การรับตำแหน่งของ “กีรติ กิจมานะวัฒน์” ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.คนใหม่ ที่จะเข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคมนี้ แทนนายนิตินัย ศิริสมรรถการ ที่จะหมดวาระในวันที่ 24 เมษายน 2566
ด้วยความที่นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ นั่งคุมงานด้านวิศวกรรม ในฐานะรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้างของทอท.มาตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2563 ดังนั้น ชัดเจนว่าการบริหารงานของนายกีรติ ในช่วง 4 ปีข้างหน้านี้หลังรับตำแหน่ง จึงต้องโฟกัสไปที่ แผนขยายสนามบินของทอท. ซึ่งมีแผนการลงทุนที่ต้องดำเนินการชัดเจนแล้ว มูลค่าการลงทุนร่วม 1.3 แสนล้านบาท
แหล่งข่าวระดับสูงจากคณะกรรมการบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บอร์ดทอท. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การบอร์ดทอท.มีมติแต่งตั้งนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ทอท.คนที่ 14 เนื่องจากนายกีรติ มีคะแนนนำผู้สมัครอีก 3 ราย ซึ่งได้ 95 คะแนนจาก 100 คะแนน ตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอขึ้นมา หลังมีการแสดงวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์ผู้สมัครทั้ง 4 คน
ขณะที่ผู้สมัครอีก 3 รายก็ได้คะแนนลดหลั่นกันไป โดย
ประกอบกับที่ผ่านมาบอร์ดทอท.เห็นชอบตามคะแนนดังกล่าว และมองเห็นว่านายกีรติ ครบเครื่องทั้งเรื่องคอนเนคชั่นกับระดับบิ๊กของกระทรวงคมนาคม เพราะมีความคืบหน้าในการพัฒนาต่างๆตามนโยบาย ของกระทรวงคมนาคม อาทิ การรีไวซ์ (ปรับ) แผนพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ที่อยู่ระหว่างจ้างองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ศึกษาการปรับแผนแม่บท
การเตรียมแผนเรื่องการรับบริหาร 3 สนามบินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้แก่ สนามบินอุดรธานี สนามบินกระบี่ และสนามบินบุรีรัมย์ ที่อยู่ระหว่างขอความเห็นเพิ่มเติม เพื่อเสนอครม.อีกครั้ง
อีกทั้งบอร์ดยังเห็นว่า ที่ผ่านมานายกีรติ มีผลงานในสายวิศวกรรมและการก่อสร้าง ที่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาต่างๆ อาทิ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT 1) สนามบินสุวรรณภูมิ จนดำเนินการได้ต่อเนื่องแม้จะเกิดโควิด-19
รวมถึงการแสดงวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการพัฒนาสนามบิน เพื่อรองรับการกลับมาฟื้นตัวของผู้โดยสาร ซึ่งบอร์ดทอท.ก็ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการใหญ่ทอท.คนใหม่เข้ามาเร่งรัดแผนการรองรับปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
แหล่งข่าวจากบอร์ดทอท.ยังกล่าวว่า นายกีรติ ได้แสดงวิสัยทัศน์หลัก ๆไว้ว่าจะเน้นการพัฒนาศักยภาพของสนามบิน ระยะเร่งด่วนจะเน้นแก้ปัญหาคอขวดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสนามบิน รวมไปถึงการขยายสนามบิน เพื่อรองรับการเติบโตของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ แผนการขยายการลงทุนของทอท.ร่วม 1.28-1.3 แสนล้านบาท ที่มีแผนชัดเจนแล้ว หลักๆจะเป็นการพัฒนา 4 สนามบินหลักของทอท.ได้แก่
การแก้ปัญหาคอขวดในสนามบินจุดหลักจะอยู่ที่ “สนามบินสุวรรณภูมิ” เพื่อรองรับผู้โดยสารที่เริ่มฟื้นตัวเข้าไทยต่อเนื่อง โดยเน้นการแก้ปัญหา pain point ต่างๆที่สร้างความไม่สะดวกแก่ผู้โดยสารในการใช้บริการสนามบิน เพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้ 65-70 ล้านคนต่อปี และการสร้างโซลาร์เซลล์ในสนามบิน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
จากนั้น ก็จะเร่งรัดการขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก(East Expansion) ซึ่งทำได้ทันทีหลังปรับแบบเล็กน้อยให้เข้ากับบริบทปัจจุบัน เนื่องจากงบลงทุนของทอท.ราว 8 พันล้านบาทได้รับการอนุมัติจากครม.แล้ว
รวมถึงการลงทุนส่วนขยายอาคารผู้โดยสารทิศตะวันตก (West Expansion) และส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศเหนือ(North Expansion) เพื่อขยายพื้นที่การให้บริการในส่วนของอาคารผู้โดยสาร ก็จะดำเนินการเป็นสเต็ปต่อไป
การลงทุนขยายสนามบินสุวรรณภูมิ สูงสุดด้วยศักยภาพที่ทำได้ 4 รันเวย์ การรองรับผู้โดยสารของสนามบินสูงสุดจึงอยู่ที่ 120 ล้านคนต่อปีเท่านั้น ดังนั้น การรองรับที่สูงกว่านี้ในทางวิศวกรรมเป็นไปได้ยาก
หากทอท.ขยายอาคารด้านตะวันออก ตะวันตก และ อาคารด้านทิศเหนือ ลงทุนราว 6 หมื่นล้านบาทก็ถือว่าเพียงพอต่อการรองรับ ไม่จำเป็นต้องไปขยายสนามบินด้านทิศใต้ เส้นทางที่ติดกับถนนบางนาตราด ที่ต้องลงทุนเพิ่มอีกร่วม 1 แสนล้านบาท
ดังนั้นทอท.ก็มองว่าสามารถนำพื้นที่ด้านทิศใต้มาพัฒนาเป็นพื้นที่สำหรับการลงทุนด้านแอร์โรว์ โลจิสติกพาร์ค และแอร์คาร์โก้ได้ เพื่อเติมเต็มสล็อตการบินเข้าสนามบินสุวรรณภูมิในช่วงเที่ยงคืนถึงตี 5
ทั้งนี้แผนการลงทุนต้องรอผลการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิฉบับใหม่ จาก ICAO เนื่องจากบริบทการบินเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก จากในอดีตที่การบินจะเน้นเครื่องบินขนาดใหญ่อย่างแอร์บัสเอ 380 รองรับผู้โดยสาร 700 คน แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว
ส่วน แผนขยาย “สนามบินดอนเมืองเฟส 3” ด้วยศักยภาพของรันเวย์ที่รองรับการขึ้น-ลงได้ 1 รันเวย์ครึ่ง การรองรับได้สูงสุดของสนามบินอยู่ที่ 50 ล้านคนต่อปี ทอท.อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการ เนื่องจากครม.เห็นชอบโครงการแล้ว ซึ่งหลักๆ จะเป็นการสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เพื่อรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ ส่วนอาคารผู้โดยสารในประเทศก็จะรวมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 เพื่อรองรับผู้โดยสารในประเทศ
เช่นเดียวกับ แผนขยายสนามบินภูเก็ต ที่หลังจากทอท.เปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เปิดไปก็เต็มแล้ว ทอท.ก็ต้องขยายต่อในเฟส 2 พื้นที่ 73,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ประกอบด้วย
ส่วนสนามบินที่ทอท.จะรับเพิ่มเข้ามาบริหารอีก 3 แห่ง อย่างสนามบินอุดรธานี สนามบินกระบี่ และสนามบินบุรีรัมย์ เป็นเวลา 30 ปี ซึ่งทอท.ก็จะใช้งบอีกราว 9,199-10,471 ล้านบาทในการพัฒนาศักยภาพของสนามบิน
โดยแบ่งเป็นแผนพัฒนาสนามบินอุดรธานี 3,523 ล้านบาท แผนพัฒนาสนามบินบุรีรัมย์กรอบวงเงินลงทุน 460 ล้านบาท รวมถึง แผนพัฒนาสนามบินกระบี่ ที่การลงทุนจะแบ่งออกเป็น 2 กรณี
กรณีที่ 1 สนามบินพังงา เปิดให้บริการปี 2574 ลงทุน 1,049.40 ล้านบาท เป็นการพัฒนาที่ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาระยะสั้นที่ทย.ดำเนินการไว้ โดยทอท.จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่รองรับผู้โดยสารได้ 10 ล้านคนต่อปี
กรณีที่ 2 สนามบินพังงาไม่เปิดให้บริการ ลงทุน2,679.60 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ รองรับผู้โดยสารได้ 12 ล้านคนต่อปี เนื่องจากการรับบริหารสนามบินกระบี่ ทำให้ทอท.อยู่ระหว่างศึกษาโดยอาจไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่พังงา