อดีตผู้พัฒนาแอปเป๋าตัง เสนอแนวคิด 8 ข้อแจกเงินดิจิทัล 10000

23 ส.ค. 2566 | 08:05 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ส.ค. 2566 | 03:14 น.

อดีตผู้พัฒนาแอปเป๋าตัง เสนอแนวคิด 8 ข้อ โครงการ digital wallet พรรคเพื่อไทย ประกาศขับเคลื่อนแจกเงินดิจิทัล 10000 บาท หลัง “เศรษฐา ทวีสิน” ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

นายสมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตที่ปรึกษา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย พัฒนาเว็บไซต์ลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกัน และแอปเป๋าตัง  ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กส่วนตัว Chao Jiranuntarat   เกี่ยวกับการแจกเงินดิจิทัล 10000 บาทของพรรคเพื่อไทยว่า มีคนพูดถึง โครงการ digital wallet ของพรรคเพื่อไทยมากพอสมควร โดยเฉพาะในวงการ tech ว่าการที่จะใช้เทคโนโลยี blockchain มีความเหมาะสม หรือไม่ เพียงใด

อย่างไรก็ตามจะไม่พูดว่า blockchain เหมาะสมหรือไม่ เพราะคิดว่า เราควรจะตั้งโจทย์ให้ชัดเจน แล้วจึงจะหา เครื่องไม้ เครื่องมือ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ไปใช้เพื่อตอบโจทย์นั้นๆ แต่ไม่ควรที่จะเอาเทคโนโลยีเป็นโจทย์เสียเอง ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ผมไม่ค่อยถนัด

ขอเสนอข้อคิด เวลาจะทำ digital wallet ระดับชาติ จากประสบการณ์ส่วนตัว โดยขอสรุปปัจจัยสำคัญ ดังต่อไปนี้

1. Identity proof การพิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้ใช้งาน จะทำอย่างไร วิธีไหน ใช้เวลาเท่าไร หากจะต้องทำใหม่กับคน 50 ล้านคน ใครจะทำ จะใช้ identity assurance ระดับไหน

2. Scalability เป็นเรื่องสำคัญสุดๆ หาก scale ไม่ได้ ระบบต้องหยุดทำงาน ใครจะมาแก้ปัญหา ในประเทศไทยระบบการเงินที่มีคนใช้มากสุดคือเป๋าตัง เคยรับได้ 40 ล้านคน ระบบที่จะสร้างใหม่ให้รองรับได้ 56 ล้านคน คนทำต้องเคยทำระบบระดับไหนถึงจะสามารถวางใจได้ และเราจะใช้เทคโนโลยีอะไร ออกแบบอย่างไร จึงจะตอบโจทย์ได้

นายสมคิด จิรานันตรัตน์

3. Location of household (latitude, longitude) จะใช้วิธีไหน ตอนไหนที่จะแปลงที่อยู่ในบัตรประชาชน เป็น location จะเป็น อุปสรรคของระบบไหม หรือต้องหาวิธีแก้อย่างอื่นมาทดแทน เช่น อาจจะแบ่งเป็นโซนๆ ก็ได้

4. Physical ID authentication สำหรับคนไม่ใช้มือถือ จะใช้บัตรประชาชนจ่ายเงินอย่างไร จึงจะพิสูจน์ตัวตน และยืนยันได้

5. Operation (IT, non-IT) ใครจะเป็นคนดูแล operation ทั้งทาง IT และ non IT รวมถึงตอนที่ต้องตอบคำถาม สื่อสาร แก้ปัญหา ให้แต่ละภาคส่วน

6. Fraud detection จะป้องกันการโกงอย่างไร จะตรวจสอบร้านค้า และมีวิธีการลงโทษหรือไม่อย่างไร จะสร้างทีมเรื่องนี้อย่างไร

7. Data ownership and privacy ใครเป็นเจ้าของข้อมูล จะดูแลเรื่องความสมดุลของการเปิดเผยและความเป็นส่วนตัวอย่างไร จะดูแล data governance อย่างไร

8. Built up towards Digital economy การมีแพลทฟอร์มขนาดใหญ่ จะสร้างประโยชน์ต่อเนื่องให้สังคมอย่างไร จะมีแนวคิดที่จะทำเป็นแพลทฟอร์มแบบเปิด และต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจ สังคมและ สร้างโอกาสใหม่ๆได้อย่างไร.