กระทรวงท่องเที่ยว-ททท.ดันปากพะยูน เมืองท่องเที่ยวสีเขียว-โลว์คาร์บอน

17 ธ.ค. 2565 | 07:46 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ธ.ค. 2565 | 15:09 น.

กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วม ททท. ดันปากพะยูน จ.พัทลุง เป็นเมืองท่องเที่ยวสีเขียว-โลว์ คาร์บอน ชู “หลาดปากยูน-มิวเซียมรังนก-ลุงแลนด์ แกรนด์พัทลุง” จุดเช็ค อิน ที่พลาดไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ “ร่างแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และเส้นทางท่องเที่ยวอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง” โดยผู้เข้าร่วมประชุมมาจากทุกภาคส่วน ประกอบด้วยหน่วยราชการส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลปากพะยูน อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง

 

นายเรวัต จันทนงค์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน กรมการท่องเที่ยว ในฐานะประธานการประชุม กล่าวว่า อำเภอปากพะยูน มีต้นทุนสูงทางการท่องเที่ยวทั้งธรรมชาติ และวัฒนธรรม และจะได้โอกาสครั้งสำคัญจากโครงการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดสงขลา และจังหวัดพัทลุง ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวใหม่ของพัทลุงในอนาคตอันใกล้

ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมวางแผนดันท่องเที่ยว อ.ปากพะยูน

 

ดังนั้นกรมการท่องเที่ยวจึงริเริ่มจัดทำร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนตั้งแต่เริ่มต้น โดยได้ร่วมกับ ททท. ลงพื้นที่เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ และความต้องการของคนในพื้นที่ ก่อนจะกำหนดกรอบแนวทางร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อขับเคลื่อนให้ไปในทิศทางเดียวกัน และเกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ

 

สำหรับการจัดทำร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนครั้งนี้ ยังได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria) โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มในเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการยกระดับเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

 

กระทรวงท่องเที่ยว-ททท.ดันปากพะยูน เมืองท่องเที่ยวสีเขียว-โลว์คาร์บอน

 

ขณะที่ ดร.แก้วตา ม่วงเกษม หัวหน้าคณะที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำเสนอ ร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง พ.ศ. 2566 – 2570 มีวิสัยทัศน์ในการ มุ่งสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่มีความมั่นคงทางอาหาร บนพื้นฐานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม และพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

 

โดยร่างแผนพัฒนาดังกล่าว เกิดจากการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ใน 5 ด้าน คือ โครงสร้างพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิตตามมาตรฐานสากล พัฒนาบุคลากร พัฒนาระบบจัดการสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม พัฒนาเชิงวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของพื้นที่ และยกระดับการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบเพื่อปกป้องความั่นคงทางอาหารของพื้นที่

 

ส่วนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมาจาก 3 รูปแบบ คือ 1.หลาดปากยูน เป็น Green Market เน้นความมีเอกลักษณ์ของตลาดสดท่าเรือปากพะยูน ซึ่งสะท้อนความเป็นแหล่งอาหารที่เกิดจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรท่ามกลางการอยู่ร่วมกันของผู้คนอย่างกลมกลืน ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่เทศกาลอาหาร ชูวัตถุดิบท้องถิ่น การทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ

 

2.มิวเซียมรังนก เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่พัฒนาไปสู่ศูนย์กลางการเรียนรู้อนุรักษ์รังนกนางแอ่นธรรมชาติ (มิวเซียมรังนก) แห่งแรกในประเทศไทยจากแหล่งรังนกนางแอ่นธรรมชาติที่ ตำบลเกาะหมาก ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมทั้งในด้านเนื้อหา และศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยว

 

3.“ลุงแลนด์ แกรนด์พัทลุง” เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่ถูกค้นพบใหม่ มีภูมิทัศน์ของหินผาบนที่ราบกว้างที่สวยงามโดดเด่นแตกต่างจากที่อื่น นำไปสู่การพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับตัวตนของพื้นที่ และเชื่อมโยงไปสู่ชุมชนใกล้เคียง 

 

รูปแบบการท่องเที่ยวตามแผนพัฒนาฯ เน้นให้ความสำคัญกับการสื่อสารและสืบทอดอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ทั้งในด้านอาหาร ประเพณีท้องถิ่น ภาษา ไปจนถึงดนตรี

 

กระทรวงท่องเที่ยว-ททท.ดันปากพะยูน เมืองท่องเที่ยวสีเขียว-โลว์คาร์บอน

 

ขณะเดียวกันหัวหน้าคณะที่ปรึกษาโครงการฯ ยังสรุปตัวแปรที่เป็นกลไกสำคัญในการเป็นเมืองยั่งยืนของอำเภอปากพะยูนใน 5 ประเด็นคือ 1.การจัดการระบบนิเวศที่เชื่อมโยงถึงความมั่นคงทางอาหาร 2.ส่งสริมความเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม 3.อนุรักษ์นกนางแอ่น แหล่งหญ้าทะเล ตลอดจนทรัพยากรชายฝั่ง

 

4.พัฒนาสินค้าท้องถิ่นบนแพลตฟอร์มห่วงโซ่สีเขียว และ 5. ก้าวสู่เมือง Low Carbon แห่งการท่องเที่ยว

 

ด้าน นางสาววรรณภา เกียรติพงษา ผู้อำนวยการกองสร้างสรรค์สินค้าการท่องเที่ยวฝ่ายสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชี้ว่า การให้ความสำคัญกับแหล่งท่องเที่ยวสีเขียว หรือ Green Destinations ในระดับสากลตามเกณฑ์ของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC-D) จำเป็นต้องแสวงหาจุดร่วมของการพัฒนาที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่การประเมินการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

 

ทั้งนี้ อำเภอปากพะยูน มีเรื่องราวของความเชื่อมโยงระหว่างผู้คน และพื้นที่ แม้จะมีกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบ เช่น สัมปทานรังนกนางแอ่น การประมง แต่ชุมชนก็มีธรรมนูญแห่งการปกป้องนิเวศจนสามารถรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรมาได้อย่างยาวนานกว่า 133 ปี เกิดความมั่นคงทางอาหาร และการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย แต่มีคุณค่า

 

“การนำเสนอเรื่องเล่านี้มีความพิเศษต่อการที่จะก้าวไปสู่การเป็นแหล่ง Green Destinations และให้ภาพที่ชัดเจนของปากพะยูนในการเป็นพื้นที่ต้นแบบที่เน้นความสัมพันธ์ของการจัดการสิ่งแวดล้อม และปัญหาสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป”  ผู้อำนวยการกลุ่มงานอำนวยการด้านสินค้า และธุรกิจท่องเที่ยว ททท. กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดการประชุม ตัวแทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ให้ความสนใจ และร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งประธานที่ประชุม กล่าวว่า จะนำข้อคิดเห็นต่าง ๆ จากที่ประชุมไปประมวล และปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และจะเผยแพร่ให้ส่วนราชการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป