นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2566 นี้แนวโน้มราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคจะได้รับผลกระทบจาก 2-3 ประเด็นคือ 1 ต้นทุนวัตถุดิบ ถ้าผู้ผลิตสามารถควบคุมต้นทุนได้ก็อาจไม่มีผลกระทบมากนัก เรื่องที่ 2 คือtransportation หรือค่าน้ำมัน เพราะสินค้าใน1ชนิดอาจมีค่าขนส่งรวมอยูราวๆ10-20% ในขณะที่สินค้าประเภทเครื่องดื่มอาจจะขนส่งรวมอยู่ถึง 30% เพราะฉะนั้นถ้าราคาพลังงานแพงจะมีผลต่อราคาสินค้าแน่นอน และ 3 ค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและผู้ผลิตรายใหญ่ๆที่จะต้องช่วยกันหาทางควบคุมต้นทุนเพื่อให้เกิดผลกระทบด้านราคาให้น้อยที่สุด เพราะในฝั่งของผู้บริโภคโดยธรรมชาติเมื่อค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ก็จะตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการบริโภคโดยรวมอาจจะไม่ได้รับผลกระทบไม่สูงมากและยังไปต่อได้
สำหรับ “แม็คโคร” ทำงานร่วมกับ SME มากกว่า 1 ล้านราย/วัน ทำให้เห็นความแตกต่างของ SME ที่เติบโตได้และSMEที่ยังไปไหนไม่ได้ไกล ในการช่วยเหลือให้ SME ที่เป็นเศรษฐกิจฐานรากเติบโตไปได้โดยเฉพาะ micro SME ก็คือการปรับตัว SMEแม้จะเล็กแต่เป็นคนตัวเล็กที่มีข้อได้เปรียบ คือความคล่องตัวและความรวดเร็วในการปรับตัว ผู้ผลิตรายใหญ่หลายรายที่แม็คโครทำงานด้วยบางรายยังสู้ SME รายเล็กๆไม่ได้ถ้าปรับตัวไม่เก่งโดยเฉพาะ 6 ประเด็นที่สำคัญคือ
1. ปรับรูปแบบสินค้าและบริการ ที่มาจากการเข้าใจผู้บริโภค ถ้าสามารถปรับได้อย่างรวดเร็ว ก็จะมียอดขายเข้ามา ลูกค้าหลายๆรายที่เป็นโชว์ห่วยบางเจ้าล้มหายใจจากไปเพราะมีห้างใหญ่ๆ มีร้านสดวกซื้อมาเปิดใกล้ๆ แต่ SME ที่เก่งในการปรับตัวจะสามารถปรับรูปแบบสินค้าและบริการเช่นนำอาหารแช่แข็ง สินค้าและบริการใหม่ๆการจ่ายบิลค่าน้ำ ค่าไฟและธุรกิจอื่นๆเพิ่มเติมเข้ามาเพิ่มเติมในร้าน เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคก็จะเติบโตไปได้
ส่วนฝั่งของผู้ผลิตที่ทำสินค้าเข้ามาขายให้กับ “แม็คโคร” จะต้องคิดค้นสินค้ารูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะกระแสสุขภาพลดหวาน-ลดเค็ม และ Ageing Population ถ้าเข้าใจผู้บริโภคก็จะปรับสินค้าได้รวดเร็ว เช่นกะแส “กัญชา” ในช่วงที่บูมผู้ประกอบการที่นำ “กัญชา” มาใช้ในสินค้าของตัวเองได้ ก็สามารถกวาดยอดขายได้อย่างรวดเร็ว
2. ช่องทางการขาย ต้องผลักดันธุรกิจแล้วเข้าสู่แพลตฟอร์ม e-commerce ในช่วงโควิดที่ผ่านมาผู้ประกอบการเจ้าไหนไม่ไปออนไลน์ถือว่าตกเทรนด์ ในขณะที่ผู้ประกอบการร้านอาหารที่เป็นคู่ค้ากับ แม็คโคร บางรายยอดขายลดลงไป 60% แต่บางรายกลับทำยอดขายสวนขึ้นมาเติบโตได้เพราะการขายผ่านออนไลน์ อย่างไรก็ตามแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่ใช่แค่เรื่องของโอกาสอย่างเดียว แต่คู่แข่งก็ตามมาด้วย โดยเฉพาะคู่แข่งจากจีนที่นำสินค้าเข้ามาในราคาที่ถูกกว่า 10%- 20% รวมทั้งเรื่อง packaging ที่ต้องปรับให้เหมาะสมกับการจัดส่งออเดอร์ออนไลน์ด้วย
3.ปรับขยายกลุ่มเป้าหมายลูกค้าใหม่ จากการขายในประเทศแข่งกับคู่แข่งในประเทศ แต่ปัจจุบันต้องขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์มีคู่แข่งจากทั่วโลก ดังนั้นต้องขยายกลุ่มเป้าหมายจากประดับภูมิภาคไประดับประเทศขยับไป CLMV และภูมิภาคอื่นๆ SMSที่สามารถทำได้ก็จะเติบโตไปได้เร็วและมีโอกาสเพราะมีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาช่วยมากขึ้น
4. รูปแบบการสื่อสาร SME ที่แข็งแรงสามารถใช้ช่องทางการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียในการทำการตลาดได้โดยไม่ต้องลงทุนมาก ไม่ต้องโฆษณา ซึ่งเดิมไม่ใช่พฤติกรรมของ SME อยู่แล้ว มีแต่ผู้ประกอบการเจ้าใหญ่ที่จะนำเงินลงทุนไปทุ่มกับค่าการตลาด แต่วันนี้ SME ที่เก่งสามารถโปรโมทแบรนด์ได้ดีเท่าแบรนด์ใหญ่ถ้ามีช่องทางโซเชียลมีเดีย มีอินฟลูเอนเซอร์ที่เก่งๆ เพราะฉะนั้นการตลาดจึงไม่ใช่เรื่องที่ SME จะสู้ไม่ได้ซะทีเดียว
5.การปรับองค์กรธุรกิจให้คล่องตัว หากสามารถทำได้ก็สามารถเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นSME จะต้องมีการปรับธุรกิจของตัวเองให้คล่องตัวอยู่เสมอ พัฒนาทักษะให้กับพนักงาน เพราะตอนนี้ค่าแรงงานเพิ่มขึ้นมากและกระทบกับ SME โดยตรง องค์กรที่มีต้นทุนเยอะ แบกภาระมากมาย จะไม่สามารถไปต่อได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นปรับโครงสร้างและใช้Outsourcingเข้ามาเสริม และ6.SMEจะต้องมี networkเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงกับหลายๆส่วนได้
“แม็คโคร เราทำแพลตฟอร์มในการช่วยให้ SME เติบโตไปได้อย่างยั่งยืน เรื่องแรกคือสนับสนุนช่องทางการขายที่ดีและใหญ่เช่น แม็คโคร โลตัสและอื่นๆ SME ก็จะมีโอกาสมาก 2 องค์ความรู้เรื่องเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยีใหม่ๆ 3การสนับสนุนให้สินค้าไทยไปต่างประเทศ ซึ่งสินค้าไทยเป็นที่นิยมโดยเฉพาะในเมียนมาร์ กัมพูชา สินค้าที่ติดฉลากภาษาไทยจะได้เปรียบ ทำให้ไม่ต้องปรับรสชาติ โรงงานสายการผลิตและควบคุมต้นทุนได้ แต่ความยากในไปขายต่างประเทศคือการจดทะเบียนอย่างไรให้ผ่านอย. ระบบโลจิสติกส์ในการจัดส่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกัน และสุดท้ายคือเรื่องของการควบคุมให้คุณภาพสินค้าไปตามที่ต้องการ”