นายธีรวัฒน์ เลิศถิรพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสกลุ่ม Asian Cuisine บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการที่อาหารญี่ปุ่นกลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์คนไทยอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตได้จากการที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน Top 10 ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปญี่ปุ่นมากที่สุด ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่าอาหารญี่ปุ่นได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในประเทศ
แม้จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การเติบโตเริ่มชะลอตัวลง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ร้านอาหารญี่ปุ่นต้องปรับตัวเพื่อรักษาความได้เปรียบในตลาดที่มีการแข่งขันสูง โดยร้านที่สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ในสถานการณ์นี้คือร้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และให้ความสำคัญกับคุณภาพอาหารและบริการ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักในการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง
ปัจจัยบวกที่ส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยคือการให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายมากขึ้นของผู้บริโภค ซึ่งทำให้ร้านอาหารญี่ปุ่นสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ นอกจากนี้การเติบโตของบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น ยังเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ร้านอาหารญี่ปุ่นมีช่องทางในการขยายฐานลูกค้า
ในทางกลับกันปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นคือการแข่งขันที่สูงขึ้นจากจำนวนร้านที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงต้นทุนที่สูงขึ้นในด้านวัตถุดิบและแรงงาน อีกทั้งผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง และส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในตลาดนี้
ส่วนราคาปลาแซลมอนที่มีราคาพุ่งสูงถึง 40% และสงครามรัสเซีย-ยูเครน บริษัทได้ดำเนินการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การลดการสูญเสียวัตถุดิบในแต่ละสาขา โดยการแชร์วอลลุ่มการสั่งซื้อปลาแซลมอนระหว่างแบรนด์ต่าง ๆ ในเครือ เพื่อช่วยลดต้นทุนต่อหน่วย
นอกจากนี้ยังได้ค้นหาผู้จัดหาวัตถุดิบทางเลือก (alternative supplier) เพื่อให้ได้ราคาที่ดีที่สุด และมีการใช้พาร์ทเนื้อปลาชนิดอื่นเพื่อลดต้นทุน และรักษาคุณภาพให้คงที่
นายธีรวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนธุรกิจในปี 2568 ซีอาร์จี เตรียมทุ่มงบ 200 ล้านบาท สำหรับขยายสาขาใหม่ และการปรับโฉมร้านให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยเฉพาะมุมถ่ายภาพที่ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของร้านและกระตุ้นให้ลูกค้าแชร์ภาพถ่ายบนโซเชียลมีเดีย และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น QR Ordering และ Tablet Ordering มาใช้ในการบริการลูกค้า
รวมถึงเดลิเวอรี่ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่นำมาใช้ อีกทั้งการพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่เหนือกว่าให้กับลูกค้า โดยในปีนี้ Asian Cuisine ยังมีแผนการลงทุนในแบรนด์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับอาหารจากประเทศญี่ปุ่น, เกาหลี และจีน
ส่วนเทรนด์ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพ และประสบการณ์การบริโภคที่ดีมากขึ้น และในอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่าผู้บริโภคจะยังคงตระหนักถึงผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ร้านที่สามารถปรับตัวและตอบสนองกับเทรนด์เหล่านี้ได้จะมีโอกาสเติบโต และสร้างความแตกต่างในตลาดอย่างชัดเจน
ปัจจุบัน กลุ่มแบรนด์ Asian Cuisine ของ CRG ประกอบด้วย 9 แบรนด์ชั้นนำ ได้แก่ เปปเปอร์ ลันช์, ชาบูตง, ราเมน โยชิโนยะ, โอโตยะ, เทนยะ, คัตสึยะ, ราเมน คาเก็ตสึ, อาราชิ, คิอานิ, และส้มตำนัว โดยตั้งเป้าหมาย 2,400 ล้านบาท คิดเป็น 20% ของยอดขายรวมของ CRG
ขณะที่ข้อมูลจาก JETROองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ระบุว่า ธุรกิจร้านอาหารในปี 2567 มีมูลค่า 5.45 แสนล้านบาท เติบโต 8.9% โดยร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ เช่น ร้านอาหารญี่ปุ่น มีมูลค่าราว 2.07 แสนล้านบาท เติบโต 6.9% ส่วนปี 2568 คาดว่าธุรกิจร้านอาหารจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 5.72 แสนล้านบาท เติบโต 4.8% โดยร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ จะมีมูลค่าราว 2.13 แสนล้านบาท เติบโต 2.9%
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,086 วันที่ 10 - 12 เมษายน พ.ศ. 2568