การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับที่ ... พ.ศ. ... และลงมติให้ความเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครอบคลุมในเรื่องของ การควบคุม โดยให้ยกเลิกคำสั่งคณะปฏิวัติ และคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้อง
เพื่อคืนอำนาจฝ่ายบริหารในการกำหนดเวลา และสถานที่ ห้ามขายเพิ่มการกำกับดูแล ลดการขายให้เยาวชนและผู้อยู่ในภาวะมึนเมา ส่วนในด้านการโฆษณา เปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถแสดงผลิตภัณฑ์ได้ หากไม่มีเจตนาเพื่อการค้า และให้ผู้ประกอบการสามารถ #ประชาสัมพันธ์ ชื่อ และรายละเอียดสินค้าได้มากขึ้น โดยต้องไม่เป็นการเชิญชวนให้ดื่ม หรืออวดอ้างสรรพคุณ, ห้ามนำผลิตภัณฑ์ที่ใช้ตราเสมือน มาโฆษณาโดยสื่อให้เข้าใจว่าเป็นโฆษณาแอลกอฮอล์
ขณะที่บทลงโทษ ให้แยกโทษการโฆษณาของประชาชนโดยทั่วไป ที่ไม่เท่าทันกฎหมาย ออกจากโทษของผู้ประกอบการ ให้มีเพดานโทษที่น้อยกว่า, เพิ่มโทษของกรณีการขายสุราให้เยาวชน และเพิ่มอำนาจในการสั่งปิด ระงับใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาต ในกรณีที่กระทำผิดต่อเนื่องหรือร้ายแรง
อย่างไรก็ดีการมีมติให้ยกเลิกคำสั่งคณะปฏิวัติ ซึ่งออกประกาศตั้งแต่ปี 2515 ที่ระบุว่า ให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เฉพาะเวลา 11.00 น.-14.00 น. และตั้งแต่เวลา 17.00 น.-24.00 น. บ่งชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องเรียกร้องให้ปลดล็อกมาอย่างต่อเนื่อง
นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มาตรการปลดล็อกเวลาจำกัดการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากสามารถดำเนินการได้จริง จะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการร้านอาหารในหลายมิติ “เรื่องเหล้ามันเป็นเรื่องที่มีความเป็นสากล” ในอดีตคนไทยอาจจะไม่ค่อยนิยมดื่มแอลกอฮอล์ช่วงกลางวันเท่าไรนัก แต่ในแง่ของผู้ประกอบการร้านอาหารแล้ว การเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะดื่มหรือไม่ในช่วงเวลาใด เป็นเรื่องของเสรีภาพในการบริโภค และช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปได้ราบรื่นมากขึ้น
“ร้านที่มี 20 โต๊ะ อย่างน้อยก็ต้องมีสัก 1-2 โต๊ะที่อยากดื่มเบาๆ ตอนกินข้าวกลางวัน หรือประชุมคุยงานแล้วอยากจิบอะไรนิดหน่อย บางร้านเขาก็ใช้วิธีให้ลูกค้าสั่งตุนไว้ก่อน 14.00 น. แล้วค่อยนั่งดื่มช่วงเวลาห้ามขาย ซึ่งมันก็ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องนัก”
สำหรับแหล่งท่องเที่ยวหรือโรงแรมมองว่า มาตรการห้ามขายแอลกอฮอล์ช่วงบ่าย 2 ถึง 5 โมงเย็นนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก เพราะนักท่องเที่ยวมักจะเริ่มดื่มหลัง 18.00 น. อยู่แล้ว แต่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจริงคือคนไทยที่ไปทานข้าวช่วงกลางวันและอยากจิบเบาๆ พอไม่ได้ ก็อาจเกิดความไม่พอใจ กลายเป็นปัญหาระหว่างร้านกับลูกค้า
“บางทีลูกค้าไม่เข้าใจ ร้านก็ไม่อยากผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่อยากมีปัญหา ลูกค้าอยากดื่ม ร้านก็อยากขาย เพราะเศรษฐกิจตอนนี้ไม่เอื้อให้ปฏิเสธลูกค้าได้ง่ายๆ”
แม้ที่ผ่านมา ยังไม่ค่อยมีคดีร้ายแรงจากการฝ่าฝืนกฎหมายเรื่องเวลาแอลกอฮอล์ แต่ก็สร้างความกังวลให้ร้านอาหารอยู่ไม่น้อย เพราะหากมีการแจ้งความหรือร้องเรียนขึ้นมา ก็อาจต้องเสียเงินเสียเวลาในการเคลียร์เรื่องต่างๆ โดยไม่จำเป็น เจ้าของร้านหลายคนโทรมาหา ถามว่าแนวทางนี้จะผ่านไหม จะปลดล็อกจริงหรือหรือไม่ อยากให้ทำเร็วๆ เพราะมันช่วยให้เขาทำธุรกิจได้อย่างสะดวก ไม่ต้องกังวลว่าจะผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย
ในฐานะนายกสมาคมภัตตาคารไทย เห็นว่าการปลดล็อกมาตรการนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะหันมาดื่มกลางวัน แต่เป็นการคืนอำนาจให้กับผู้บริโภคในการเลือก และคืนความมั่นใจให้ผู้ประกอบการในการให้บริการอย่างโปร่งใส การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคอาจต้องใช้เวลา แต่หากรัฐปลดล็อกกฎหมายให้สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของสังคม ก็เชื่อว่าจะช่วยสร้างสมดุลระหว่างความรับผิดชอบและเสรีภาพได้อย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ามาตรการนี้อาจมีส่วนช่วยกระตุ้นยอดขายของร้านอาหารได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ร้านมักขายไม่ดีอย่างช่วง 15.00-17.00 น. ซึ่งปกติเป็นช่วงที่เงียบเหงาและไม่ค่อยมีลูกค้า แต่หากสามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในช่วงนี้ ก็อาจสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าแวะเข้าร้านมากขึ้น แต่ก็เชื่อว่า ยอดขายแอลกอฮอล์ในร้านอาหารอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นแบบหวือหวา เพราะโดยทั่วไป อาหารยังเป็นรายได้หลักของร้านอยู่แล้ว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจช่วยเพิ่มยอดเพียง 10-20% เท่านั้น แต่ก็ถือว่าเป็นแรงเสริมที่ดีในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
นายกวี สระกวี นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย กล่าวว่า จากกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และปรับปรุงกฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ทันสมัย ผู้ประกอบการจึงเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการห้ามขายในช่วงเวลาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. ซึ่งเป็นประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 พ.ศ. 2515 ในยุคจอมพลถนอม กิตติขจร โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันข้าราชการดื่มในเวลาทำงาน ซึ่งมาตรการห้ามขายนั้นมีอยู่ในทุกประเทศ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีลักษณะฟันหลอแบบประเทศไทย ซึ่งคนไทยอาจจะคุ้นเคยและปรับตัวได้แล้ว สามารถซื้อก่อนเวลาหรือซื้อตุนไว้ได้ แต่สำหรับนักท่องเที่ยวซึ่งเพิ่งเดินทางมาถึงแล้วไม่ได้เตรียมตัวมา ก็อาจจะไม่ได้พักผ่อนอย่างที่ตั้งใจไว้
ทั้งนี้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างรายได้ให้เศรษฐกิจไทยประมาณ 6 แสนล้านบาท และรัฐมีรายได้จากภาษีปีละ 1.5 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการตระหนักถึงต้นทุนทางสังคมและประเด็นที่หลายฝ่ายกังวล เช่น การเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชน และปัญหาเมาแล้วขับ
“ขอบคุณรัฐบาลที่ฟังเสียงคนที่มาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยว เนื่องจากมาตรการดังกล่าวมีอายุมากกว่า 50 ปี และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการห้ามขายในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งการยกเลิกครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย”
นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารต้องการคือ อยากให้รัฐบาลปลดล็อคการขายสุราหรือแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาบ่าย 2 โมงถึง 5 โมงเย็น สำหรับธุรกิจร้านอาหาร เพื่อให้ร้านอาหารสามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในช่วงเวลานี้ ซึ่งชมรมมองว่าเป็นช่วงเวลาที่มีผลกระทบน้อยที่สุดต่อเยาวชน เพราะเป็นเวลาที่เด็กนักเรียนยังอยู่ในห้องเรียน และผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ก็ยังทำงานอยู่
“การที่รัฐบาลอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลาบ่าย 2 ถึง 5 โมงเย็น โดยเฉพาะในร้านอาหาร ผลกระทบที่มีต่อเยาวชนในระดับที่ไม่มากนัก เพราะเป็นช่วงเวลาเยาวชนยังเรียนอยู่ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งปลดล็อคการขายสุราในช่วงเวลานี้เพื่อให้ธุรกิจร้านอาหารสามารถเพิ่มรายได้และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นได้”