กำลังซื้อ LGBTQ+แรง แนะรัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนตลาดแสนล้าน

08 มิ.ย. 2566 | 03:25 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มิ.ย. 2566 | 03:29 น.

เปิดข้อมูลเชิงลึกกลุ่ม LGBTQ+ เผย “ไทย” โกยรายได้ 2.26 แสนล้าน จากนักท่องเที่ยวทั่วโลกติดอันดับ 1 เอเชีย อันดับ 4 โลก “นฤมิตไพรด์” แนะรัฐบาลใหม่ส่งเสริมเป็น Soft Power ขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม

กลุ่ม LGBTQIAN+” กลายเป็นผู้บริโภคที่ถูกจับตามอง ด้วยพฤติกรรมและการใช้จ่าย ใช้ชีวิต ด้วยรสนิยมเรียบหรู ดูแพง เน้นแบรนด์เนม จึงเป็นที่หมายปองของแบรนด์ชั้นนำ จากข้อมูลของ LGBT Capital ระบุว่า ก่อนโควิด-19 มูลค่าตลาดหรือการใช้จ่ายของกลุ่ม LGBT ทั่วโลกอยู่ที่ 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือราว 135 ล้านล้านบาท

ขณะที่ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวจากกลุ่มนี้อยู่ที่ราว 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 2.26 แสนล้านบาท โดยปัจจุบันเมื่อเพศวิถีมีหลากหลายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQIAN+ หรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง คาดว่ามีความมั่งคั่งครัวเรือนอยู่ที่ 23 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก และเป็นตลาดใหญ่ด้านการท่องเที่ยวของโลก

LGBTQ+ แตะพันล้านคนในปี 93

จากการวิเคราะห์ของ GAY TIMES คาดการณ์ว่าในปี 2593 ทั่วโลกจะมีจำนวนประชากร LGBTQ+ ถึง 1,000 ล้านคน โดยอำนาจการใช้จ่ายรวมทั่วโลกของผู้บริโภคกลุ่มนี้อยู่ที่ประมาณ 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีหรือราว 136 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ประเทศต่างๆทั่วโลกรวมถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงมองการเจาะตลาด LGBTQIA+ เป็นอีกหนึ่งเซ็กเม้นท์ในการกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้าไทย

กำลังซื้อ LGBTQ+แรง แนะรัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนตลาดแสนล้าน

หากดูข้อมูลเชิงลึกพบว่า ในช่วงปี 2561-2562 ไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBT เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย (6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และอันดับ 4 ของโลก รองจาก สหรัฐอเมริกา (25.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ,สเปน ( 8.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และฝรั่งเศส (7.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBT ที่มีอยู่กว่า 500 ล้านคนทั่วโลก อยู่ในแถบเอเชีย 288 ล้านคน อันดับ 1 จะเป็นจีน อยู่ที่ราว 90 ล้านคน ตามมาด้วย อินโดนีเซีย 17 ล้านคน ญี่ปุ่น 8.2 ล้านคน ฟิลิปปินส์ 6.9 ล้านคน เวียดนาม 6.1 ล้านคน ส่วนในไทยมีประมาณ 4 ล้านคน ซึ่งในอนาคตจะมีประชากร LGBTQ+ แตะ 1,000 ล้านคน ในปี 2593

ขณะที่ “เทอร์ร่า บีเคเค” ระบุว่า กลุ่ม LGBTQ+ มีรายได้มากกว่ากลุ่มสถานะชายหญิง เมื่อเทียบกับคนในวัยเดียวกัน โดยมีรายได้ 50,000- 85,000 บาทต่อเดือน มีสัดส่วนมากกว่า 9% และในจำนวนนี้ 4% มีรายได้มากกว่า 85,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป โดยมีรสนิยมเรียบหรู ดูแพง เน้นแบรนด์และความน่าเชื่อถือเป็นหลักไม่เน้นตามเทรนด์เหมือนคนทั่วไป ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่ม LGBT มีอำนาจซื้อสูงนับเป็นโอกาสทางการตลาดที่สำคัญ ซึ่งแนวโน้มการเลือกซื้อของคนกลุ่ม LGBT จะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการเลือกซื้อสินค้าที่มีความน่าเชื่อถือของแบรนด์มากกว่ากลุ่มชายหญิง

กำลังซื้อ LGBTQ+แรง แนะรัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนตลาดแสนล้าน

 ใช้จ่ายสูงกว่าคนทั่วไป 7 เท่า

ส่วนพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ จะเดินทางอย่างน้อยปีละ 3-4 ครั้ง มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป 7 เท่า ส่วนใหญ่นิยมเดินทางมาเพื่อประกอบกิจกรรมที่ตนสนใจ ได้แก่ ถ่ายรูปเช็คอินร้านอาหารหรือจุดเด่นสำคัญ กีฬากลางแจ้งหรือกิจกรรม Soft Adventure รวมทั้งการท่องเที่ยว Nightlife นิยมสินค้าด้านความบันเทิงและสันทนาการ

รวมไปถึงสินค้าด้าน Health and wellness ซึ่งเป็นสินค้าที่ตรงตามความต้องการเสนอขายของไทย อีกทั้งชาว LGBTQ+ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่าสำหรับจุดหมายปลายทางในไทย จะนิยมเดินทางเที่ยวกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต เกาะสมุย และพัทยา

ดังนั้นที่ผ่านมาททท.จะจัดแคมเปญ GO Thai Be Free ผ่านสำนักงานททท.ในต่างประเทศเพื่อกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จากทั่วโลกเดินทางมาเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง และททท.ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรสนับสนุนการจัดงานเพื่อเจาะกลุ่มตลาด LGBTQIA+ รวมถึงปาร์ตี้สำหรับกลุ่ม LGBTQIA+ โดยนำเสนอกิจกรรมต่างๆผ่าน www.gothaibefree.com

กำลังซื้อ LGBTQ+แรง แนะรัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนตลาดแสนล้าน

รวมถึงเมื่อไม่นานมานี้ ททท.ก็ยังเข้าไปเจาะกลุ่ม BL (Boy’s Love) ในญี่ปุ่นให้เดินทางมาเที่ยวไทย ในการตามรอย ‘ซีรีส์วาย’ ซึ่งเป็นตลาดความสนใจเฉพาะกลุ่มที่มีการเติบโตที่ดี โดยเน้นสร้างคอนเทนต์โปรโมทการท่องเที่ยวไทยผ่านทั้ง อินสตาแกรม ไลน์ ทวิตเตอร์ ยูทูป Tik tok ซึ่งมีผู้ติดตามในทุกแพลตฟอร์มไม่ตํ่ากว่า 1 แสนบัญชี และผ่านมามองเห็นโอกาสในการเจาะตลาดเซ็กเม้นท์ใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสนใจพิเศษ อย่างกลุ่ม BL (Boy’s Love) ที่พบว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยกลุ่ม BL ในญี่ปุ่นมีความชื่นชอบและติดตาม “ซีรีส์วาย” ของประเทศไทยหรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า “Thai BL” เพิ่มขึ้น ทำให้ Thai BL Drama ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น นับจากปี 2562 ที่มีออนแอร์ 1 เรื่องเพิ่มขึ้นเป็น 32 เรื่องในปี 2564 และ 70 เรื่องในปี 2565 โดยมีผู้ติดตามซีรีส์วายไม่ตํ่ากว่า 1 ล้านคน

บางกอกไพรด์2023 กระหึ่ม

นางสาวชุมาพร แต่งเกลี้ยง ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด ผู้จัดงาน “บางกอกไพรด์ 2023” (Bangkok Pride 2023)  เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ต้องยอมรับว่ากำลังซื้อกลุ่ม LGBTQIAN+ มีศักยภาพและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดและกลายเป็นปรากฏการณ์

ทำให้การจัดกิจกรรมที่ผ่านมา มีธุรกิจเปิดกว้างและสนใจเข้าร่วมสนับสนุนจำนวนมาก เช่นงาน บางกอกไพรด์ 2023 (Bangkok Pride 2023) ที่พบว่ามีชาว LGBTQIAN+ และผู้สนใจเข้าร่วมงาน 5-7 หมื่นคน ถือเป็นแมส อีเว้นต์ที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่ง

กำลังซื้อ LGBTQ+แรง แนะรัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนตลาดแสนล้าน

“งานบางกอกไพรด์ 2023 เป็นงานที่ได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งเห็นได้จากพาร์ทเนอร์ที่เข้ามาสนับสนุนมากกว่าทุกครั้ง แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นโกลบอล แบรนด์ ขณะที่โลคอล แบรนด์ยังมีสัดส่วนที่น้อย แต่ก็มีพาร์ทเนอร์ในรูปแบบของร้านค้าย่อยที่เข้าร่วมกว่า 80 ร้านค้า ซึ่งเป็นร้านที่ติดต่อเข้ามาเองกว่า 50 ร้านค้า และมีร้านค้าที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากพันธมิตร เช่น สยามพิวรรธน์ ที่เชิญชวนให้ร้านค้าภายในศูนย์การค้าเข้ามาร่วมงานกับเรากว่า 30 ร้านค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโลคอล บิสิเนส”

การจัดแมส อีเว้นต์ทั่วโลก เช่นงาน โคเชลลา ซึ่งจะไม่มีสปอนเซอร์หลัก แต่จะเป็นการพาร์ทเนอร์กันเพื่อให้เกิดงาน เช่นเดียวกันบางกอกไพรด์ 2023 ไม่ได้มีสปอนเซอร์หลัก หรือสปอนเซอร์รายใหญ่ในการจัดงาน เพราะเป็นเวทีเปิดกว้างให้กับทุกภาคธุรกิจเข้าร่วมเป็นผู้สนับสนุนจัดงานมากมาย จึงมีพาร์ทเนอร์ในหลากรูปแบบ ประกอบด้วย 1. Rainbow Power by พาร์ทเนอร์ภาคธุรกิจที่ให้เงินสนับสนุนการจัดงาน

2.Proudly Support by พาร์ทเนอร์ที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก เช่น ให้ใช้พื้นที่หน้าศูนย์การค้า เช่น เซ็นทรัลเวิลด์, สยามเซ็นเตอร์, MBK หอศิลป์ ฯลฯ 3. Advocate by กลุ่มที่ทำงานในเรื่องการผลักดันนโยบายและกฎหมายรวมไปถึงการรณรงค์ สาธารณะ เช่น กทม., กรมคุ้มครองสิทธิ์, พ.ม. เป็นต้น 4. Countribute by ผู้ที่สนับสนุนลิขสิทธิ์ต่างๆเช่น ค่ายเพลง ที่ให้นำเพลงมาร้อง แสดงในงานโดยไม่มีค่าลิขสิทธิ์ และ 5. Community Backed by เจ้าของงานหรือผู้ที่อยู่เบื้องหลัง

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง

จี้รัฐบาลใหม่หนุนสู่ Soft Power

นางสาวชุมาพร กล่าวอีกว่า กลุ่ม LGBTQIAN+ จะเป็นผู้ขับเคลื่อน “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Creative Economy) โดยมีหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนให้เกิด Soft Power ใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1. ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งพบว่ามีกลุ่ม LGBTQIAN+ ชาวจีน และต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยจำนวนมาก และไทยยังติดอันดับเมืองน่าเที่ยวของชาว LGBTQIAN+ ด้วย

2. ด้านเอ็นเตอร์เทน อาทิ คลับ , สถานบันเทิง, กองประกวด ฯลฯ 3. ด้านคอนเทนต์ D.R.A.G /ซีรีส์วาย/ยูริ (Yuri) และ 4. ด้านเวลเนส-เมดิคอล ฮับ เช่น การแปลงเพศ, ฮอร์โมน, การดูแลสุขภาพหลังแปลงเพศ ฯลฯ ซึ่งพบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลขนาดใหญ่เตรียมความพร้อมรองรับกลุ่ม LGBTQIAN+ แล้ว

สำหรับโจทย์ที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการคือ 1. ส่งเสริมและสนับสนุนให้เป็น Soft Power อย่างจริงจัง 2. จัดทำรายงานเพื่อให้เห็นตัวตนของกลุ่ม LGBTQIAN+ ที่มีผลต่อด้านเศรษฐกิจ 3. จัดทำงบประมาณสนับสนุนให้ก้าวสู่ระดับโกลบอล เช่นเดียวกับประเทศเกาหลี ที่ส่งเสริม K-Pop ให้เป็น Soft Power ทำรายได้เข้าประเทศ

“การผลักดันนโยบายสมรสเท่าเทียม จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ของชาว LGBTQIAN+ ซึ่งปัจจุบันคาดว่าจะมีจำนวนมากถึง 7-10 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 4 ปีก่อนที่มีอยู่ราว 4 ล้านคน ทำให้เห็นถึงกำลังซื้อชาว LGBTQIAN+ ในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งต้องยอมรับว่า มีจำนวนมาก ทั้งการใช้จ่าย การเดินทางท่องเที่ยวมายังประเทศไทย ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และภาคธุรกิจ”

กำลังซื้อ LGBTQ+แรง แนะรัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนตลาดแสนล้าน

จัดแมส อีเว้นต์ยาวถึงสิ้นปี

หลังประสบความสำเร็จจากการจัดงานบางกอกไพรด์ 2023 ในปีนี้จะเห็นการจัดแมส อีเว้นต์ของชาว LGBTQIAN+ เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงาน This is Pride of Siamนำเสนอคอนเทนต์ จากค่ายหลัง ค่ายเพลง โดยความร่วมมือของกทม., สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ, สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ ฯลฯ ระหว่างวันที่ 30 มิ.ย. , 1-2 ก.ค. 2566, งาน Rainbow Marathon

งาน Rainbow Winter และงานนฤมิตไพรด์ Mass Queer wedding ซึ่งจะเกิดขึ้นหากกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ในปีหน้า บริษัทมีแผนจัดงานพาเหรดในรูปแบบเดียวกับบางกอกไพรด์ 2023 ในหัวเมืองใหญ่ 5 แห่ง ได้แก่ หาดใหญ่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต และพัทยา ด้วย

“วันนี้เชื่อว่าตัวเลขชาว LGBTQIAN+ ในไทยจะมีมากถึง 7-10 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วง 4-5 ปีก่อนที่มีอยู่ราว 4 ล้านคน และจะเป็นพลังขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจคึกคักขึ้นทั้งในเมืองหลวง และเมืองรองในอนาคต”

ทั้งนี้กิจกรรมการท่องเที่ยวในเดือน Pride 2023 มีจัดขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งเดือนมิ.ย. ได้แก่ ททท.เชียงใหม่เตรียมจัดงาน “AMAZING Chiang Mai Pride 2023” ระหว่างวันที่ 27 พ.ค.-30 มิ.ย. ส่วนกรุงเทพมหานคร มีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องตลอดทั้งเดือนมิถุนายน ไม่ว่าจะเป็น Bangkok Pride 2023, Connecting Pride ณ สามย่านมิตรทาวน์และสีลมเลจ

Pride Film Fest วันที่ 8-11 มิ.ย. ณ Sky Garden สามย่านมิตรทาวน์, งาน Pride Event ของดีสีรุ้ง วันที่ 17-21 มิ.ย. ณ ศูนย์การค้าเอ็นมาร์ค พลาซ่า, งาน This is Pride of Siam วันที่ 30 มิ.ย.-2 ก.ค.ณ สยามสแควร์ และงาน LGBTQI Biz 2033 วันที่ 16-18 มิ.ย. ณ เดอะริเวอร์ไซด์ พลาซ่า            

สำหรับกลุ่ม LGBTQIAN+ ประกอบไปด้วย L : Lesbian ผู้หญิงที่ชื่นชอบในบุคคลที่เป็นผู้หญิงด้วยกัน G : Gay บุคคลที่ชื่นชอบในบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ และรสนิยมทางเพศตรงกับตนเอง โดยในบริบทของสังคมไทยจะเข้าใจว่าเกย์ คือ เพศชายที่ชื่นชอบในบุคคลที่เป็นเพศชายด้วยกัน B : Bisexual คนที่ชื่นชอบได้ทั้งเพศเดียวกันและเพศตรงข้าม

T : Transgender บุคคลที่มีการแสดงอัตลักษณ์ทางเพศตรงข้าม และแตกต่างไปจากเพศกำเนิดของตัวเอง Q : Queer เป็นการใช้คำที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ นำมาใช้เพื่ออธิบายอัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศของตัวเอง ที่แสดงให้เห็นถึงความไม่มีกรอบในการเข้ามากำหนดเกี่ยวกับเรื่องเพศ

I : Intersex บุคคลที่มีสรีระทางเพศ หรือแบบโครโมโซมที่มีลักษณะกำกวม ไม่ตรงกับสรีระชายหรือหญิง หรืออาจจะมีลักษณะทั้งชายและหญิง โดยผู้ที่สามารถวินิจฉัยได้ จะเป็นบุคคลากรทางแพทย์ A : Asexual บุคคลที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศต่อบุคคลอื่น ไม่ว่าในสถานการณ์ไหนก็ตาม

และ N : Non-Binary เป็นคำศัพท์ที่ใช้เพื่อทำให้เห็นอัตลักษณ์ทางเพศ หรือการแสดงออกทางเพศ ว่าอยู่นอกเหนือการจัดหมวดเรื่องเพศที่มีเพียงแค่เพศชายและเพศหญิง นอกจากนี้ยังเป็นคำที่ทลายการจัดระเบียบบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศว่าจะต้องดำรงชีวิต มีแนวปฏิบัติที่ให้สอดคล้องกับเพศหญิง หรือเพศชายเท่านั้น