จับตา Luxury Watch คึกคัก บิ๊กเนมแห่ชิงยอดขาย

18 มิ.ย. 2567 | 22:00 น.

จับตาตลาดลักชัวรีไทย หลังพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ชี้เทรนด์ “Luxury Watch” เติบโตได้ทั้งดิจิทัลคอมเมิร์ซและ Physical Store จากเพลเยอร์เดิมและใหม่ มั่นใจกำลังซื้อดันภาพรวมตลาดกลับมาคึกคักในไตรมาส 1 ปี 68

ตลาดลักชัวรีในประเทศไทยซึ่งปัจจุบันมีมูลค่ารวมกว่า 1.6 แสนล้านบาทยังสดใส เห็นได้จากการเติบโตที่คาดว่าจะสูงต่อเนื่องเฉลี่ย 5.62% ต่อปี แต่ “โอกาส” ทางธุรกิจของสินค้าลักชัวรี โดยเฉพาะ Luxury Watch จะเป็นอย่างไร “ปวริศร์ เอี่ยมเอกพัฒนา” หนึ่งในกูรูผู้เชี่ยวชาญ สินค้าลักชัวรีมากว่า 20 ปี

จากจุดเริ่มต้นที่ก้าวสู่แวดวง Luxury Products ในตำแหน่ง Brand Manager ดูแลแบรนด์ระดับโลกอย่าง HARRY WINSTON, BURBERRY, BREITLING, FRANCK MULLER, ZENITH ฯลฯ จนก้าวเข้ารับตำแหน่ง Brand Director ที่คลุกคลี รู้ลึก รู้จริงในเรื่องของ Luxury Product และ Luxury Watch ระดับแนวหน้าของเมืองไทย

“ปวริศร์” เล่าให้ฟังว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้กลุ่มลูกค้าลักชัวรีหันมาเลือกซื้อสินค้าในประเทศมากขึ้น เพราะไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ ทำให้เกิด Pent up Demand ซึ่งเป็นที่มาของปรากฏการณ์ Revenge Shopping จากเงินที่ไม่มีโอกาสได้ใช้ในช่วงล็อกดาวน์ ทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า “Luxury Market Bubble”

จับตา Luxury Watch คึกคัก บิ๊กเนมแห่ชิงยอดขาย

แต่หลังจากผ่านพ้นวิกฤติโควิดไปแล้ว พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยหันมาเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางดิจิทัลคอมเมิร์ซ มากขึ้น แม้จะเป็นสินค้าลักชัวรีที่มีราคาหลายแสนบาทก็ตาม จากเดิมที่เคยไปดูสินค้าจริงในบูติก ก่อนตัดสินใจซื้อ ปัจจุบันผู้บริโภคเกินกว่าครึ่งจะหาข้อมูลและตัดสินใจ ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์เลย ซึ่งไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่จะกลายเป็นพฤติกรรมหลักของผู้บริโภคในระยะยาวนับจากนี้ไป

“ปวริศร์” ให้ข้อมูลว่า อีกสิ่งที่ยืนยันได้คือผลสำรวจของวันเดอร์แมน ธอมสัน (Wunderman Thompson) ที่ระบุว่าปี 2567 ผู้บริโภคชาวไทยใช้จ่ายบนโลกออนไลน์สูงกว่า 90% ทำให้ดิจิทัลคอมเมิร์ชเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ลักชัวรีหลายแบรนด์หันมาปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนไป

โดยเน้นทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น มีการสร้างสาขาออนไลน์ให้น่าสนใจ เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าตามเอกลักษณ์ของแบรนด์ แต่ถึงอย่างนั้นปวริศร์ก็ยังคงมองว่าหน้าร้านหรือ Physical Store จะไม่หายไป หากสามารถมอบประสบการณ์พิเศษที่ไม่สามารถส่งผ่านทางออนไลน์ให้กับกลุ่มลูกค้าได้

จับตา Luxury Watch คึกคัก บิ๊กเนมแห่ชิงยอดขาย

“Physical Store ต้องเป็นมากกว่าสถานที่โชว์หรือขายสินค้า เพราะกลุ่มลูกค้าลักชัวรีไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะตัวสินค้า แต่ยังมองหาและคาดหวังประสบการณ์สุดพิเศษ (Customer Experience) ดังนั้นหากแบรนด์ต่างๆ สามารถมอบประสบการณ์สุดพิเศษที่จะได้รับเฉพาะในบูติกเท่านั้น Physical Store ก็ยังคงมีความสำคัญ ที่จะช่วยรักษาฐานลูกค้าเดิมเอาไว้ในลักษณะการสร้างคอมมูนิตี้ เพื่อทำให้เกิดความจงรักภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty)”

ขณะที่ตลาด Luxury Watch ในวันนี้ ถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

1. Exclusive Luxury กลุ่มที่ใช้ศิลปะชั้นสูงรังสรรค์เรือนเวลาให้ความเอ็กซ์คลูซีฟมากที่สุด

2. Accessible Luxury มีระดับราคาตั้งแต่ 1 แสน - 5 แสนบาท ซึ่งแบรนด์ดังหลายแบรนด์อยู่ในกลุ่มนี้

3. Mid-level Luxury มีระดับราคา 5 หมื่น-1 แสนบาท

4. Entry Luxury กลุ่มที่มีระดับราคาต่ำกว่า 5 หมื่นบาท

อย่างไรก็ดีฐานลูกค้านาฬิกาหรู มีทั้งกลุ่มที่เลือกซื้อจากฟังก์ชันการใช้งาน เช่น Sport Watch, Dress Watch, High Complications Watch, Pilot Watch และ Diver Watch และเลือกซื้อจากแบรนด์

จับตา Luxury Watch คึกคัก บิ๊กเนมแห่ชิงยอดขาย

“ปวริศร์” บอกว่า เทรนด์ การซื้อนาฬิกาหรูที่มาแรงในปัจจุบัน คือ การซื้อเพื่อเป็นรางวัลให้กับตนเองที่กำลังเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้แนวโน้มของตลาดสินค้าลักชัวรีและนาฬิกาหรูในไทยมีทิศทางที่ดี มีการเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าสถานการณ์โลกจะพลิกผันเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาก็ตาม เห็นได้จากฐานลูกค้าที่ขยายกว้างขึ้น นอกจากนี้การแข่งขันที่ดุเดือด

ทั้งในส่วนของเพลเยอร์เดิมที่แต่ละแบรนด์ต่างงัดกลยุทธ์ต่าง ๆ มาต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ในตลาด รวมถึงเพลเยอร์ใหม่ที่มีหลายแบรนด์ทยอยเปิดตัวและส่งคอลเลคชันใหม่เข้าสู่ตลาด ทำให้เชื่อว่าตลาดสินค้าลักชัวรีและนาฬิกาหรูเข้าสู่ช่วงที่มีเสถียรภาพหรือ Stabilization แล้ว หลายแบรนด์เติบโตแบบคงที่ในปีที่ผ่านมา และคาดว่าตลาดจะกลับมาคึกคักอีกครั้งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 และจะเติบโตต่อไป เพราะเชื่อมั่นในกำลังซื้อของคนไทย

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,001 วันที่ 16 - 19 มิถุนายน พ.ศ. 2567