ให้ชัด เพราะตอนนี้เรามีแบรนด์ในพอร์ตค่อนข้างมาก ขณะที่พอร์ตสินค้าหลักที่เป็น Cash Cow อย่างอาหารพื้นเมือง เราจะยังคงควบคุมคุณภาพ ควบคุมต้นทุนวัตถุดิบให้ดี เพราะราคาวัตถุดิบและอาหารสัตว์มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต”
ทั้งนี้ ผศ.ดร.เอกก์ เป็นนักวิชาการและนักการตลาดที่มีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาและการกำหนดนโยบายที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมและองค์กรชั้นนำที่หลากหลาย เช่น ไปรษณีย์ไทย, MBK, AirAsia, SCG, SCGP และเบทาโกร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นผู้เขียนหนังสือ “อัจฉริยะการตลาด” ซึ่งเป็นหนังสือการตลาดที่มียอดขายสูงที่สุดตลอดกาลเล่มหนึ่งของไทย