กรณีผู้โดยสารของไทยเวียตเจ็ท ร่วม 300 คน ตกค้างสนามบินภูเก็ตคืนวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา จากการดีเลย์จากกรุงเทพฯ มีการยกเลิกเที่ยวบินและรวมไฟล์ท
ทำให้ผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งบนเครื่องบินไป 1 คน ทั้งไม่สามารถนำเครื่องบินบริการได้ทันก่อนเวลาสนามบินภูเก็ตปิดทางวิ่ง
ล่าสุดสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท.ได้ชี้แจงกรณีเที่ยวบินของสายการบินไทยเวียตเจ็ทที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ ดังนี้
จากกรณีที่ปรากฏข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์กรณีเที่ยวบินของสายการบินไทยเวียตเจ็ทล่าช้าและยกเลิกเที่ยวบินเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 จำนวน 3 เที่ยวบิน และมีกรณีผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งของเครื่องบิน
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยและการดูแลผู้โดยสารกรณีเที่ยวบินล่าช้าและยกเลิกเที่ยวบิน ซึ่งสายการบินต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงคมนาคม
เรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553 จึงได้เชิญผู้แทนสายการบินไทยเวียตเจ็ท เข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว โดยจากการตรวจสอบ CAAT ขอชี้แจงข้อสรุปเบื้องต้น ดังนี้
1. สายการบินไทยเวียตเจ็ทชี้แจงว่า มีความจำเป็นต้องยกเลิกเที่ยวบินดังกล่าว เนื่องจากการล่าช้าสะสมต่อเนื่องของการให้บริการภาคพื้น ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และส่งผลให้ไม่สามารถปฏิบัติการบินได้ทันก่อนกำหนดเวลาประกาศปิดเพื่อซ่อมทางวิ่งของท่าอากาศยานภูเก็ต ในเวลา 23.30 น.
2.การล่าช้าสะสมนั้นทำให้เที่ยวบิน VZ2304 ที่บินจากกรุงเทพฯ ไปยังภูเก็ตต้องยกเลิก และส่งผลต่อเนื่องให้เที่ยวบินขากลับจากภูเก็ตคือ VZ2305 ต้องถูกยกเลิกไปด้วย
สายการบินจึงขอย้ายผู้โดยสารจากเที่ยวบิน VZ2305 ที่มีความจำเป็นต้องต่อเครื่องมาขึ้นเครื่องของเที่ยวบิน VZ309 ซึ่งกำลังจะออกจากทางภูเก็ต
อย่างไรก็ดี ในขั้นตอนการถ่ายโอนผู้โดยสารนั้น มีความผิดพลาดทำให้ออกที่นั่งซ้ำกันจึงเป็นเหตุให้เกิดจำนวนผู้โดยสารเกินตามที่เป็นข่าว ทำให้เที่ยวบิน VZ309 ต้องย้อนกลับมาที่ gate เพื่อตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง และท้ายสุดไม่สามารถเดินทางได้เนื่องจากเกินเวลาจึงต้องยกเลิกเที่ยวบิน VZ309 ด้วย
3. สายการบินไทยเวียตเจ็ทได้ดูแลผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553
โดยการจัดอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนจัดหาที่พักให้กับผู้โดยสารทั้งที่กรุงเทพและภูเก็ต ทั้งนี้สายการบินไทยเวียตเจ็ทได้เสนอการดูแลผู้โดยสารด้วยการคืนเงินค่าโดยสาร
หรือการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินให้แก่ผู้โดยสารให้สามารถเดินทางได้ในช่วงเช้าของวันที่ 2 ธันวาคม 2565 หรือตามวันที่ผู้โดยสารต้องการ
นอกจากนี้สายการบินได้จ่ายค่าชดเชยในรูปแบบของเงินสด 1,200 บาท หรือ Travel Voucher มูลค่า 1,500 บาท
4. สำหรับประเด็นการมีผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งของเครื่องบินซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความปลอดภัยนั้น CAAT ได้สั่งการให้สายการบินไทยเวียตเจ็ทชี้แจงรายละเอียดเพื่อให้ CAAT ดำเนินการตรวจสอบต่อไป
ทั้งนี้ผู้โดยสารสามารถติดต่อสายการบินไทยเวียตเจ็ท เพื่อแจ้งความประสงค์และขอรับค่าชดเชยได้โดยตรง แต่หากมีข้อขัดข้องสามารถร้องเรียน คลิ๊กที่นี่
CAAT จะตรวจสอบหลักฐานการดูแลผู้โดยสารของสายการบินในทุกเที่ยวบิน หากตรวจสอบพบว่ามีการปฎิบัติที่ไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงคมนาคมฯ หรือมีผู้โดยสารร้องเรียนว่าไม่ได้รับการดูแล จะถูกพิจารณาความผิดและดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. การเดินอากาศฯ อย่างเคร่งครัดต่อไป