ลุย Red Ocean ร้านกาแฟดัง พาเหรด ปักธงชิงตลาด 6 หมื่นล้าน

11 เม.ย. 2567 | 04:20 น.
อัปเดตล่าสุด :11 เม.ย. 2567 | 04:36 น.

ตลาดกาแฟ 6 หมื่นล้าน บนน่านน้ำทะเลแดงเดือด จับตาเชนร้านกาแฟดัง “สตาร์บัคส์-เดอะคอฟฟี่ คลับ-พาคามาร่า คอฟฟี่ โรสเตอร์” แห่ทุ่มเงินชิงทำเลทอง ปักหมุดสาขาใหม่ พัฒนาเมนู อัดโปรแรงสร้างรอยัลตี้ กลุ่มคนทำงาน วัยรุ่น

KEY

POINTS

 

  • สตาร์บัคส์ มุ่งการขยายสาขาใหม่เฉลี่ย 30 สาขาต่อปี ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 800 สาขาภายในปี 2573
  • เดอะ คอฟฟี่ คลับในปีที่ผ่านมา ที่มีการเติบโต 32% เมื่อเทียบกับปี 2565 พลิกทำกำไรได้ในรอบหลายปี
  • พาคามาร่าฯ ปักธงสเปเชียลตี้คอฟฟี่ ลุยขยาย 12 สาขาใหม่

ตลาดกาแฟในประเทศไทย ถือเป็นธุรกิจ Red Ocean ที่เต็มไปด้วยความร้อนแรง การแข่งขันที่ดุเดือด ด้วยมูลค่าที่สูงถึง 6 หมื่นล้านบาท แต่เซ็กเมนต์ที่ถูกจับตามองมากที่สุดหนีไม่พ้น “ร้านกาแฟ” ซึ่งมีมูลค่าราว 2.7 หมื่นล้านบาท กาแฟปรุงสำเร็จ 1.9 หมื่นล้านบาทและกาแฟพร้อมดื่ม (RTD) 1.4 หมื่นล้านบาท ด้วยมูลค่าที่สูง ผนวกการเข้ามาของแบรนด์ใหม่ทั้งในตลาดร้านกาแฟ Specialty Coffee หรือกาแฟพรีเมียม ร้านกาแฟระดับกลาง และร้านกาแฟระดับล่าง รวมไปถึงร้านกาแฟห้องแถว ทำให้ตลาดร้านกาแฟยังคงมีการลงทุนและทำโปรโมชั่นกันอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน

ลุย Red Ocean ร้านกาแฟดัง พาเหรด ปักธงชิงตลาด 6  หมื่นล้าน

“เนตรนภา ศรีสมัย” กรรมการผู้จัดการ สตาร์บัคส์ ประเทศไทย สตาร์บัคส์ แบรนด์กาแฟชื่อดังอันดับ 1 ของโลก ในประเทศไทย ดำเนินงานโดย บริษัท คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ รีเทล จำกัด ภายใต้การดูแลของ ไทยเบฟเวอเรจ กล่าวว่า กลยุทธ์หลักของสตาร์บัคส์ในไทยคือมุ่งเน้นการขยายสาขาใหม่เฉลี่ย 30 สาขาต่อปี ซึ่งจะทำให้มีสาขาเพิ่มเป็น 800 สาขาภายในปี 2573 โดยเฉพาะในทำเลทองครอบคลุมทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสของตลาดกาแฟในไทยที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยจุดแข็งของสตาร์บัคส์ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กาแฟแต่ยังเป็น “บ้านหลังที่ 3” ของคอกาแฟ เป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ ทำงาน พักผ่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : พาคามาร่าฯ ปักธงสเปเชียลตี้คอฟฟี่ ลุยขยาย 12 สาขาใหม่ https://www.thansettakij.com/business/marketing/590977

ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่มีพาร์ทเนอร์สำคัญอย่างไทยเบฟ นับเป็นการร่วมมือผลักดันการขยายสาขาใหม่ในไทยอย่างยั่งยืนต่อไป และการมุ่งสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้บริโภคคนไทยและกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยว นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงอีกสิ่งของร้านกาแฟสตาร์บัคส์ในไทยนอกจากเร่งขยายสาขาแล้ว ก็มีแผนเปิดร้าน กาแฟสตาร์บัคส์เพื่อชุมชน (Starbucks Comunity Store) ให้ครบ 8 แห่งในปี 2573 โดยร้านกาแฟที่จะแบ่งปันรายได้จากการจำหน่ายกาแฟ 10 บาทในทุกแก้วให้แก่ องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร

พร้อมกันนี้ สตาร์บัคส์ ยังตอกย้ำพันธกิจสำคัญเรื่องของสิ่งแวดล้อม แคมเปญ LITTLE CHOICES. BIG CHANGES. ถือเป็นวาระที่สำคัญต่อเป้าหมายด้านความยั่งยืนของสตาร์บัคส์ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้น้ำ และขยะลง 50% ภายในปี 2573 และในปีนี้ สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ตั้งเป้าลดขยะใช้ครั้งเดียวทิ้ง (เช่น แก้วพลาสติก) ลง 50% ด้วยการมอบส่วนลด 10 บาทสำหรับลูกค้าที่นำแก้วส่วนตัวมาใช้ที่ร้านสตาร์บัคส์ทุกสาขาทั่วประเทศทั้งนี้ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2541 ที่สตาร์บัคส์ได้เปิดตัวในประเทศไทย ลูกค้าสตาร์บัคส์มีส่วนร่วมในการลดขยะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งไปแล้วกว่า 29 ล้านใบจากการใช้แก้วส่วนตัว กลยุทธ์ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ของสตาร์บัคส์ ที่ต้องการเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ที่นอกจากจะรักกาแฟแล้ว ยังใส่ใจ สิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ด้านนางนงชนก สถานานนท์ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ คอฟฟี่ คลับ ภายใต้การดำเนินการของบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในตลาดที่ขึ้นชื่อว่าเป็น Red Ocean ที่การแข่งขันสูงทั้งคู่แข่งทางตรงและทางอ้อม ทำให้มองภาพตลาดออกว่าเราต้องสู้ในจุดที่เป็นจุดแข็งของเรา ดังนั้นเดอะ คอฟฟี่ คลับจึงวางโพสิชั่นแบรนด์และกลุ่มลูกค้าของแบรนด์ให้ถูก แล้วบุกตลาดงัดกลยุทธ์ตอบโจทย์ลูกค้า 3 ส่วนหลักได้แก่ กลยุทธ์ขยายสาขา-ปรับเมนู-ดึงลูกค้าคนไทย

ลุย Red Ocean ร้านกาแฟดัง พาเหรด ปักธงชิงตลาด 6  หมื่นล้าน

ทำให้ผลการดำเนินงานของเดอะ คอฟฟี่ คลับในปีที่ผ่านมา ที่มีการเติบโต 32% เมื่อเทียบกับปี 2565 พลิกทำกำไรได้ในรอบหลายปี อันเป็นผลมาจากการดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดที่ฝ่าการแข่งขันมาได้ ปรับเมนูให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคผ่านการพัฒนาเมนูใหม่ๆ ที่พัฒนาจากอินไซด์คนไทยที่ปัจจุบันนิยมบริโภคชาไทยมากขึ้น การขยายฐานลูกค้าด้วยการมอบสิทธิพิเศษต่าง ๆ ผ่านระบบสะสมแต้มเพื่อสร้างรอยัลตี้ และการขยายสาขาให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

ในปีนี้บริษัทจะใช้งบลงทุน 30 ล้านบาท ในการขยายสาขาเพิ่มอีก 5 สาขา แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ ร้านขนาดเล็กรูปแบบ Grab&Go รวม 4 สาขา ขนาดพื้นที่ 70-100 ตร.ม. เน้นพื้นที่ในกทม. ย่านพนักงานออฟฟิศ และร้าน Cafe ขนาดใหญ่ ขนาดพื้นที่ 180-200 ตร.ม. จำนวน 1 สาขา ที่นั่งราว 80 ที่นั่ง คาดว่าจะเปิดในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว ทำให้ภายในสิ้นปีนี้ บริษัทจะมีร้านเพิ่มเป็น 45 สาขาในไทย พร้อมเดินหน้า Loyalty program ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือ (CRM) หวังเพิ่มสัดส่วนลูกค้าคนไทยเป็น 45% ภายในปีนี้ จากเดิมอยู่ที่ 35% โดยในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีการขยายสาขาเพิ่ม 5 สาขา ได้แก่ สาขาโบ๊ท ลากูน, โอลด์ทาวน์, พาร์ค สีลม, สเตย์บริดจ์ ทองหล่อ และเดอะปาร์ค

“เราให้ความสำคัญกับการสร้างรอยัลตี้ เพื่อเพิ่มความถี่ให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ หรือมีการจัดเซ็ตสั่งซื้อจำนวนเยอะจะถูกกว่าเพื่อตีตลาดพนักงานออฟฟิศเนื่องจากหลายสาขาอยู่ในเขตของคนทำงาน รวมถึงยังร่วมกับพันธมิตร อย่างเครือข่ายมือถือและบัตรเครดิต เพื่อหวังการเติบเพิ่มขึ้น 10% ในปีนี้” นางนงชนก กล่าว

ขณะที่แบรนด์ “พาคามาร่า คอฟฟี่ โรสเตอร์” ในเครือโออาร์ เป็นอีกแบรนด์กาแฟสเปเชียลตี้คอฟฟี่ที่สยายปีกเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยนายธงธรรม เวชยชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีเบอร์รี่ ไทย จํากัด ผู้บริหารแบรนด์ “พาคามาร่า คอฟฟี่ โรสเตอร์” ฉายภาพตลาดร้านกาแฟให้ฟังว่า มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทยและตลาดโลก สวนทางกับราคาของเมล็ดกาแฟที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยในปีนี้ “พาคามาร่า คอฟฟี่ โรสเตอร์” มีแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 12 สาขา เพื่อต้องการขยายฐานผู้บริโภคไปในโซนกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก รวมถึงในจังหวัดหัวเมืองใหญ่ๆ ซึ่งคาดว่าเมื่อจบปี 2567 พาคามาร่าจะเป็นแบรนด์สเปเชียลตี้คอฟฟี่ที่มีสาขามากที่สุด โดยรายได้ในปีที่ผ่านมาพาคามาร่าเติบโตขึ้นถึง 40% คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 15% ของร้านกาแฟในเซ็กเมนต์สเปเชียลตี้คอฟฟี่

ลุย Red Ocean ร้านกาแฟดัง พาเหรด ปักธงชิงตลาด 6  หมื่นล้าน

ทั้งหมดนี้คือการแข่งขันของ “ธุรกิจร้านกาแฟ” ที่ตอกย้ำความเป็นตลาด Red Ocean ผ่านการแข่งขันที่ดุเดือด แต่ละแบรนด์เดินหน้าขยายสาขารุกชิงพื้นที่เข้าหากลุ่มลูกค้ามากขึ้น แต่อีกกลุ่มอย่าง “ร้านกาแฟในปั๊มน้ำมัน” ก็ต้องจับตามองต่อไป เมื่อต่างส่งสัญญาณการขยับ ปรับแผน หันรุกชิงพื้นที่ขยายสาขานอกปั้มน้ำมัน ยิ่งสร้างให้สมรภูมินี้น่าจับตามองมากยิ่งขึ้น  

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,982 วันที่ 11 - 13 เมษายน พ.ศ. 2567