แพนฟู้ด ลงทุน 500 ล้านเสริมทัพไลน์ผลิต-ขยายศูนย์กระจายสินค้า

19 พ.ค. 2567 | 12:58 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ค. 2567 | 13:04 น.

แพนฟู้ด เดินหน้าลงทุนกว่า 500 ล้านบาท เสริมทัพไลน์ผลิต และขยายสาขา-ศูนย์กระจายสินค้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมผนึกกำลังบิ๊กเครื่องจักร มาเรล

นาย ธนวิชญ์ หงษ์คู กรรมการบริหาร บริษัท แพนฟู้ด จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับกลยุทธ์และแผนงานเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทยและตลาดโลกในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยได้ลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิต พร้อมขยายสาขาและศูนย์กระจายสินค้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศยิ่งขึ้น โดยใช้งบรวมขั้นต้นกว่า 500 ล้านบาท คาดว่าจะส่งผลให้บริษัทมีผลประกอบแตะที่ระดับ 5,000 ล้านบาทได้ภายใน 5 ปีนับจากนี้ ขณะเดียวกันจะส่งผลให้ตลาดส่งออกมีสัดส่วนที่สูงขึ้นเป็นประมาณ 10-15% เช่นกัน จากปัจจุบันที่ส่งออกเพียง 4-5% ของรายได้ 

 

สำหรับแผนรองรับช่องทางการจัดจำหน่ายนั้น บริษัทได้ปรับขยายเพิ่มในส่วน สาขาในต่างจังหวัด ที่มีอยู่เดิมให้ครบวงจรยิ่งขึ้น รองรับในการขยายคลังสินค้าให้เป็นศูนย์กระจายสินค้า โลจิสติกส์ รวมทั้งมีชอปหน้าร้าน อาทิ ที่จังหวัดภูเก็ต พัทยา สุราษฎ์ธานี  อุดรธานี ซึ่งมีอยู่แล้ว และจะลงทุนเพิ่มในเชียงใหม่  และ ขอนแก่น ในอนาคตอันใกล้นี้ โดยมีการลงทุนเพิ่มประมาณ 100 ล้านบาท 

นาย ธนวิชญ์ หงษ์คู กรรมการบริหาร บริษัท แพนฟู้ด จำกัด
 

“เราได้เริ่มทยอยทำแผนลงทุน และปรับระบบองค์กรให้แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นตั้งแต่ช่วงโควิด ทั้งนี้เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่และชัดเจนยิ่งขึ้น หนึ่งในนั้นคือการร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ในด้านการผลิตกับ มาเรล ซึ่งนอกจากจะซื้อเครื่องจักรกับมาเรลแล้ว เรายังได้รับการถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าชาวไทยและต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้น "

 

แพนฟู้ด เดินหน้าลงทุนกว่า 500 ล้านบาท พร้อมผนึกกำลังบิ๊กเครื่องจักร มาเรล

นาย ธนวิชญ์ กล่าวต่อไปว่า จุดเริ่มต้นของบริษัทฯ คือธุรกิจนำเข้าสินค้าอาหารเพื่อจัดจำหน่ายเป็นวัตถุดิบให้ลูกค้าในตลาดฟู้ดเซอร์วิส ปัจจุบันแพนฟู้ดถือเป็นบริษัทชั้นนำที่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของกลุ่มธุรกิจนี้  โดยมีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายทั้งโรงแรม ร้านอาหารเชนใหญ่ ร้านอาหารทั้งขนาดใหญ่และเล็ก โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงกลุ่มสายการบินและธุรกิจจัดเลี้ยงต่างๆ

 

ขณะที่รายได้หลักนั้นมาจากการนำเข้าและจำหน่ายอาหารกลุ่มทะเล 40%  โดยเฉพาะแซลมอน  สัดส่วนที่เหลือจะมาจากกลุ่มการนำเข้าเนื้อสัตว์อื่น เนยชีส มันฝรั่ง รวมถึงอาหารแปรรูปไปจนถึง ผัก ผลไม้ และซอสเครื่องปรุงต่างๆ 

 

นาย ธนวิชญ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน แพนฟู้ด มีโรงงานผลิตทั้งหมด 5 โรงงานเพื่อรองรับการผลิตทั้งระบบ อาทิ โรงงานแปรรูปวัตถุดิบทั้งปลาและเนื้อสัตว์อื่น และโรงงานผลิตปลาชุบเกล็ดขนมปังและหมูทงคัตสึ  ส่งเข้าไปที่ร้านอาหารญี่ปุ่น และร้านต่างๆ นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตสาหร่ายยำ ไข่กุ้ง ไข่หวาน ปูอัด 

 

"จากแผนรุกต่างๆโดยเฉพาะการจับมือกับ มาเรล จะทำให้บริษัทฯสามารถนำเทคโนโลยีต่างๆไปตอบโจทย์ให้กับลูกค้าได้ ยกตัวอย่าง  การแล่ปลา มีหลายแบบ รวมถึงตัวดึงก้าง เพราะแพนฟู้ดไม่ได้ขายปลาเป็นตัว เราต้องแล่ปลาแซลมอนออกมาเพื่อส่งตามออเดอร์ลูกค้า ทั้งแบบครึ่งตัว หั่นเป็นแบบชิ้น เป็นแบบซาชิมิ เพราะการซื้อขายเป็นตัวอาจไม่ใช่คำตอบของการทำธุรกิจในวันนี้”
 

สินค้าจากแพนฟู้ด

นาย จูเลี่ยน ไวดัส ผู้อำนวยการฝ่ายขายประจำภาคพื้นเอเชียและโอเชียเนีย มาเรลกรุ๊ป  กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารประเภทค้าส่งฟู้ดเซอร์วิสในไทยเป็นตลาดที่ได้รับความสนใจระดับโลกโดยมีมูลค่ามากกว่า 2.5 ล้านล้านบาท ในฐานะที่เป็นบริษัทผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลกด้านอุปกรณ์การแปรรูปอาหารที่ทันสมัย​​ครบวงจรทั้งระบบ สำหรับอุตสาหกรรม ปลา เนื้อ และสัตว์ปีก เป็นที่ยอมรับในระดับต้นของอุตสาหกรรมอาหารโลกนั้น การที่บริษัทได้เป็นพันธมิตรกับแพนฟู้ดฯครั้งนี้คาดว่าจะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจนำเข้าและแปรรูปอาหารของไทยและแพนฟู้ดฯ โดดเด่นยิ่งขึ้น 

 

"เรามีเป้าหมายที่จะ ให้ Panfood เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการปลาแซลมอนที่ใหญ่ที่สุด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  โดยบริษัทมีสำนักงานและบริษัทสาขามากกว่า 30 ประเทศ และ 60 เครือข่ายตัวแทนและผู้จัดจำหน่ายทั่วโลก ทั้งนี้เพราะประเทศไทยเป็นตลาดชั้นนำสำหรับอาหารทะเลคุณภาพสูง  โดยเฉพาะปลาแซลมอนและปลา ทราวต์จากนอร์เวย์ และเป็นหนึ่งในสี่ประเทศที่นำเข้าปลาแซลมอนในเอเชีย และเป็นผู้นำในการนำเข้า ปลาทราวต์จากนอร์เวย์ 

 

นายจูเลี่ยน กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่มกราคมถึงตุลาคม 2565 ปริมาณปลาแซลมอนจากนอร์เวย์ที่ส่งออกไปยัง ประเทศไทยเพิ่มขึ้น 6% ถึง 16,100 ตัน และมีการเพิ่มขึ้น 55% ในมูลค่าการส่งออก ประเทศเวียดนาม ยังเป็นตลาดที่เติบโตของอาหารทะเล ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีน ยังคงเป็นตลาดใหญ่ในภูมิภาค   

 

ส่วน Pinbone Remover MS 2612 ซึ่งเป็นอุปกรณ์นำมาใช่ต่อยอดกระบวนการผลิตในครั้งนี้ เป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อเอาออกกระดูกปลาแซลมอน โดยมีความจุของฟิลเลท 18 ชิ้นต่อ ลูกเลน ต่อนาที ในขณะเดียวกันเครื่องตัดเปลือก MS 2730 สามารถตัด เปลือกปลาได้อย่างมี ประสิทธิภาพสูงสุด ถึง 25 ตัวต่อนาที มีความสามารถในการตัดเปลือกด้านหลังและท้องอัตโนมัติ พร้อม ด้วยเครื่องมือตัดแบบ เลือกได้ เหมาะสำหรับปลาที่มีน้ำหนักระหว่าง 1.5 ถึง 8 กิโลกรัม 

นาย จูเลี่ยน ไวดัส ผู้อำนวยการฝ่ายขายประจำภาคพื้นเอเชียและโอเชียเนีย มาเรลกรุ๊ป