แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วิทยุการบิน อยู่ระหว่างร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาการจัดระเบียบการใช้ "โดรน" ให้ถูกต้องตามกฎหมาย
รวมถึงการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสำหรับการบินโดรนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เหมือนดังเช่นที่วิทยุการบินเรียกค่าบริหารจัดการจราจรทางอากาศกับสายการบินต่างๆที่ทำการบินในน่านฟ้าไทย ซึ่งเรียกเก็บไม่เท่ากันตามน้ำหนักของอากาศ ตามแนวคิดของทีมผู้บริหารบวท.ชุดใหม่
เนื่องจากการบินโดรน ถือว่าเป็นการปฏิบัติการบินในน่านฟ้าไทยเช่นกัน ประกอบกับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ด้วยความที่เกิดโควิด-19 ทำให้สายการบินยกเลิกและลดเที่ยวบินไปเป็นจำนวนมาก วิทยุการบินจึงขาดสภาพคล่องอย่างหนัก เพราะไม่สามารถเรียกเก็บค่าบริการจากสายการบินได้
โดยในปี 64 มีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายถึง 6.6 พันล้านบาท ทำให้ต้องกู้เงินมาร่วม 2 พันกว่าล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินหมุนเวียน
จากบทเรียนที่เกิดขึ้นทำให้ผู้บริหารชุดนี้จึงมีแนวคิดที่จะจัดเก็บค่าบริหารจัดการจราจรทางอากาศกับอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน ที่นับวันมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาทั้งในเรื่องของอัตราการจัดเก็บว่าควรจะอยู่ที่เท่าไหร่จึงจะเหมาะสม จะจัดเก็บแบบใด รวมไปถึงการจะจัดเก็บทุกโดรนทุกลำที่ขึ้นบินหรือไม่ หรือจะเป็นโดรนที่ใช้บินเฉพาะในเชิงพาณิชย์เท่านั้น
ทั้งนี้เพราะการบินโดรนในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ในกลุ่มเกษตรกรค่อนข้างมาก โดยนำไปใช้เพื่อการพ่นยา แต่การใช้ในเชิงพาณิชย์ก็มีแนวโน้มการเติบโตดี แล้วจะมีผลย้อนหลังกับจำนวนโดรนที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องยังไม่ได้มีการลงรายละเอียด แต่มีการหารือว่าจะจัดเก็บแน่นอน โดยจะเป็นการพัฒนาขึ้นไปอีกสเต็ป
จากปัจจุบันที่วิทยุการบินได้ร่วมกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดทำแอพพลิเคชั่น “OpenSky” เพื่อเปิดให้ผู้ควบคุมโดรนได้ทดลองใช้แอพพลิเคชั่นนี้ เพื่อขออนุญาตก่อนการบินโดรน ที่จะนำร่องในกรุงเทพฯรัศมี 35 ไมล์รอบกรุงเทพ (หรือราว 65 กิโลเมตรจากสนามบินดอนเมือง) และขยายไปทั่วประเทศในอนาคต โดยเฉพาะพื้นที่อีอีซี ซึ่งในจุดนี้ยังไม่ได้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
ทั้งนี้จากข้อมูลของกพท.พบว่าในปี 2564 มีโดรนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 41,256 โดรน ทั้งจากข้อมูลจากที่ประชุมอีอีซี ยังคาดว่าประเทศไทย จะมีการใช้โดรนมากถึง 700,000 ลำ ในเวลา 5 ปี และกว่า 80% จะใช้งานในพื้นที่อีอีซี ตามแนวคิดการสร้างเมืองการบิน รวมทั้งต่อ ยอดไปยังอุตสาหกรรมการผลิต และการแพทย์ครบวงจร เพื่อยกระดับการให้บริการและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ New S Curve
ไม่เพียงการจัดเก็บอัตราการบินโดรนเท่านั้น แต่จะมีการควบคุมโดรนให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย เพราะปัจจุบันใครๆก็สั่งซื้อโดรนมาใช้จากที่ไหนก็ได้ แต่ต้องมาลงทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.เพื่อขออนุญาตใช้คลื่นความถี่โดรน
รวมถึงผู้ที่จะบังคับโดรนต้องลงทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศ ไทย (CAAT) หรือ กพท. แต่ต่อไปในกฎหมายจะระบุว่าต้องซื้อโดรนผ่านบริษัทที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเท่านั้น และจะมีการระบบติดรหัสโดรนทุกตัว เพื่อใช้ในการควบคุม
ทั้งนี้มุมของคนในวิทยุการบินมองว่า การจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการบินโดรน ในห้วงอากาศ ซึ่งวิทยุการบินบริหารจัดการอยู่ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีกับองค์กร เพราะต้องใช้หนี้ที่ไปกู้มา และการจะพึ่งพิงรายได้จากสายการบินเท่านั้นเหมือนในอดีตก็จะความเสี่ยงอย่างมาก
“ด้วยความที่เราเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ไม่แสวงหากำไร การหารายได้ใหม่เข้ามาก็ช่วยทำให้มีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น”
แต่ในส่วนกรณีที่มีความพยายามผลักดันว่าจะต้องซื้อโดรนผ่านบริษัทที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเท่านั้น จุดนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆกับวิทยุการบิน แต่จะเป็นการเปิดทางให้บริษัทที่มีความสัมพันธ์กับทางกลุ่มการเมืองหรือไม่ก็มีหลายคนตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้อยู่ก็ต้องจับตาดู
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ปัจจุบันทีมผู้บริหารของวิทยุการบิน วงในระบุว่าส่งตรงมาจากนายศักดิ์สยามชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งประธานบอร์ด นายระพี ผ่องบุพกิจ ประธานบอร์ด บวท.คนปัจจุบัน ข้าราชการบำนาญ กระทรวงมหาดไทย ที่ก่อนหน้านี้เคยนั่งเป็นกรรมการบอร์ดมาปีก่อน
ขณะที่เบอร์ 1 ในบริษัท อย่าง นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทวิทยุการบิน อดีตคณบดี วิทยาลัยชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เคยเป็นที่ปรึกษาในทีมของศักดิ์สยาม ชิดชอบ แต่ด้วยเจ้าตัวเป็นวิศวะที่มีความรู้ด้านนวัตกรรมดิจิทัล ก็ทำให้คนในก็มองว่ามีคุณสมบัติที่ยอมรับได้
แต่ทั้งสิ่งที่ทำให้คนวิทยุการบินรู้สึกไม่พอใจอย่างมาก คือ การแต่งตั้งนายมนตรี สุคนธมาน ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้ามาดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ โดยคนในมองว่าเป็นการล้วงลูก เพราะเป็นปีแรกที่ตำแหน่งนี้เปิดสรรหา คุมทั้งสายวิศวกรรมและดูด้านพัฒนาธุรกิจ
โดยคนที่จะนั่งเก้าอี้นี้ก็จะเป็นพนักงานในองค์กรยาวจึงถึงเกษียณ ก็เหมือนกับเป็นการวางคนของตัวเองไว้ ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)