นายปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์ KFC ภายใต้การบริหารของบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่าภาพรวมธุรกิจร้านอาหาร QSR ในปี 2566 มูลค่าตลาด 45,000 ล้านบาท อัตราการเติบโต 3% (เทียบกับปี 2565) โดยมองว่ามีอัตราการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ
เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีผู้เล่นเพิ่มขึ้นในทุกปี และหากมองไปถึงกลุ่มเชนร้านอาหาร QSR ก็พบว่ายิ่งท้าทายมากขึ้น เพราะต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา ทำให้กระทบถึงราคาขาย ซึ่งขัดแย้งกับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีกำลังบริโภคค่อนข้างหดตัว KFC ในเครือ CRG ในปี 2566 ปียอดขายเติบโต 6% ราว 7,050 ล้านบาท ตั้งเป้าเติบโตปีนี้ 11%
KFC มองว่าความท้าทายจากนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ในเดือนตุลาคมที่จะถึงมีผลกระทบต่อ KFC มีไม่มากนัก เนื่องจากบริษัทจ่ายค่าแรงพนักงานมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว และอีกปัจจัยที่น่ากังวลคือธุรกิจใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่ มีพนักงานราว 7,000 คน ซึ่งประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงานจากอัตราการเกิดในประเทศที่ลดลง ทำให้ในอนาคต KFC อาจจะต้องปรับตัวเรื่องนี้
ส่วนปัจจัยหนุนการเติบโตในครึ่งปีหลัง มาจากการการใช้ดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค ประกอบกับ KFC เป็นแบรนด์ที่เข้าถึงง่าย ราคาจับต้องได้ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค
สำหรับแผนธุรกิจในปีนี้เน้นขยายสาขาใหม่และโมเดลใหม่ ๆ ที่เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น ปีที่แล้วเปิด 28 สาขา ตั้งเป้าเปิด 23 สาขาใหม่ในปีนี้ โดยปัจจุบันมีจำนวนสาขา 338 สาขา (ข้อมูล ณ 31 พ.ค. 2567) รวมไปถึงการขยายสาขาร่วมกันกับบริษัทในกลุ่มเซ็นทรัล อาทิ CPN และ CRC อย่างศูนย์การค้าเซ็นทรัล และโรบินสันไลฟ์สไตล์ ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง โดยปีนี้จะเน้นกลยุทธ์มุ่งขยายสาขาในเมืองรอง เนื่องจากเล็งเห็นถึงศักยภาพของตลาดที่มีประชากรแฝงจำนวนมาก ประกอบกับการท่องเที่ยวที่คึกคักไม่แพ้เมืองหลัก
นอกจากนี้ KFC ยังเปิดโมเดลใหม่เพื่อขยายฐานลูกค้าและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น โดยโมเดลแรกคือ "แกร็บ แอนด์ โก โมเดล" (Grab & Go Model) ร้านขนาดเล็กที่เน้นการจัดจำหน่ายในช่องทาง Takeaway เป็นหลัก เหมาะสำหรับการซื้อกลับบ้านหรือทานระหว่างเดินทาง โมเดลนี้จะช่วยให้ KFC สามารถขยายสาขาไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น สถานีรถไฟฟ้า BTS และ MRT ซึ่งเป็นจุดที่มีผู้คนพลุกพล่าน
โมเดลที่สองคือ คีออส โมเดล (Kiosk Model) ที่จะเปลี่ยนประสบการณ์ของลูกค้าจากการสั่งอาหารที่หน้าเคาน์เตอร์มาเป็นการสั่งผ่านตู้คีออสแทน ลูกค้าสามารถเลือกสินค้าได้อย่างอิสระ สะดวก รวดเร็ว และทันสมัย โมเดลนี้จะช่วยลดเวลาการรอคิวและเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ
เมนูอาหาร จะมีให้เลือกประมาณ 80-90% ของสาขาปกติ โดยใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่เรียบง่าย ประหยัดพื้นที่หน้าร้านและครัวรวมเหลือเพียง 40-50 ตารางเมตร หรือประมาณ 1 ใน 5 ของสาขาปกติ การเลือกสถานีขนส่ง เป็นทำเลหลัก เนื่องจากมีศักยภาพสูงจากผู้บริโภคจำนวนมากมาใช้บริการในแต่ละวัน การใช้ Kiosk รับออร์เดอร์ จะช่วยลดเวลารอรับบริการ จากสถิติพบว่า การรับออร์เดอร์ด้วย Kiosk จะลดเวลารอลงมาอยู่ในระดับ 1 นาทีหากไม่มีคิว หรือ 5 นาทีหากมีคิวก่อนหน้า
อีกทั้งเคเอฟซีให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาร้านอาหารและยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า โดยมีเป้าหมายในการเป็น Smart Restaurant อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งรวมถึงการติดตั้งตู้คีออส บอร์ดเมนูดิจิตอล และระบบจัดการร้านอาหารอัจฉริยะ
ซึ่ง KFC บอร์ดเมนูดิจิตอล (Digital Menu Board) จะช่วยให้ลูกค้าสามารถดูข้อมูลสินค้าได้อย่างชัดเจน ดึงดูดความสนใจ และสร้างบรรยากาศของร้านที่ทันสมัย ปัจจุบันได้ติดตั้งบอร์ดเมนูดิจิตอลแล้ว 35 สาขา และตั้งเป้าขยายเป็น 100 สาขาภายในปีนี้
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ลูกค้าเริ่มกลับมาทานอาหารที่ร้านมากขึ้น เนื่องจากต้องการออกมารับประทานอาหารในบรรยากาศสบาย ๆ และต้องการใช้เวลากับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง KFC จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับการทานอาหารแบบแชร์กันได้ ปัจจุบันสัดส่วนยอดขายของเคเอฟซีแบ่งเป็น กลับบ้าน 40% เดลิเวอรี่ 25% และนั่งกินที่ร้าน 35% โดยยอดขายต่อบิลเฉลี่ยอยู่ที่ 180-200 บาท
นายปิยะพงศ์ กล่าวว่า KFC เฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี ด้วยการนำเสนอบรรยากาศร้านในสไตล์ Retro ย้อนยุคไปสมัยที่ KFC สาขาแรกเปิดตัวในย่านลาดพร้าว สะท้อนถึงความทรงจำดีๆ และความผูกพันกับคนไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
การตกแต่งร้านในคอนเซ็ปต์ “Colonel's Legacy” ที่มาในสไตล์ Retro ย้อนยุคเต็มไปด้วยกลิ่นอายความทรงจำดีๆ เช่น กระเบื้องสีขาวสลับสีแดง แถบริ้วลายขาว-แดง สายห้อยโทรศัพท์บ้าน และกิมมิคเล็กๆ อื่นๆ ที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของยุคสมัยนั้น