ห้างภูธรชี้เงิน 10,000 บาท ไหลออกนอกระบบ เฟสแรกคนใช้ซื้อสินค้าเพียง 10%

01 ต.ค. 2567 | 22:05 น.

เงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟสแรกในกลุ่มเปราะบางมีช่องโหว่ ห้างภูธรเผยรับอานิสงส์เพียง 10% ชี้รัฐบาลทำสูญเปล่ากระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ ส่วนใหญ่ไหลออกนอกระบบถูกนำไปจ่ายหนี้ ชี้ชัด ”คนละครึ่ง-ประชารัฐ“ ดีกว่ามาก

โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาลเริ่มดำเนินการแล้วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ระบบจะติดขัดไปบ้างจนทำให้การโอนเงินไม่สำเร็จเกือบ 5 หมื่นราย แต่รัฐบาลประกาศโอนซ้ำอีกครั้งให้ครบและครอบคลุมสำหรับคนที่แก้ไขข้อมูลภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ 10 ต.ค. 2567 ทำให้ภาพรวมในเฟสแรกส่วนใหญ่เป็นไปได้ด้วยดี และกลุ่มที่ได้รับสิทธิ์เงินดิจิทัลจำนวนนี้คือกลุ่มเปราะบาง ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนจำนวน 13.5 ล้านคน และผู้พิการอีกจำนวน 1 ล้านคน โดยสถานการณ์ในปัจจุบัน หลายคนก็เห็นด้วยกับการสนับสนุนช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางก่อนกลุ่มอื่น

แต่การแจกที่เรียกว่าเงินดิจิทัล 10,000 บาท กลับมีช่องโหว่ขนาดใหญ่ เพราะเงินก้อนนี้กลายเป็นเงินสด สามารถเบิกจ่ายได้เต็มจำนวน ไม่มีเงื่อนไขการใช้ ไม่มีข้อกำหนดหรือระบบมาควบคุมเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่าย ฉะนั้นอาจไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง รายใหญ่ในภาคอีสาน เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นับตั้งแต่วันแรกที่กลุ่มเปราะบางได้รับเงิน 10,000 บาท ก็แทบไม่มีผลใดๆ ต่อห้างร้านค้า ทั้งค้าปลีก-ค้าส่ง หลังจาก 1-2 วัน ที่คนกลุ่มนี้ได้รับเงินโอนเข้าบัญชีแล้ว ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคของตั้งงี่สุนก็เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 10% ต่อวันเท่านั้น ซึ่งช่วงวันที่ 1-15 ตุลาคมนี้คาดหวังว่าคนจะยังมีเงินจับจ่ายใช้สอย สามารถเพิ่มยอดขายได้มากกว่านี้ ซึ่งข้อสังเกตของโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท คือการทำประชานิยม 100% กำหนดกฎเกณฑ์อะไรไม่ได้ รัฐบาลอาจจะหวังให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับไม่มีความแน่นอนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 

“เราต้องยอมรับว่ากลุ่มเปราะบางที่ได้รับเงิน 10,000 บาทในเฟสแรก เป็นกลุ่มที่มีหนี้สิน กินเหล้า เบียร์ และมักประสบปัญหาทางด้านการเงินอยู่แล้ว ช่วงที่ได้รับเงินหรือวันแรกอาจจะทำให้บรรยากาศคึกคักจริงแต่ไม่ดีทั้งหมด 100% เพราะเงินบางคนในสัดส่วน 70-80% หรือราว 8,000 บาท จะถูกนำไปใช้หนี้เป็นอันดับแรก และมีเพียงแค่ 10% หรือประมาณ 2,000 บาทเท่านั้น ที่ถูกนำมาจับจ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เงินจะไม่หมุนในระบบแต่กับละลายหายไปสู่นอกระบบแทน เหมือนรัฐบาลกำลังการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ”

เบื้องต้นคาดการณ์ว่าเงิน 10,000 บาท จะอยู่ในมือของคอนซูมเมอร์ประมาณ 20% ซึ่งมีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจได้ค่อนข้างน้อย เป็นเงินภาษีที่ไม่คุ้มค่า หากให้เทียบกับโครงการคนละครึ่งหรือโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของรัฐบาลชุดก่อรกลับให้ผลที่ดีกว่า เพราะเป็นการปันส่วนให้เงินหมุนเวียนตั้งแต่ห้างร้าน เอสเอ็มอี ไปจนถึงระดับคนฐานราก โดยรัฐบาลควบคุมการใช้จ่ายด้วยเงื่อนไขที่ชัดเจน ผู้ซื้อและผู้ขายไม่ออกนอกลู่นอกทาง ตรวจสอบได้

 

นายมิลินทร์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเงิน 10,000 บาทที่รัฐบาบจ่ายให้กับกลุ่มเปราะบาง น่าจะหมดไปอย่างรวดเร็วไม่เกิน 1 เดือน เพราะวิธีคิดของคนกลุ่มนี้จะไม่ทยอยใช้จ่ายหรือเก็บเป็นทุน แต่ยอมจ่ายครั้งเดียวเพื่อแก้ไขความขัดสน โดยเฉพาะการจ่ายหนี้นอกระบบ

ด้าน นายจาตุรนต์ เหลืองสว่าง กรรมการผู้จัดการสหแสงชัย ซุปเปอร์สโตร์ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับห้างสหแสงชัยที่มีสาขาครอบคลุมอยู่ในจังหวัดพิจิตรและจังหวัดพิษณุโลก ในพื้นที่ของทั้ง 2 จังหวัดมีกลุ่มเปราะบางค่อนข้างมาก แต่หลังจากรัฐบาลโอนเงิน 10,000 บาทในเฟสแรก ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคกลับกระเตื้องขึ้นเพียงแค่ 10% และคาดว่าต่อจากนี้คงสูงสุดไม่เกิน 20% อย่างแน่นอน เพราะโครงการดิจิทัลสามารถใช้จ่ายได้อย่างอิสระ ไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายซื้อสินค้าเพียงอย่างเดียว ทำให้สถานการณ์ค่อนข้างแตกต่างจากโครงการในช่วงโควิด-19 ที่มียอดขายสูง 200-300% เพราะคนต้องใช้เงินภายใต้เงื่อนไขรัฐบาล มีช่วงเวลา กระตุ้นการใช้จ่ายเต็มที่

“โดยส่วนตัวมองว่าในตอนนี้คนกลุ่มเปราะบางประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในการใช้จ่าย กำลังซื้อตกไปเยอะ การได้เงิน 10,000 บาท คงทยอยใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ไม่เพียงแค่ใช้เพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างเดียว บางคนอาจจะจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ หรือซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ซื้อโทรศัพท์ ใช้หนี้ หรืออะไรก็ตามที่น่าจะเป็นเรื่องดีกับตัวเองและคิดว่าส่วนหนึ่งคงเก็บไว้ใช้ยามจำเป็นจริงๆ โดยไม่นำมาซื้อสินค้าในช่วงนี้”