ผ่าธุรกิจอาหาร ขุมทรัพย์ “ไทยเบฟ” ปั๊มรายได้ทะลุ 2 หมื่นล้าน

02 ต.ค. 2567 | 03:37 น.
อัพเดตล่าสุด :02 ต.ค. 2567 | 03:44 น.

ถอดรหัส "ไทยเบฟ" ก้าวกระโดดสู่เบอร์หนึ่งอาหาร-เครื่องดื่มอาเซียน ปั๊มรายได้ทะลุ 2 หมื่นล้านบาทในสิ้นปีนี้ พร้อมทุ่ม 1,300 ล้านลงทุนกลุ่มธุรกิจร้านอาหารปี 68 ชูแผนปรับปรุงร้าน-โฟกัสอาหารฮาลาล ปรับตัวรับมือต้นทุนสูง

นายโสภณ ราชรักษา ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและสมรรถนะองค์กร ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหารประเทศไทย และผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจโลจิสติกส์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจร้านอาหารมีรายได้จากการขาย 15,022 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 (นับตั้งแต่ 1 ต.ค. 66 - 30 ก.ย. 67)  เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เทียบจากปีก่อน อันเป็นผลจากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง 

ผ่าธุรกิจอาหาร ขุมทรัพย์ “ไทยเบฟ” ปั๊มรายได้ทะลุ 2 หมื่นล้าน

ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ลดลงร้อยละ 0.6 เป็น 1,438 ล้านบาทเนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น คาดว่าสิ้นปีนี้เราจะทำได้รายทั้งหมดที่19,000-20,000 ล้านบาท

กางแผน “ไทยเบฟ” ปี 68 เน้นขยายธุรกิจ-ปรับปรุงร้านอาหาร รวม 1,300 ล้าน

ลงทุนเปิดร้านใหม่ ใช้เงินลงทุนราว 600 ล้านบาท เพื่อเปิดร้านใหม่ให้กับแบรนด์ KFC ราว 45 สาขาเป็นส่วนใหญ่ และคิวเอสเอ สำหรับร้าน KFCปัจจุบันมีทั้งหมดร้าน 490 สาขา กำลังจะมี 500 สาขาในปลายปีนี้ 

ทั้งนี้ 9 เดือนที่ผ่านมาเคเอฟซีโต 11 % แต่ในปีหน้าบริษัทมีแผนจะปิดสาขาบางแห่ง เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้บางพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจอีกต่อไป เช่น ทำเลที่ตั้งที่เก่าแก่หรือขนาดของร้านที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน และสัดส่วน KFC ที่จะเปิดใหม่ กทม. 40% ต่างจังหวัด 60%

อีกทั้งการปรับปรุงร้านอาหารใหม่ จะนำเงินลงทุนอีก 200 ล้านบาท มาใช้ในการปรับปรุงร้านอาหารต่างๆ เพื่อให้ร้านค้ามีความทันสมัย น่าสนใจ นอกจากนี้ตั้งเป้าเปิดร้านใหม่เพิ่ม 69 ร้าน โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายฐานลูกค้าและเพิ่มยอดขาย

ล่าสุดเตรียมเปิดร้านอาหารใหม่ในโครงการวันแบงค็อก จะเปิดทุกแบรนด์ แบรนด์ละ 1 ร้าน ยังไม่รวมสตาร์คบัค ที่อยู่ในพอน์ตของเรา 1 ร้านต่อ 1 แบรนด์ ราว 16 ร้าน กำหนดวันเปิดปลายเดือนตุลาคม โครงการนี้ใช้งบราว 400 ล้านบาท และอาจมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต 

ไทยเบฟ มุ่งเน้นอาหารฮาลาล: เจาะตลาดมาเลเซีย เป็นฮับฐานผลิตภัณฑ์ที่แรก

ไทยเบฟ ได้ประกาศเดินหน้าขยายธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลอย่างเต็มที่ โดยมี มาเลเซีย เป็นฐานการผลิตที่สำคัญและถือเป็นที่แรก ด้วยงบลงทุนกว่า 8,000 ล้านบาท ในการสร้างและพัฒนาฟาร์มโคนม ซึ่งในอนาคตมองประเทศอินโดนีเซียเป็นรายต่อไป

มาเลเซียเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะศูนย์กลางของอุตสาหกรรมฮาลาลระดับโลก มีระบบการรับรองฮาลาลที่เข้มงวดและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล การตั้งฐานการผลิตในมาเลเซียจึงช่วยให้ไทยเบฟสามารถผลิตสินค้าฮาลาลที่มีคุณภาพสูงและเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกได้อย่างรวดเร็ว

ที่สำคัญมาเลเซียมีประชากรมุสลิมเป็นจำนวนมาก และมีความต้องการผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่หลากหลาย การลงทุนในมาเลเซียจึงเป็นการเข้าถึงตลาดผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง

ค่าแรง 400 บาท ต้นทุนพุ่ง ไทยเบฟเตรียมตั้งรับ

นายโสภณ กล่าวว่า แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับธุรกิจอาหาร แต่ก็มีปัจจัยบวกบางประการเข้ามาช่วย อย่างเช่น การกลับมาของนักท่องเที่ยว ทำให้ผู้คนออกมาใช้บริการร้านอาหารภายนอกกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่ธุรกิจอาหารต้องเผชิญในขณะนี้คือ “ต้นทุนที่สูงขึ้น” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท” ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยพนักงาน 65,000 กว่าคน แบ่งเป็นพนักงานในร้านอาหาร 14,000 คน

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ ส่งผลให้ต้นทุนค่าจ้างของธุรกิจอาหารเพิ่มขึ้นราว 8-9% เป็นภาระที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับ นอกจากนี้การปรับขึ้นค่าแรงยังส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่วนเศรษฐกิจมองว่าไม่ค่อยดี กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง มองว่าปีหน้าธุรกิจอาหารยังมีความท้าทาย ต้องคิดหาวิธีปรับลดต้นทุน

ทิศทางและเป้าหมายธุรกิจอาหาร "ไทยเบฟ" ปี 68

สำหรับปี 2568 บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะขยายสาขาของร้านอาหารในกลุ่มธุรกิจอาหารให้เติบโตขึ้น โดยเฉพาะแบรนด์ โออิชิ และ FOA ที่จะเน้นการปรับปรุงร้านค้าให้มีความทันสมัยและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เพื่อดึงดูดลูกค้าให้กลับมาใช้บริการมากขึ้น แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาอาจจะมีการปรับลดจำนวนสาขาลงบ้าง แต่บริษัทก็ยังคงมีความมั่นใจในการเติบโตของธุรกิจอาหารในปีนี้

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะขยายสาขาของร้านอาหาร FOA ซึ่งเป็นร้านอาหารไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยจะเน้นการเปิดร้านในรูปแบบ Food Outlet หรือร้านอาหารขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือสถานีบริการน้ำมัน เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายยิ่งขึ้น ส่วนเรื่องแผนลงทุนด้านโลจิสติกส์ รวมเสริมสุขเข้ากับโออิชิ จะทำให้มีจุดขายมากขึ้นโดยจะมีการส่งโลจิสติกส์ 8 แสนจุดในทั่วประเทศไทยจากเดิมราว 4 แสนจุด 

ผ่าธุรกิจอาหาร ขุมทรัพย์ “ไทยเบฟ” ปั๊มรายได้ทะลุ 2 หมื่นล้าน

ในปี 2573 บริษัทมีวิสัยทัศน์ที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ โดยเริ่มจากการนำระบบ Kiosk หรือเครื่องสั่งอาหารอัตโนมัติ มาใช้ในร้านอาหาร KFC เพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งอาหารได้ด้วยตนเอง และเพิ่มความสะดวกสบายในการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัล

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะพัฒนาระบบสั่งอาหารออนไลน์และการจัดส่งอาหาร เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่นิยมสั่งอาหารผ่านช่องทางออนไลน์ บริษัทมุ่งมั่นที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่มผ่านร้านอาหารหลากหลายแบรนด์ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

  1. ร้านอาหารจานเดียว ราคาประหยัด: เน้นอาหารจานเดียวที่หลากหลายและราคาเข้าถึงง่าย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั่วไป
  2. ร้านอาหารโออิชิ: ครอบคลุมรูปแบบร้านอาหารที่หลากหลาย ตั้งแต่ร้านอาหารบริการตัวเอง (Limited Service) บุฟเฟต์ ไปจนถึงร้านอาหารหรู (Fine Dining) เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่มมากขึ้น
  3. ร้านอาหารที่พิเศษ: เช่น ร้านอาหารไทย ร้านอาหารตะวันตก และร้านอาหารจีน เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าเฉพาะเจาะจง

นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการเลือกทำเลที่ตั้งของร้านอาหาร โดยมุ่งเน้นไปยังทำเลที่มีศักยภาพสูง เช่น ศูนย์การค้าในเครือเฟรเซอร์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะนำรูปแบบร้านอาหารขนาดใหญ่ไปเปิดในทำเลเหล่านี้