ปี 2566 นับเป็นอีกปีที่น่าจับตามอง หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปลายปี 2565 จากสัญญาณบวกทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยต่างชาติที่กลับมาใช้บริการในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ คาดว่าในปี 2566 นี้จำนวนคนไข้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จะกลับมามีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับปีก่อนโควิด-19 ถึง 50%
จากแรงหนุนการเปิดประเทศบวกกับกระแสการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันที่เพิ่มมากขึ้น ช่วยส่งเสริมให้ตลาด Medical & Wellness Tourism รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
"หลังจากโควิดคลี่คลายมีการเปิดประเทศมากขึ้นทำให้เกิดการเที่ยวล้างแค้นซึ่งธุรกิจโรงพยาบาลเองก็ไม่หนีไม่พ้นตอนนี้คนไข้กลับมาใช้บริการอย่างหนาแน่น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวไว้ว่าประเทศไทยต้องเป็นมหาอำนาจด้านทางการแพทย์ เราก็อยากจะสานต่อวิสัยทัศน์นี้
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิดเข้ามาทำให้ขอบเขตการทำธุรกิจด้านการแพทย์และสถานพยาบาลปรับเปลี่ยนไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งบำรุงราษฎร์มองว่า ในช่วงสถานการณ์โควิดการให้บริการทางการแพทย์ของบำรุงราษฎร์มาได้ถูกทาง"
ในปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้ให้ความสำคัญกับการบูรณาการทางการแพทย์สำหรับการมีชีวิตที่มีความยืนยาวและมีคุณภาพ ผ่าน 4C1W ประกอบด้วย
1. Critical Care การรักษาผู้ป่วยภาวะวิกฤต
2. Complicated Care การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อนหลายโรคหรือโรคหายาก
3. Cutting-edge technology การให้ความสำคัญและประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี
4. Collaboration of expertise and partners การทำงานที่สอดประสานกันและการแสวงพันธมิตรที่เข้มแข็ง
และ 1. W = Wellness การแพทย์เชิงป้องกัน
สำหรับปี 2566 นี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ถือโอกาสปรับวิสัยทัศน์ใหม่คือ "มุ่งมั่นที่จะเป็นสถานที่ที่ให้บริการทางการแพทย์ที่เป็นจุดมุ่งหมายของทุกท่าน" หรือ ปีแห่งความเป็นเลิศ (Year of Excellence)"
ด้วยการผนึกความเชี่ยวชาญและต่อยอดของการรักษาโรคซับซ้อนเข้ากับการดูแลเชิงป้องกัน โดยบำรุงราษฎร์ริเริ่มและวางรากฐานเวชศาสตร์เชิงป้องกันเป็นแห่งแรกในเอเชีย ภายใต้ชื่อ "ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์" ซึ่งเป็นสถาบันเวชศาสตร์ชะลอวัยแบบบูรณาการ โดยยังคงยึดหลัก 4C1W เป็นใบเบิกทางเพื่อก้าวสู่ปีแห่งความเป็นเลิศ ผ่าน 4 เสาหลัก คือ
1.ความเป็นเลิศด้านบุคลากร (People Excellence) ในช่วงโควิดโรงพยาบาล บำรุงราษฎร์ไม่เคยเลย์ออฟพนักงาน แต่สรรหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเสริมทัพเพราะสิ่งที่เป็นความท้าทายอย่างมากของธุรกิจโรงพยาบาล คือ บุคลากรทางการแพทย์
โดยโรงพยาบาลมีสถาบันทางวิชาการที่ส่งเสริมด้านการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อให้บุคลากรมีความรู้ที่ทันสมัยอยู่เสมอ ถือได้ว่าปัจจุบันบำรุงราษฎร์เป็น "สถาบันวิชาการทางการแพทย์ภาคเอกชน" หรือ Academic Private Hospital อย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ได้รับการยอมรับจากผู้ป่วยต่างชาติกว่า 200 ประเทศทั่วโลก
2.ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Clinical Excellence) นอกจากจากแพทย์โรงพยาบาล บำรุงราษฎร์ ยังให้ความสำคัญกับกลุ่มบุคลากรที่ไม่ใช่แพทย์ทั้งเทคนิค เภสัช พยาบาล คนไข้ที่เข้ามาในโรงพยาบาลจะได้รับการต้อนรับที่ประทับใจ
ในแง่ของความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรงพยาบาลมีการรวมกลุ่มคนที่มีความสามารถเฉพาะด้านมารวมกันและสร้างเป็น Center Excellence ซึ่งในปีนี้จะเน้น 5 ศูนย์หลักได้แก่สถาบันหัวใจ ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน ศูนย์โรคระบบประสาท ศูนย์ทางเดินอาหารและตับและลำไส้ และศูนย์จักษุ ซึ่ง 5 ศูนย์ความเป็นเลิศนี้ เปรียบเสมือนเรือธงในการขับเคลื่อนการรักษาพยาบาลในปี 2566
แผนระยะยาวในการเตรียมแพทย์รุ่นใหม่ให้มีความพร้อมในการก้าวขึ้นมาเป็นแพทย์ผู้ชำนาญการและแพทย์ผู้บริหารของโรงพยาบาลในรุ่นต่อไป (Building Tomorrow Doctors) ด้วยการออกแบบหลักสูตรพัฒนาแพทย์ที่เป็นแบบฉบับของบำรุงราษฎร์เอง
รวมทั้งส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อแพทย์ผู้เชี่ยงชาญที่เรียนจบจากต่างประเทศเข้ามาทำงานที่โรงพยาบาลโดยสถิติแล้วปัจจุบันโรงพยาบาลบำรุงราษฎ์มีแพทย์ที่จบจากต่างประมาณ 30% จาก 1,000 คนทั้งแพทย์ประจำและแพทย์คอนเซาท์ รวมไปถึงการขยายศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ อาทิ ศูนย์มะเร็ง ร่วมกับโรงพยาบาลพันธมิตร ได้แก่ โรงพยาบาลพิษณุเวช และ โรงพยาบาลนครธน เพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสได้เข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพมาตรฐาน
3.ความเป็นเลิศด้านคุณภาพและความปลอดภัย (Quality and Safety Excellence) โรงพยาบาลบำรุงราษฎ์ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง บุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกคนทำงานในบทบาทของตัวเองด้วยความเป็นมืออาชีพภายใต้คุณภาพ และความปลอดภัย
ทำให้โรงพยาบาลได้รับการยอมรับจากผู้ป่วยทั่วโลกและได้รับการรองรับมาตรฐานมากมายไม่ว่าจะเป็นJCI, A-HA , GHA และ CAP ทำให้นักท่องเที่ยวและคนไข้ต่างชาติมั่นใจที่จะเดินเข้ามารับการรักษา
4.ความเป็นเลิศในการส่งเสริมประสบการณ์ผู้ป่วย (Patient Experience Excellence) ในปี 2566 โรงพยาบาลฯ ได้มีการปรับปรุงวิถีแห่งบำรุงราษฎร์ (Bumrungrad Way) ซึ่งเป็นแนวปฎิบัติของบุคลากรในการบริการผู้ป่วยที่เป็นแบบฉบับของบำรุงราษฎร์เองให้สอดรับตามยุคสมัย แต่ยังคงแนวปฏิบัติที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในการรักษาพยาบาล โดยจัดตั้งศูนย์ compassionate caring เพื่อคอยรับฟังข้อเสนอแนะจากลูกค้าและผู้ป่วย
"ตอนนี้ลูกค้าของเราจะได้เห็นบำรุงราษฎร์โฉมใหม่ เราจำเป็นที่จะต้องทำให้บ้านของเราดูดี ทันสมัยและพร้อมที่จะรับผู้ป่วยในอนาคตได้ เรามี application
สำหรับการนัดหมายและลดการเวลารอคอย การมี VIP service ไว้คอยรองรับผู้ป่วยExpat และผู้ป่วยต่างชาติโดยมีล่าม 200 กว่าคน กว่า 33 ภาษาเพื่อรองรับคนป่วยจาก 200 กว่าประเทศ และล่ามดิจิทัลซึ่งปัจจุบันเพิ่มเป็น 4 ภาษาคืออารบิก พม่า บังคลาเทศและภาษาจีน เพื่อลดระยะเวลาในการตามหาล่าม เพราะล่ามก็เป็นอาชีพที่หายากปัจจุบัน"
ภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันศาสตร์แห่งเวลเนสกำลังมาแรงมาก หลายธุรกิจหันมามองในเรื่องของธุรกิจ wellness ซึ่งศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ของบำรุงราษฏ์เองมีพาร์ทเนอร์ มั่นคงเคหะการในการให้บริการ RAKxa (รักษ)
ศูนย์บูรณาการสุขภาพและการแพทย์แบบองค์รวมที่บางกระเจ้า ซึ่งเป็น destination ที่ประสบความสำเร็จพอสมควร และในเร็วๆนี้กำลังจะเปิดให้บริการ RAKxaแห่งที่ 2 โรสการ์เด้นสวนสามพราน เสริมศักยภาพการเป็นจุดหมายแห่งการดูแลสุขภาพและสุขภาวะที่น่าเชื่อถือที่สุด และยังเป็นการเสริมจุดแข็งด้านการแพทย์ของไทย
สู่เป้าหมายของการเป็น "ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ" หรือ "การแพทย์ครบวงจร" (Medical Hub) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) สร้างชื่อเสียงความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ และสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบให้กับประเทศชาติ ในปี 2565 ที่ผ่านมาศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์สามารถเติบโตและสร้างรายได้กว่า 1 พันล้านบาท