‘ไข่หวานบ้านซูชิ’ ปั้นโมเดลใหม่ Go เจาะชุมชน

11 ก.พ. 2567 | 05:40 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.พ. 2567 | 05:43 น.

“ไข่หวานบ้านซูชิ” มั่นใจเทรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นปีมังกรยังร้อนแรง เดินหน้าลุยธุรกิจแฟรนไชส์ ตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มเป็น 300 สาขา พร้อมเปิดตัวโมเดลใหม่ “ไข่หวานบ้านซูชิ Go” เสิร์ฟซูชิด้วยมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าเข้าถึงแหล่งชุมชน มั่นใจกวาดรายได้ 80-90 ล้านบาท

นางอมรา ไทยรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไข่หวานบ้านซูชิ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง ด้วยการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ แต่ก็มีปัจจัยที่คาดว่าจะกระทบต่อธุรกิจที่ต้องเฝ้าระวัง เช่น นโยบายปรับขึ้นค่าแรง อาจเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจ และธุรกิจบริการอาหารญี่ปุ่นยังต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จากผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาในตลาด

ปัจจุบันเทรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นยังเป็นที่ต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากอาหารญี่ปุ่นสามารถรับประทานได้ทั้งอาหารหลัก และอาหารทานเล่น ทำให้ทานได้ทุกวันหรือแทบจะเป็นอาหารที่สองรองจากอาหารไทย ซึ่งไม่เหมือนกับร้านชาบูหรือร้านปิ้งย่าง ที่ไม่สามารถรับประทานได้ทุกวันนี้คือข้อได้เปรียบของซูชิ อีกทั้งตอนนี้เทรนด์สุขภาพกำลังมาแรง ไข่หวานบ้านซูชิ ก็ตอบโจทย์ เนื่องจากวัตถุดิบเป็นปลาแซลมอน ซึ่งคนที่ออกกำลังกายชอบทานเป็นอย่างมาก เราจึงเห็นเทรนด์ตรงนี้ และได้ขยายเมนูอาหารเพื่อตอบโจทย์ เช่น ยำสาหร่าย สลัดปลาแซลมอน สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือ การควบคุมมาตรฐานของวัตถุดิบ และการตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ให้สามารถกลับมาใช้บริการอีกครั้ง

‘ไข่หวานบ้านซูชิ’  ปั้นโมเดลใหม่ Go เจาะชุมชน

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายขยายสาขาให้ได้ 300 สาขา จากปัจจุบันที่มีอยู่ 260 สาขา และเปิดตัวโมเดลใหม่คือ “ไข่หวานบ้านซูชิ Go” แฟรนไชส์ขนาดเล็กที่ใช้มอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าเข้าถึงตามแหล่งชุมชนต่าง ๆ รวมทั้งพัฒนาสินค้าใหม่ ได้แก่ “ซอสโชยุ” ออกวางจำหน่าย และแผนขยายธุรกิจต่างประเทศ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาตลาดในประเทศจีน เนื่องจากจีนชื่นชอบอาหารทะเลเป็นอย่างมาก ซูชิก็ถือตอบโจทย์เป็นอย่างดี

“ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ร้านอาหารญี่ปุ่นเข้าถึงยากและมีราคาที่สูง จึงอยากตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในอีกหลายๆ กลุ่มให้สามารถหาทานได้ง่าย ราคาจับต้องได้ และเข้าถึงทุกเพศทุกวัย ด้วยราคาเริ่มต้นที่ 10-45 บาท มากกว่า 100 ประเภท และการเลือกเปิดแบรนด์นี้เพราะมองเห็นช่องทางธุรกิจที่บริหารและจัดการได้ง่าย ไข่หวานบ้านซูชิให้ความสำคัญกับมาตรฐานวัตถุดิบ และการดูแลใส่ใจกลุ่มลูกค้า จึงทำให้สร้างฐานลูกค้าที่กว้างมากขึ้น

โดยจุดแข็งคือ ระบบ “แฟรนไชส์” ที่มีการวางมาตรฐานอย่างเข้มงวดตั้งแต่การคัดเลือกผู้เข้าร่วมลงทุน การจัดอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้และทักษะที่จำเป็น ไปจนถึงการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยการลงทุนเริ่มต้นหลักแสนบาท และไม่มีการเก็บส่วนแบ่งกำไร หรือค่า GP เพิ่ม จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์แฟรนไชส์มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราเฉลี่ย 30-50% ต่อปี อีกทั้งระบบยังช่วยลดการทุจริต ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญมากในการบริหารธุรกิจ”

นางอมรา กล่าวอีกว่าจุดแข็งของธุรกิจนี้คือ “ทำเลที่ตั้ง” ซึ่งจะมีทั้ง สแตนด์อะโลน, ตลาด, คอมมูนิตี้มอลล์, ปั๊มน้ำมัน, และห้างสรรพสินค้า เพราะมองเทรนด์ในการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ตอนนี้ไข่หวานบ้านซูชิมีพาร์ทเนอร์ เป็นแม็คโคร โลตัส และบางจาก โดยปัจจุบัน บางจากเข้าซื้อ เอสโซ่ ทำให้มีสาขาที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยกลุ่มลูกค้าที่ตรงกัน ทำให้มีโอกาสในการขายได้มากขึ้น

จากข้อมูลองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ พบว่า จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา โดยล่าสุด (ต.ค. 2566) ประเทศไทยมีร้านอาหารญี่ปุ่นทั้งสิ้น 5,751 ร้าน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 426 ร้าน หรือเติบโต 8% เพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยซูชิ ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น และราเมง เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดตามลำดับ

สำหรับผลประกอบการของบริษัทในปีที่ผ่านมา คาดว่าจะมีรายได้รวม 80-90 ล้านบาท มีกำไรประมาณ 30 % เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีรายได้ 65 ล้านบาท กำไรราว 10 ล้านบาท 

 

หน้า  16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,965 วันที่ 11 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567