นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ เจ้าของและผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ ไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ เปิดเผยว่า กลุ่มสยามพิวรรธน์ ได้วางยุทธศาสตร์เพื่อขานรับนโยบายรัฐบาล ในการขับเคลื่อนประเทศผ่านการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว
โดยในไตรมาส 4 ของปีนี้บริษัทจะใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ใช้อยู่ราว 500-600 ล้านบาท เพื่ออัดฉีดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้นและเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ในปีนี้คือ 30 ล้านคน
ประกอบไปด้วย 4 กลยุทธ์ ได้แก่ 1. เปิดร้าน Luxury brands ใหม่เพิ่มขึ้น 20 ร้านค้าในไตรมาส 4 ซึ่งหลายแบรนด์เป็นการลงทุนเปิดสาขาแรกในไทย การจัด Pop-up store และงานอีเวนต์ระดับโลก ร่วมกับแบรนด์ต่างๆ มากกว่า 40 แบรนด์ไปจนถึงสิ้นปี 2567 รวมทั้งขยายพื้นที่ให้กับลักชัวรี แบรนด์ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้าจากทั่วโลกมากขึ้น
2. ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ฯลฯ จัด World Class Event และการประชุมนานาชาติ เพื่อดึงดูดนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ ที่มีกำลังซื้อสูงจากทั่วโลก รวมทั้งร่วมมือกับพันธมิตรใน Global Ecosystem ทั้งสายการบิน ธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว ภัตตาคาร เพื่อรองรับการจัดงานหลากหลายรูปแบบ ส่งเสริมธุรกิจ MICE และสนับสนุนประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางการจัดประชุมนานาชาติของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ สยามพิวรรธน์ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการอีเวนต์รายใหญ่ของโลกในการร่วมลงทุนกันสร้างศูนย์ประชุมและการแสดงเพิ่มเติม โดยในไตรมาส 4 นี้จะลงทุนจัดกิจกรรมระดับชาติครั้งยิ่งใหญ่ในทุกศูนย์การค้ารวมกันถึง 40 กิจกรรม ด้วยงบประมาณ 1,000 ล้านบาท อาทิ ไอคอนสยามเคาท์ดาวน์ 2024 เป็นต้น
3. การร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการยกระดับกรุงเทพฯ ให้เป็นศูนย์กลางศิลปะระดับโลก โดยเตรียมแผนเสนอรัฐบาลที่จะปั้นให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะจัดงานศิลปะระดับโลกให้เกิดขึ้นเพื่อดึงดูดบุคคลในวงการศิลปะเข้ามาในประเทศไทย อาทิ งาน Art Basel และ Frieze เป็นต้น ซึ่งจะทำให้บรรดาศิลปินไทยได้มีโอกาสแสดงผลงานร่วมกับศิลปินระดับโลกด้วย
“สยามพิวรรธน์มีนโยบายที่จะเปิดศูนย์ศิลปะริเวอร์มิวเซียม ชั้น 8 ไอคอนสยาม ในปี 2569 ด้วยพื้นที่ 8,000 ตร.ม. ซึ่งจะเป็นมิวเซียมมาตรฐานโลกแห่งแรกของประเทศไทยที่สามารถรองรับงานศิลปะ master piece ระดับโลกได้ทัดเทียมกับมิวเซียมชั้นนำในประเทศต่างๆ ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะดึงดูดบุคคลสำคัญในวงการศิลปะและบรรดา นักสะสมงานศิลปะจากทั่วโลกเข้ามาในประเทศไทย นับว่าเป็นกลุ่มท่องเที่ยวคุณภาพสูงกลุ่มใหม่ที่จะต่อยอดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีในระยะยาว”
กลยุทธ์ที่ 4 คือ การปั้น Soft power ของไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์และต่อยอดสู่เวทีโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ภาพยนตร์ แฟชั่น ดีไซเนอร์ และอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทประสบความสำเร็จจากการสร้างเมืองสุขสยาม ซึ่งเป็นการนำผู้ประกอบการ SMEs และพ่อค้าแม่ค้าจาก 77 จังหวัด กว่า 6,000 ราย มารวมตัวกันนำเสนออัตลักษณ์ไทยรูปแบบต่างๆ
ซึ่งมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมไม่ตํ่ากว่าวันละ 7 หมื่นคน นอกจากนี้ยังมีการสร้างแบรนด์สินค้าของคนไทยผ่านธุรกิจรีเทลของสยามพิวรรธน์ ได้แก่ ICONCRAFT, ODS และ ECOTOPIA ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนใจเข้ามาซื้อแฟรนไชส์ไปเปิดให้บริการในต่างประเทศทั้งที่ญี่ปุ่นและมาเลเซีย
“การทุ่มพละกำลังของสยามพิวรรธน์เดินหน้าอย่างเต็มที่ในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวในไตรมาส 4 นี้ให้เข้ามาได้ 30 ล้านคนตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ ขณะเดียวกันก็จะทำให้รายได้ ในไตรมาส 4 นี้เติบโตขึ้นราว 20% จากไตรมาส 3 อย่างไรก็ดีบริษัทยังเตรียมจัดงบประมาณเพิ่มอีกเท่าตัวในปีหน้า เพื่อเดินเครื่องหนุนการท่องเที่ยวของไทยตามนโยบายของรัฐบาล
โดยมั่นใจว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำให้การท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นจุดแข็งที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม สร้างปรากฏการณ์ ปักหมุดให้ประเทศเป็นจุดหมายปลายทางแรกที่ต้องมาเยือนสำหรับนักท่องเที่ยวและนักเดินทางจากทั่วโลก”
นางชฎาทิพ กล่าวอีกว่า 8 เดือนแรกที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการทั้ง 5 ศูนย์การค้าของสยามพิวรรธน์จำนวน 14 ล้านคน เพิ่มขึ้น 46% จากปีก่อน โดยมียอดการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยที่ 8,500 บาท/คน/วัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 5,500 บาท/คน/วัน โดยตัวเลขที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีคุณภาพ
มีการใช้จ่ายสูงโดยเฉพาะกลุ่มตะวันออกกลาง และคาดว่าจนถึงสิ้นปีจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการ 22 ล้านคน โดย 5 อันดับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาใช้บริการในศูนย์การค้ากลุ่มสยามพิวรรธน์ ได้แก่ จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์