นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยเบฟ เปิดเผยว่า ไทยเบฟให้ความสำคัญเรื่องของความยั่งยืน จึงขับเคลื่อนกลยุทธ์ภายใต้แนวคิด “สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน” (Enabling Sustainable Growth) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ พร้อมกับดำเนินกลยุทธ์ในการเสริมแกร่งให้กับตราสินค้าและสถานะในตลาดสำหรับทุกกลุ่มธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน
โดยในปี 2567 (ต.ค. 66-ก.ย.67) บริษัทใช้งบลงทุนกว่า 7,000 ล้านบาท ในการเดินหน้าธุรกิจเพื่อขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียน+9 ซึ่งปัจจุบันก้าวกระโดดไปทำตลาดในหลายประเทศ ภายใต้กลยุทธ์การเติบโต (GROWTH) ใน 3 Pillars ได้แก่ Balanced Market Diversification, Extensive Product Portfolio และ Fulfill New Consumer Needs
แบ่งเป็นการลงทุนตั้งโรงงานเครื่องดื่มทั้งแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์ในกัมพูชาและลาว 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นฐานการผลิตใหญ่รองรับตลาด CLMV และยังคอนเน็คสู่ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดสำคัญแห่งหนึ่ง และทำให้ไทยเบฟมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้าในอนาคต ส่วนที่เหลือจะเป็นการลงทุนในประเทศไทยทั้งด้านโลจิสติกและความยั่งยืน ฯลฯ
“ปัจจุบันไทยเบฟติด Top 10 ในเอเชีย (อยู่อันดับ 9) ซึ่งต้องยอมรับว่าการแข่งขันในตลาดอาเซียนทุกคนยากหมด และแม้เราจะไปประเทศเขา เราไปจีน แต่แบรนด์จีน อย่างเหมาไถ่ (อันดับ 1 ในเอเชีย) ก็มาเปิดสำนักงานขายในไทย แสดงว่า แม้เราจะไปบุกเขา เขาก็มาบ้านเราเหมือนกัน”
วันนี้แม้ไทยเบฟจะเข้าไปในตลาดจีน แต่เป็นการเข้าไปเพื่อเรียนรู้ และเข้าใจในธุรกิจของจีน โดยเราต้องการสร้างพาร์ทเนอร์ชิพ ที่จะช่วยในวันที่จีนเปิดประเทศให้เราเข้าไป เราก็พร้อมจะเข้าไปได้ทันที ซึ่งที่ผ่านมาเราก็มีการเข้าไปร่วมทุนกับจีนบ้าง แต่เล็กน้อยเท่านั้น
นอกจากนี้ไทยเบฟยังมีเข้าไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ ด้วยการเข้าซื้อธุรกิจลาร์เซน คอนญัก (Larsen Cognac) ในประเทศฝรั่งเศส และคาร์โดรนา ดิสทิลเลอรี่ (Cardrona Distillery)ในนิวซีแลนด์ โดยการเข้าซื้อธุรกิจในครั้งนี้ นับเป็นก้าวแรกของกลุ่มในการเข้าสู่ตลาดคอนญักและตลาดสุราโลกใหม่ (New World Spirits)
ส่วนการเข้าจดทะเบียนหุ้นสามัญของบริษัท BeerCo Limited ในตลาดสิงคโปร์ ซึ่งเลื่อนออกไปตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2565 นั้น นายฐาปน ยืนยันว่า จะยังคงเดินหน้าเข้าระดมทุนเช่นเดิม ควบคู่ไปกับการเจรจาหาพันธมิตรในการร่วมลงทุนอื่นๆในอนาคต ซึ่งวันนี้แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่บริษัทต้องเตรียมความพร้อม เมื่อตลาดพร้อมไทยเบฟจะเป็นบริษัทแรกๆ ที่ก้าวเข้า IPO ทันที
“การจับมือกับพาร์ทเนอร์จะช่วยเพิ่มสปีดในการแข่งขัน ขณะเดียวกันการร่วมมือกันจะช่วยรวมพลัง และตอบสนองลูกค้าได้ดีกว่า และสำเร็จได้ดีกว่า เพราะวันนี้การเดินหน้าไม่ใช่ใหญ่ที่สุด กำไรมากที่สุดแล้วจะอยู่รอดในอนาคต ซึ่งภายในปี 2568 จะเห็นว่าบริษัทใดอยู่รอด บริษัทใดอ่อนแอ และใครจะได้ไปต่อ ในช่วง 2 ปีนี้ ถือเป็นช่วยเปลี่ยนผ่าน หัวเลี้ยวหัวต่อ”
สำหรับผลประกอบการของไทยเบฟ ในช่วง 9 เดือนแรก (ต.ค.65-มิ.ย.66) มีรายได้รวม 215,893 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% แบ่งออกเป็น ธุรกิจสุรา 93,673 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% ธุรกิจเบียร์ 93,262 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.7% ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 14,822 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.6% และธุรกิจอาหาร 14,296 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.2%
“ไทยเบฟยังคงมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งและกระแสเงินสดอิสระที่ดี การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของการบริโภคในประเทศจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินั้นถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ในขณะเดียวกัน ไทยเบฟก็ตระหนักดีว่าแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง อาจยังคงส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคต่อไป”
นายฐาปน กล่าวอีกว่า วันนี้เศรษฐกิจกำลังจะเปิดกว้าง ด้วยนโยบายต่างๆของรัฐบาลนายกฯเศรษฐา ทวีสิน เชื่อมั่นว่าจะดึงนักธุรกิจ สร้างความเชื่อมั่นจากนโยบายต่างๆภาคธุรกิจเองก็ช่วยประคับประคองให้ประเทศเดินหน้าต่อได้ ส่วนเรื่องสุราเสรี ที่ผ่านมาประเทศไทยเปิดเสรีสุรามาตั้งแต่ปี 2543 และมีการเติบโตมีการพัฒนามาต่อเนื่อง ขณะที่เมื่อมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามา ก็จะช่วยขับเคลื่อนให้ธุรกิจมีการขายตัว แต่ทั้งหมดนี้ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ กติกาเดียวกัน