“ธุรกิจโรงพยาบาล” ที่เคยมีรายได้เป็นกอบเป็นกำในช่วงโควิด-19 กลับเข้าสู่ฐานเดิม โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในปี 2566 รายได้ของโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ น่าจะขยายตัว 3.7% ชะลอลงจากปี 2565 จากกลุ่มผู้ป่วยโควิดที่ลดลง และจะปรับเข้าสู่ฐานเดิมก่อนโควิดจากแรงหนุนคนไข้ต่างชาติที่ทยอยกลับมาตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
โดยเฉพาะตลาดคนไข้หลักอย่างตะวันออกกลาง ที่คาดว่าจะเข้ามาใช้บริการจำนวนมากในช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนไข้ต่างชาติ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) รวมถึงคนไข้ไทย ทั้งกลุ่มประกันสังคมและกลุ่มคนไข้ทั่วไป ที่คาดว่าจะกลับมาใช้บริการเพิ่มขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตามกำไรของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนยังเผชิญแรงกดดันจากหลายปัจจัย ทั้งฐานที่สูงในปีก่อน ทำให้ไตรมาสแรกของปี 2566 มีกำไรลดลง 42% ขณะที่ช่วงที่เหลือของปีนี้ถูกกดดันจากต้นทุนที่ยังสูง ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ตลอดจนการลงทุนในเครื่องมือหรืออุปกรณ์การแพทย์ใหม่ๆ
อีกประเด็นคือการแข่งขันทางธุรกิจที่เริ่มมองเห็นสัญญาณรุนแรงขึ้นจากทั้งผู้เล่นรายเดิมและผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามาขยายการลงทุนสวนทางกับกำลังซื้อที่มีศักยภาพของคนไข้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่หรือมีจำกัด ส่งผลให้คาดว่ากำไรของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนทั้งปี 2566 น่าจะลดลงราว 8.5%
หากย้อนมาดูผลประกอบการของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่ทยอยแจ้งผลประกอบการออกมาพบว่ามีทิศทางที่ลดลงของรายได้และอัตรากำไรอย่างมีนัยสำคัญ โดย บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) ยังคงรักษาการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้แผนการรุกตลาดด้วย Digital Health Tech และ เร่งสร้างซินเนอร์ยีกับโรงพยาบาลเครือข่ายและสตาร์ทอัพ ทำให้ในภาพรวมนับว่ามีการเติบโตจากช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะโรงพยาบาลในระดับทุติยภูมิทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด จากโรคประจําฤดูกาลในช่วงปลายไตรมาส
สะท้อนผ่านผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2566 หลังปรับตัวเข้าสู่ฐานปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาด รายได้รวมลดลง 5.9% อยู่ที่ 2,515 ล้านบาทลดลงจาก 2,674 ล้านบาท โดยมีรายได้จากธุรกิจให้บริการทางการแพทย์และรายได้จากโรงพยาบาลธนบุรี ตรัง ที่ยังเติบโตชดเชยกับรายได้โควิด-19 ที่หายไป ประกอบกับการบริหารจัดการต้นทุนทําให้อัตรากําไรขั้นต้นสูงขึ้นกว่าฐานปกติก่อนโควิด
นอกจากนี้ยังขยายบริการคลินิกสุขภาพ ในสถานีบริการน้ำมันพีทีทีสเตชั่น ภายใต้ชื่อ “พรีเมียร์ เฮลท์ คลินิก” ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลธนบุรี บํารุงเมือง ซึ่งจะเริ่มมีรายได้เกิดขึ้นในไตรมาส 3 ปี 2566 ทำให้ผลการดําเนินงานงวด 6 เดือน ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้รวม 5,023 ล้านบาท ลดลง 19% จาก 6,204 ล้านบาท กําไรสุทธิ 402 ล้านบาท ลดลง 58.3% จํานวน 964 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สําหรับแนวโน้มครึ่งปีหลังของปี 2566 รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง สําหรับแผนการลงทุนคาดว่าจะมีการประกาศแผนที่ชัดเจนภายในไตรมาส4 สําหรับการลงทุนในเวียดนาม ในส่วนของศูนย์บริการตรวจสุขภาพเชิงลึก BeWell Wellness Clinic ในนครโฮจิมินห์ ก็มีความคืบหน้า สามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2567
นายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG กล่าวว่าธุรกิจเฮลท์แคร์ครึ่งปีหลัง 2566 ยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก โดยเฉพาะโรงพยาบาลในระดับทุติยภูมิทั้งในกรุงเทพฯและส่วนภูมิภาค ซึ่ง 1 - 2 เดือนที่ผ่านมาหลายโรงพยาบาลเครือ THG เริ่มเห็นสัญญาณบวก โดยเฉพาะโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาคขณะที่กลุ่มผู้ป่วยต่างชาติ โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว ก็เดินทางเข้ามารับการรักษาเกือบเต็มอัตราปกติไปจนถึงปลายปี
THG ยังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนต่อยอดขยายธุรกิจใหม่ๆ รวมทั้งเตรียมขยายบริการทางการแพทย์เพิ่มเติมในเมียนมาร์ หลังจากโรงพยาบาล Ar Yu International ติดตลาดได้รับการยอมรับจากลูกค้าว่าเป็นโรงพยาบาลระดับท็อปในเมียนมา และทำกำไรให้ THG ต่อเนื่อง ส่วน เวียดนามมีแผนศึกษาความเป็นไปได้ที่จะขยาย BeWell Wellness Clinic เพิ่มในอีก 2 เมือง ได้แก่ ดานัง และ โฮทรัม โดยคาดว่าเวียดนามจะเป็นอีกพื้นที่สำคัญในอนาคตของ THG เช่นเดียวกับเมียนมา”
ขณะที่บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC ก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กลับเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงปกติ ส่งผลให้รายได้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ที่เกี่ยวข้องกับโควิดลดลงเป็นอย่างมาก สวนทางกลับรายได้ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิดที่เพิ่มขึ้น
จากความต้องการทางการแพทย์ที่หยุดชะงักไปในช่วงโควิดกลับเข้ามารับการรักษาสังคมสูงวัย และการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่บวกกับคนไข้ต่างชาติกลับเข้ามาใช้บริการหลังการเปิดประเทศ ส่งผลให้มีรายได้รวม 1,285.0 ล้านบาท ลดลง 26.6% เป็นผลมาจากการลดลงของรายได้ฝั่งบริการทางการแพทย์ที่ทำรายได้เพียง 1,146.7 ล้านบาท ลดลง 30.4% และสามารถทำกำไรรวม 191.6 ล้านบาท ลดลง 65.3%
นอกจากรายได้จากบริการทางการแพทย์ที่ลดลงแล้วยังมีปัจจัยด้านต้นทุนพนักงาน และต้นทุนค่าแพทย์ ต้นทุนค่าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ส่งผลต่อเนื่องให้ผลประกอบการของงวด 6 เดือน PRINC มีรายได้รวม 2,495.3 ล้าน บาทลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 35% กําไรขั้นต้น 403.4 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 865.2 ล้านบาท ต้นทุนทางการเงิน 103.9 ล้านบาท ส่งผลให้เกิดผลขาดทุนสําหรับ งวด 6 เดือนที่ 540.0 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในครึ่งปีหลังของปี 2566 PRINC มีแผนเพิ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลต่าง ๆ การขยายธุรกิจทั้งในส่วนของโรงพยาบาล และส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเฮลท์แคร์ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนุนให้ผลประกอบการจะดีขึ้นได้
ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ที่มีผลประกอบการเป็นบวกและเติบโตสวนการคาดการณ์จากการขยายตัวของผู้ป่วยต่างชาติเป็นหลักให้เห็นเช่นกัน อาทิเช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งรายได้รวมของไตรมาส 2 ปี 2566 อยู่ที่ 6,147 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.1% จาก 4,954 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2565 กําไรสุทธิเพิ่มขึ้น 49.9% เป็น 1,748 ล้านบาท จาก 1,166 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ปี 2565
สําหรับครึ่งปีแรกของปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 12,235ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.4% จาก 9,106 ล้านบาท และมีกําไรสุทธิเพิ่มขึ้น 76.2% เป็น 3,331 ล้านบาท จาก 1,891 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าโดยรายได้หลักยังคงมาจากกิจการโรงพยาบาล 12,079 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.1% จาก 9,005 ล้านบาท ในครึ่งปีแรกของปี 2565 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติ 49.7%และผู้ป่วยชาวไทย 11.6%
ขณะที่บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือโรงพยาบาลกรุงเทพ มีผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 รวม 24,372 ล้านบาท เติบโต 11%จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่ารักษาพยาบาล 10% จากการเติบโตของ ศูนย์การแพทย์แห่งความเป็นเลิศ ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของรายได้จากผู้ป่วยชาวต่างชาติ 22% และรายได้จากผู้ป่วยชาวไทย 7% และมีกำไรสุทธิ 3,063 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่งบการเงินงวด 6 เดือนแรกมีรายได้ 48,685 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จาก ครึ่งปีแรกของปี 2565 โดยมีปัจจัยหนุนคือการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่ารักษาพยาบาล 7% ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการเติบโตของรายได้ผู้ป่วยชาวต่างชาติ 30% ขณะที่รายได้จากฝั่งผู้ป่วยชาวไทยยังมีอัตราใกล้เคียงกับครึ่งปีแรกของปี 2565 เนื่องจากการลดลงของรายได้ที่เกี่ยวกับ COVID-19 ในขณะที่รายได้ผู้ป่วย Thai-Non COVID เติบโตสูง ถึง 25% จากครึ่งปีแรกของปี 2565 ทำให้ภาพรวมมีกำไรสุทธิกว่า 6,533 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7%
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,915 วันที่ 20 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2566