นายชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับ กรุงเทพมหานคร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และภาคีเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและพลิกฟื้นบรรยากาศของเมืองให้สามารถรับนักท่องเที่ยวได้ทุกมิติ
ทั้งสิ่งแวดล้อม การเดินทาง วัฒนธรรม ธุรกิจ ชุมชน และทุกความหลากหลาย พร้อมขยายพื้นที่ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์สู่ 5 ย่านใหม่ รับการเปิดเมืองปี 66 โดยคาดว่าจะนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 100,000 คน สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท
สำหรับการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 หรือ Bangkok Design Week 2023 (BKKDW2023) โดยจะจัด 9 วัน 9 ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้ธีม urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี
นายชาคริต กล่าวต่อไปอีกว่า เทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2566 จะเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ทำให้เกิดระบบนิเวศเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งสร้างโอกาสและรายได้ทางธุรกิจ ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสร้างเครือข่าย รวมทั้งกระตุ้นย่านและผลักดันเมืองสร้างสรรค์กรุงเทพฯ โดยได้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 6
นำเสนอโจทย์หลักของการออกแบบและความสร้างสรรค์ ที่จะช่วทำเมืองให้เป็นมิตรที่ดียิ่งขึ้นผ่าน 6 มิติ ได้แก่ เป็นมิตรที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรที่ดีต่อคนเดินทาง เป็นมิตรที่ดีต่อวัฒนธรรม เป็นมิตรที่ดีต่อธุรกิจ เป็นมิตรที่ดีต่อชุมชน และเป็นมิตรที่ดีต่อทุกความหลากหลาย ในพื้นที่ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 9 ย่าน ผ่านกิจกรรมกว่า 530 กิจกรรมใน 4 รูปแบบหลัก ได้แก่
Showcase & Exhibition แสดงผลงานจากนักสร้างสรรค์ นำเสนอแนวคิดเพื่อการแก้ไขปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิต
Talk & Workshop กิจกรรมบรรยาย และเวิร์กช้อป เพื่อให้ความรู้และแนวคิดใหม่จากนักสร้างสรรค์ ผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ
Creative Market & Promotion เปิดตลาดนัดสร้างสรรค์ 6 ตลาดทั่วกรุงเทพฯ กว่า 80 แบรนด์ดีไซน์
Event & Program กิจกรรมสร้างบรรยากาศ และความเคลื่อนไหวกับเมืองในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การแสดงดนตรี การฉายภาพยนตร์ ศิลปะการแสดง ตลอดจนการจัดเทคนิคแสงสี บนสถาปัตยกรรม รวมถึงการเปิดบ้านของคนในย่าน (Open House)
อย่างไรก็ดี คาดว่ากิจกรรมทั้งหมดนี้ จะช่วยปลุกบรรยากาศแห่งความสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นความคิดของคนเมือง พัฒนากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ดีขึ้น
การพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขณะนี้หลายแห่ง สามารถเป็นย่านที่มีการเจริญเติบโตสูงมาก มีธุรกิจเกิดขึ้นตลอดเวลาแม้แต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็มีธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ อาทิ ย่านเจริญกรุง - ตลาดน้อย ซึ่งการจัดเทศกาลตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เกิดจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าชมงานกว่า 1.75 ล้านคน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจระหว่างการจัดงานมากกว่า 1,368 ล้านบาท
ครั้งนี้มีย่านเข้าร่วมเพิ่มขึ้นจากเดิม เคยจัด 5 ย่าน เป็น 9 ย่าน โดยเชื่อว่าจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจและสร้างต้นแบบการพัฒนาเมืองของกรุงเทพฯ ต่อไป
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตัวแทนเขตผู้ร่วมจัดเทศกาลฯ ภาคีเครือข่ายผู้ขับเคลื่อน กล่าวว่า จากนโยบายสร้างสรรค์ดีของกรุงเทพมหานคร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการจัดงาน 12 เทศกาลตลอดทั้งปี เพื่อดึงศักยภาพของย่านต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯนั้น
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 ที่จะจัดในเดือนกุมภาพันธ์ ระหว่างวันที่ 4 - 12 เวลา 11.00 น. - 22.00 น. โดยอยู่ภายใต้เดือนแห่งการออกแบบ ออกแบบดี กรุงเทพฯ ดี ของ กทม. เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ที่ใช้ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่มีกระบวนการตั้งแต่การศึกษา การพัฒนาต้นแบบ การทดสอบ
และที่สำคัญคือการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทดสอบต้นแบบเพื่อปรับปรุง และกรุงเทพฯ ก็เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยนักออกแบบ จากการได้รับคัดเลือกให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative City Network) สาขาด้านการออกแบบ (Bangkok City of Design) เมื่อปี 2562
นายศานนท์ กล่าวอีกว่า ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เข้าร่วมเทศกาลในปีนี้ ทั้ง 9 ย่าน สามารถเลือกท่องเที่ยวได้ตลอดทั้ง 9 วันของเทศกาลฯ ซึ่งแต่ละพื้นที่ย่านจะมีอัตลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะโดดเด่นแตกต่างกันไป ประกอบด้วย
ย่านเจริญกรุง - ตลาดน้อย เป็น ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้นแบบของประเทศไทย ที่มีศักยภาพทางวัฒนธรรม ใหม่-เก่าที่ผสมและผสานไว้ด้วยกัน รวมถึงแกลอรี่งานศิลปะและโชว์รูมดีไซน์สมัยใหม่ ควบคู่ไปกับการรักษาสถาปัตยกรรมดั้งเดิมและวิถีชุมชนเก่าแก่ไว้อย่างดี
ย่านเยาวราช ภายใต้คอนเซ็ปต์ CITY TROOPER X ACADEMIC PROGRAM กิจกรรมที่ชวนพลเมืองผู้มีความสนใจเรื่องการพัฒนาเมืองและกลุ่มสถาบันการศึกษา 13 สถาบัน จับมือกันร่วมค้นหาความต้องการของเมืองที่ตอบโจทย์กับผู้คนและพื้นที่ เพื่อให้เป็นพื้นที่ในการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ Bangkok City of Design ขององค์การยูเนสโก อาทิ New bus stop design โดย Academic Program: Bangkok City Trooper เพื่อเป็นต้นแบบป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่ จากกลุ่ม MAYDAY! ออกแบบจุดจอดในเขตสัมพันธวงศ์ตอบโจทย์การใช้งานสำหรับคนทุกวัย
ย่านสามย่าน – สยาม เป็นศูนย์รวมแหล่งการเรียนรู้ และศูนย์กลางธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ และยังเป็นเหมือนสนามทดลองของคนสร้างสรรค์จากหลากหลายวงการที่ชวนกันมาระดมไอเดียเพื่อค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในพื้นที่ เช่น Art4C House of Passa Saratta เป็นต้น
ย่านพระนคร / ปากคลองตลาด / นางเลิ้ง ย่านเมืองเก่าที่เกิดมาพร้อมกับกรุงเทพมหานคร มีความคลาสสิกเป็นวัตถุดิบ พร้อมวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่น เป็นแหล่งรวมทุกความคิดสร้างสรรค์เพื่ออนุรักษ์ ต่อยอด และสร้างเรื่องราวที่จะกลายเป็นบทใหม่ของกรุงเทพฯ จัดกระจายตามจุดต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ ประปาแม้นศรี ลานคนเมือง ไปรษณียาคาร บ้านนางเลิ้ง เป็นต้น
ย่านอารีย์ – ประดิพัทธ์ โดยกลุ่ม AriAround ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายนักสร้างสรรค์ จัด เปิดบ้าน เปิดย่าน เปิดเมือง ให้ชมสตูดิโด อาคารบ้านเรือน รวมถึงร้านค้า เพื่อผลักดันให้เป็นย่านฮิบแห่งใหม่ กลายเป็นย่านสร้างสรรค์แห่งการเรียนรู้ ส่งเสริมธุรกิจในพื้นที่ ที่พร้อมใจกันทําให้ย่านน่าอยู่มากยิ่งขึ้น เช่น โครงการ 33 space สวนซอยประดิพัทธ์ 17 สวนกรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
ย่านพร้อมพงษ์ นำเสนอจุดโดดเด่นของย่านเศรษฐกิจใจกลางเมือง ซอยสุขุมวิท 26 โดยกลุ่ม 49 & FRIENDS การรวมตัวของกลุ่มนักสร้างสรรค์ ขับเคลื่อนให้ย่านนี้เติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นมิตรต่อการอยู่อาศัย และกลายเป็นอีกหนึ่งจุดเช็กอินที่มีเรื่องราวน่าค้นหาที่สร้างประสบการณ์ใหม่ที่มอบความปลอดภัยให้กับผู้สัญจรในยามค่ำคืน และกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ
ย่านบางโพ สานต่อตำนานถนนสายไม้แห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ ภายใต้คอนเซ็ปต์ถนนสายไม้บางโพ ตํานานที่มีชีวิต จัดให้เป็นพื้นที่วัฒนธรรม แหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต รวมทั้งส่งเสริมผู้ผลิตไม้ในย่านเก่าแก่ให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ทําให้คนในพื้นที่ภาคภูมิใจในอัตลักษณ์และสินทรัพย์ เพื่อให้บางโพเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
วงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู / คลองสาน กิจกรรมภายใต้แนวคิดการส่งเสริมอัตลักษณ์ของย่านวงเวียนใหญ่ - ตลาดพลู สู่การพัฒนาเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม ความเชื่อ อาหาร และศิลปกรรม มานําเสนอในรูปแบบใหม่ โดย SC Asset ร่วมกับ กลุ่มยังธน สถานบันการศึกษา กลุ่มนักสร้างสรรค์ กลุ่มผู้ประกอบการ และชุมชนคนในพื้นที่ และย่านคลองสาน ที่นำสินทรัพย์ในพื้นที่มาเสนอในรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
ย่านเกษตร ด้วยแนวคิด GREEN LIVING กรีนดีอยู่ดี การประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย สร้างต้นแบบของชุมชน และไลฟ์สไตล์ของผู้คนในการใช้ชีวิตประจําวัน และทีอยู่อาศัยที่พอเหมาะ สมดุลและยั่งยืน โดยนำกิจกรรมเกษตรแฟร์ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง พร้อมทั้งการออกแบบตั้งจุดทิ้งขยะที่ตลาดอมรพันธ์ โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกลุ่มร้านค้าผู้ประกอบการ ชุมชนคนในพื้นที่เข้าร่วมเทศกาลครั้งนี้พบกับไฮไลต์ที่สร้างสรรค์