องค์กรงดเหล้า เผยสงกรานต์ เหล้า-เบียร์แบรนด์ดัง แห่ทำผิดกม. 137 จุด ใครรับผิดชอบ?

15 เม.ย. 2568 | 09:40 น.
อัปเดตล่าสุด :15 เม.ย. 2568 | 09:48 น.

เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เผยวันสงกรานต์พบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบรนด์ดัง ร้านสะดวกซื้อ แห่ขายเหล้า เบียร์ ผิดกฎหมาย ทั้งลดราคา ขายนอกเวลาที่กำหนด พร้อมสปอนเซอร์ดนตรี ชมฟรีและขายบัตร

นายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) รายงานข้อมูลจากเครือข่ายเฝ้าระวังการตลาดของธุรกิจสุราในช่วงสงกรานต์ ในช่วงวันที่ 12-14 เมษายน 2568 พบว่า ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ของประเทศ ที่จำหน่ายสินค้ายี่ห้อเบียร์สิงห์ เบียร์ลีโอ เบียร์ช้าง เบียร์คาราบาว  รวมรายย่อยอื่นๆ จัดกิจกรรมดนตรี ทั้งเข้าชมฟรี และเสียค่าบัตร

หรือจัดซุ้มส่งเสริมการขายแบบไม่เกรงใจสังคม จำนวนกว่า 137 จุดทั่วประเทศ แบ่งเป็น จุดพื้นที่เล่นน้ำบนถนนและริมน้ำริมหาด 42 จุด จุดร้านผับบาร์คล้ายสถานบันเทิง 60 จุด และจุดแสดงดนตรีสถานที่เอกชนรวมทั้งหน้าห้างสรรพสินค้า 35 จุด ทั่วประเทศ

จากผลการเฝ้าระวังและการสังเกตโดยภาพรวม พบว่า ไม่มีการแสดงใบอนุญาตขาย ขายในราคาต่ำกว่าปกติ เช่น ซื้อ 4 กระป๋องราคา 199บาท ตกกระป๋องละ 49.75บาท ปกติ 60บาท ไม่สนว่าจะเป็นเด็กหรือคนเมา ไม่สนใจเวลาห้ามขาย ในช่วง14.00 -17.00 น.

แม้แต่ร้านสะดวกซื้อชื่อดังยังใช้วิธีการออกมาตั้งขายหน้าร้านเพื่อเลี่ยงกฎหมายซึ่งไม่แน่ใจว่าสำนักงานใหญ่จะทราบหรือไม่หรือยอมรับให้กระทำได้หรือไม่ รวมทั้งเจ้าหน้าที่สรรพสามิตที่ต้องตรวจสอบการขายให้ถูกต้อง

พื้นที่เล่นน้ำริมถนน แพเปียก หรือริมหาด ที่เกิดขึ้นเองรัฐไม่ได้จัดการ หรือบางแห่งฝ่ายราชการท้องถิ่นจัดเองแต่ไม่ได้ควบคุมตามกฎหมาย ทำให้เป็นช่องว่างทำให้พ่อค้าแม่ค้าซื้อสินค้าเหล้าเบียร์มาวางขายกันเอง โดยมักจะอ้างว่าเป็นโอกาสปีละครั้งที่จะมีรายได้ของร้านค้ารายย่อย แต่พบว่า มีคนเมาบนถนน เด็กเยาวชนซื้อได้ง่าย และมักจะเกิดเหตุทะเลาะวิวาท เกิดความรุนแรง

รวมทั้ง คนมาเที่ยวงานแบบนี้ขับขี่มอเตอร์ไซด์ หรือรถกระบะที่มีความเสี่ยงจากการดื่มแล้วขับ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวทางฝ่ายเครือข่ายจะรวบรวมแล้วส่งให้ส่วนราชการในการวางแผนควบคุมเพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงต่อคนอื่นๆ ต่อไป โดยเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่ส่วนราชการกำกับดูแลควบคุมแล้วมีความปลอดภัยมากกว่าชัดเจน

รายงานยังระบุว่า พื้นที่จัดงานสงกรานต์ของภาคเอกชนหลายแห่ง มีการปฏิบัติตามกฎหมายหรือใช้สโลแกนสงกรานต์สนุกได้ไร้แอลกอฮอล์ เช่น ห้างสรรพสินค้าในเครือเซ็นทรัล สาขานครศรีธรรมราช และสาขานครราชสีมา

องค์กรงดเหล้า เผยสงกรานต์ เหล้า-เบียร์แบรนด์ดัง แห่ทำผิดกม. 137 จุด ใครรับผิดชอบ?

พบว่า ได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน แต่มีหลายสาขาในจังหวัดอื่นๆ พบว่ามีสปอนเซอร์จากธุรกิจสุราเบียร์ทำให้เข้าข่ายผิดกฎหมาย ซึ่งเครือข่ายเข้าใจในการทำธุรกิจแต่หากไม่กระทำที่ผิดกฎหมาย และมีความปลอดภัยน่าจะมีประโยชน์ต่อประชาชน

จุดที่น่ากังวล คือ มีความเข้าใจผิดว่ากฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้แก้ไขผ่อนปรนไปแล้วซึ่งยังไม่ใช่ รวมทั้ง การเอาจริงของเจ้าหน้าที่รัฐในด้านการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2551 โดยจะเป็นบทเรียนว่า ในการแก้ไขกฎหมายในสภาขณะนี้จะสามารถทำให้เกิดการปฏิบัติได้จริงอย่างไร

ทั้งนี้ จากการติดตามเจ้าหน้าที่ตำรวจเรื่องการตรวจวัดแอลกอฮอล์ในการขับขี่ พบว่ามีเจ้าหน้าที่หลายแห่งได้ดำเนินการอย่างจริงจัง แต่สังคมโซเชียล แสดงความไม่เข้าใจไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ในหลายแห่ง หาว่ามาทำลายความสุข ปีหนึ่งมีครั้งหนึ่งทำไมมาทำแบบนี้ หรือให้ไปจับยาบ้าดีกว่ามาจับคนดื่มแล้วขับ ซึ่งสะท้อนความยากลำบากของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน

นายธีระ กล่าวอีกว่า ในช่วงสงกรานต์ 12 – 15 เมย. นี้รวมทั้งหลังสงกรานต์วันไหลต่อเนื่องไปจนสิ้นเดือน ธุรกิจสุราเบียร์ ได้ประโยชน์มากที่สุดในซัพพลายเชนของงาน แต่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เพราะผู้จัดงานหากงานเสียหายยกเลิกเพราะคนเมาทะเลาวิวาท หรือผู้บริโภค รวมทั้งประชาชนที่ไม่ดื่มเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดและเหตุบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ การทะเลาวิวาทก็จะไปรวมกันที่โรงพยาบาล และโรงพักจนถึงศาล

ดังนั้นภาครัฐต้องควบคุมการทำตลาดของธุรกิจอย่างจริงจัง เช่น ก่อนจัดงาน เชิญเจ้าของบริษัทมาสะท้อนปัญหาและขอให้ธุรกิจต้องควบคุมกิจกรรมของตนเองให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยข้อมูลของเครือข่ายจะเป็นการสะท้อนคืนให้กับภาครัฐต่อไป จะทำให้ธุรกิจต้องรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่านี้