“ไทยเบฟ”จัดทัพกลุ่มนอนแอลกอฮอล์ ส่ง‘เสริมสุข’บุกอาเซียน

05 ก.ค. 2567 | 05:45 น.

“ไทยเบฟ” ควัก 5,919 ล้าน กินรวบหุ้น “เสริมสุข” จัดกระบวนทัพกลุ่มธุรกิจนอนแอลกอฮอล์ พร้อมเดินหน้าสยายปีกรุกอาเซียนเต็มสูบ หวังสร้างรายได้ 50 : 50 กับกลุ่มแอลกอฮอล์ภายในปี 2573 ขณะที่ 6 เดือนแรก โชว์ฟอร์มทำรายได้ 6,374 ล้าน กำไร 179 ล้าน

การประกาศถอนหุ้น “บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน)” หรือ SSC ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยบริษัท โซ วอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเสริมสุข และเป็นบริษัทย่อยของบมจ. ไทยเบฟเวอเรจ หรือไทยเบฟ เข้าทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญที่เหลือทั้งหมดของบริษัทส่งผลให้ราคาหุ้น SSC พุ่งขึ้นทันที 25% โดย “โซ วอเตอร์” ทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญที่เหลือทั้งหมดจำนวน 93,945,680 หุ้น หรือคิดเป็น 35.33% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัทในราคาเสนอซื้อ 63.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินทุนประมาณ 5,919 ล้านบาท

“โซ วอเตอร์” ระบุถึงเหตุผลหลักในการถอนหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการเนื่องจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนต้องเผชิญกับขั้นตอนและกฎระเบียบที่ซับซ้อน ซึ่งอาจส่งผลต่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ การถอนหุ้นออกจากตลาดฯ จะช่วยลดขั้นตอนเหล่านี้ลง ส่งผลให้บริษัทสามารถบริหารจัดการได้รวดเร็ว ยืดหยุ่น เสริมสร้างประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ เมื่อปราศจากข้อจำกัดของกฎระเบียบตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทสามารถโฟกัสไปที่การดำเนินธุรกิจหลักได้อย่างเต็มที่

“ไทยเบฟ”จัดทัพกลุ่มนอนแอลกอฮอล์ ส่ง‘เสริมสุข’บุกอาเซียน

ปฏิบัติการครั้งนี้ หลายคนอาจไม่แปลกใจมากนัก เพราะนับตั้งแต่การประกาศปรับโครงสร้างครั้งใหญ่เมื่อต้นปี 2567 ที่ผ่านมา โดย “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” ขยับขึ้นมานั่ง “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” กลุ่มไทยเบฟ (Group CEO of Thaibev) จากเดิมที่นั่งในตำแหน่ง “กรรมการผู้อำนวยการใหญ่” พร้อมทัพทีมขุนพลอย่าง “โฆษิต สุขสิงห์” ก้าวขึ้นมานั่งเป็น กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการประเทศไทย หรือ Group COO-Thailand และ “ประภากร ทองเทพไพโรจน์” นั่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการต่างประเทศหรือ Group COO-International

ตามด้วยการโยก “นงนุช บูรณะเศรษฐกุล” มาคุมทัพ “ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์” พร้อมนั่งเก้าอี้ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) จากเดิมที่นั่งบังเหียนคุมกลุ่มธุรกิจอาหาร ซึ่งมี “โออิชิ กรุ๊ป” เป็นเรือธง และได้ “โสภณ ราชรักษา” เข้ามานำทัพ “ธุรกิจอาหาร” แทน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา

1 ในเป้าหมายสำคัญที่ระบุไว้คือ การขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจและการลงทุนในตลาดใหม่ เพื่อขยายการเติบโตของตราสินค้าต่างๆ ของบริษัทในระดับภูมิภาค สู่เป้าหมายการเป็นผู้นำของอาเซียนในธุรกิจเครื่องดื่มและอาหาร โดยไทยเบฟตั้งเป้าที่จะเพิ่มรายได้กลุ่มเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ให้มีสัดส่วน 50 : 50 กับกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ภายในปี 2573 จากเดิมในปี 2566 ที่กลุ่มเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ มีสัดส่วนรายได้เพียง 30%

“ไทยเบฟ”จัดทัพกลุ่มนอนแอลกอฮอล์ ส่ง‘เสริมสุข’บุกอาเซียน

ขณะที่กลุ่มธุรกิจอาหาร “โออิชิ กรุ๊ป” ภายใต้การบริหารของ “นงนุช บูรณะเศรษฐกุล” ได้ถอนตัวออกจากตลาดหลักทรัพย์ไปเมื่อเดือนกันยายน 2566 พร้อมสยายปีกรุกเดินหน้าสร้างแบรนด์ใหม่ ขยายสาขาเพิ่ม ล่าสุดจึงเป็นคิวของ “เสริมสุข” ด้วยเป้าหมายที่ต้องการสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ พันธกิจสำคัญหนึ่งของ “นงนุช” คือ การเดินหน้าสร้างอาณาจักรกลุ่มนอนแอลกอฮอล์ ทั้งในไทยและอาเซียน

ด้วยขุมทรัพย์ที่ “เสริมสุข” มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลม เอส, ซาสี่, น้ำดื่มคริสตัล, ชาเขียวโออิชิ, เครื่องดื่มอัดลม,เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ 100 พลัส, เครื่องดื่มสมุนไพร จับใจ, น้ำโซดา ร็อค เมาเท่น, เครื่องดื่มบำรุงกำลัง แรงเจอร์, เครื่องดื่มเกลือแร่ พาวเวอร์พลัส

ขณะที่ศักยภาพของ “เสริมสุข” ในวันนี้ไม่ได้มีดีแค่สินค้าในพอร์ตที่ครบทุกเซ็กเม้นท์เครื่องดื่ม แต่ยังมีความพร้อมรอบด้าน เห็นได้จากผลประกอบการย้อนหลังนับจากปี 2565 ที่มีรายได้ 11,059 ล้านบาท กำไร 13 ล้านบาท ปี 2566 มีรายได้ 12,593 ล้านบาท กำไร 248 ล้านบาท และ 6 เดือนแรกของปี 2567 (ต.ค. 2566-มี.ค. 2567) มีรายได้ 6,374 ล้านบาท กำไร 179 ล้านบาท

ฐาปน สิริวัฒนภักดี

หลัง “ไทยเบฟ” ไฟเขียวตั้งโต๊ะเทนเดอร์ออฟเฟอร์ซื้อหุ้น “เสริมสุข” ในครั้งนี้จึงถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ที่จะเห็นการขับเคลื่อนครั้งใหญ่ของ “เสริมสุข” ในอนาคตอันใกล้

ขณะที่ “ฐาปน” กล่าวถึงแนวทางการปรับโครงสร้างก่อนหน้านี้ว่า บริษัทวางยุทธศาสตร์ขยายกลุ่มธุรกิจนอนแอลกอฮอล์ทั้งเครื่องดื่มและอาหารไปในตลาดอาเซียนเต็มที่ เริ่มจากกลุ่มเครื่องดื่ม จะลงทุนในกัมพูชาสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มโออิชิ และเป็นโรงงานเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์แรกในอาเซียนของไทยเบฟ ซึ่งจะผลิตอย่างเป็นทางการภายใน 2 ปี ซึ่งการปรับเปลี่ยนครั้งนี้จะเป็นการสร้างโอกาสให้แก่ผู้บริหารมืออาชีพเพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรอย่างมั่นคงและยั่งยืน

การปรับโครงสร้างและความเปลี่ยนแปลงเพื่อชิงความได้เปรียบในตลาดหลัก อย่างไทย เวียดนาม เมียนมา มาเลเซีย และสิงคโปร์ จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญของไทยเบฟ ที่ต้องการขยายธุรกิจนอนแอลกอฮอล์ทั้งในไทยและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเส้นทางของ “เสริมสุข” จะเป็นอย่างไร คงต้องจับตามองต่อไป