นางนงชนก สถานานนท์ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ คอฟฟี่ คลับ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เอ็มเอฟ คาเฟ่ แอนด์ เรสเตอรองต์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทลงทุน 6 ล้านบาท เปิดร้าน “เดอะ คอฟฟี่ คลับ สาขา MDCU” เป็นสาขาที่อยู่ในอาคารหอสมุด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บนพื้นที่ 140 ตารางเมตร จำนวน 60 ที่นั่ง
โดยเป็นร้านกาแฟแบบ Grab & Go เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา และจะเป็นต้นแบบสำหรับร้านเดอะ คอฟฟี่ คลับ ที่จะเปิดในโรงพยาบาลของรัฐในอนาคตซึ่งเป็นสาขาที่ 42 ของ เดอะ คอฟฟี่ คลับ
เดอะ คอฟฟี่ คลับ MDCU นี้ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิด “Green Concept” ออกแบบอย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยใช้วัสดุรีไซเคิลและอัพไซเคิลในการตกแต่งร้าน เช่น โต๊ะและที่นั่งภายในร้านที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือ ฟอยล์จากบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มที่ผ่านการใช้งาน รวมถึง ฝุ่นไม้เหลือทิ้งจากโรงงานเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าในโรงพยาบาล เดอะ คอฟฟี่ คลับ MDCU ได้ออกเมนูเครื่องดื่มหลากหลายกว่า 40 รายการ พร้อมทั้งขนมหวานและเมนูเพื่อสุขภาพอีกกว่า 30 รายการ ในราคาที่จับต้องได้ เมนูเครื่องดื่มเริ่มต้น 48 บาท สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเป็นสวัสดิการของบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะ
ส่วนลูกค้าทั่วไป เริ่มต้นที่ 60 บาท กลยุทธ์นี้มุ่งเน้นไปที่การตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ หรือผู้ที่มาเยี่ยมผู้ป่วย ที่ต้องการอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณภาพ รวดเร็ว สะดวกสบาย ซึ่งสาขา MDCU เป็นสาขาเดียวที่ทำราคานี้และถูกกว่าสาขาอื่น 20-50%
โดยสาขา MDCU มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเฉลี่ยวันละ 400-500 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มแพทย์และนิสิตแพทย์ 30%, กลุ่มเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ 30% และกลุ่มบุคคลทั่วไปอีก 40% ของจำนวนลูกค้าทั้งหมด
แผนธุรกิจในปีหน้าบริษัทมีแผนขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยจะเปิดสาขาใหม่ 4-5 สาขาในเมืองท่องเที่ยวหลักอย่างกรุงเทพฯ ภูเก็ต และพัทยา แต่ละสาขาต้องใช้งบราว 7-8 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีแผนปรับปรุงสาขาเดิมอีก 5 แห่ง ด้วยงบสาขาละ 4-5 ล้านบาท เพื่อยกระดับบริการให้ดียิ่งขึ้น และยังมีแผนขยายตลาดสู่ต่างประเทศ โดยเริ่มจากการเปิดสาขาที่เวียงจันทน์ อีกทั้งตั้งเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจไว้ที่ 10%
ขณะที่ภาพรวมปีนี้มีผลประกอบการที่ดี โดยเฉพาะในไตรมาส 1 และ 2 แต่ไตรมาส 3 มีผลประกอบการลดลง เนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซัน ทำให้นักท่องเที่ยวน้อยลง อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 4 กลับมาดีขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลและนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา
นางนงชนก กล่าวต่อว่า กำไรของบริษัทในปีนี้เติบโตขึ้นอย่างมากถึง 20 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยมีปัจจัยสำคัญมาปรับโครงสร้างธุรกิจโดยการปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรและการลดต้นทุนต่างๆ เพื่อช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มกำไรได้
ในปีนี้และปีหน้าเราต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น โดยเฉพาะนมและกาแฟ ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเราอย่างมาก ทำให้เราจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เราตระหนักดีถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค จึงพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะควบคุมราคาไม่ให้สูงขึ้นไปอีก เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภค