รวมวิสัยทัศน์ 7 พรรคการเมือง เปิดนโยบายขับเคลื่อนท่องเที่ยว

14 ก.พ. 2566 | 19:00 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2566 | 08:25 น.

7 พรรคการเมือง ก้าวไกล-ประชาธิปัตย์- ชาติไทยพัฒนา-ชาติพัฒนากล้า-ไทยสร้างไทย-ชาติไทย-เพื่อไทย-ภูมิใจไทย ประชันนโยบายขับเคลื่อนท่องเที่ยว พรรคไหนมีนโยบายอย่างไร เช็คที่นี่

7 พรรคการเมือง เปิดนโยบายขับเคลื่อนท่องเที่ยว "ก้าวไกล" เน้นแก้กม.ล้าหลัง-กระจายอำนาจ "ประชาธิปัตย์" ย้ำแยกกระทรวงท่องเที่ยวออกจากกีฬา ต่อยอดเป๋าตัง สร้าง OTA ของไทย "ชาติไทยพัฒนา" ชู 5 นโยบายท่องเที่ยวไทยยั่งยืน 

รวมวิสัยทัศน์ 7 พรรคการเมือง เปิดนโยบายขับเคลื่อนท่องเที่ยว

ขณะที่"ชาติพัฒนากล้า" ตั้งเป้านักท่องเที่ยว 80 ล้านคนในปี 2570 "ไทยสร้างไทย"ดันนโยบาย “แก้ เพิ่ม สร้าง” ด้านพรรค"พัฒนากล้า" ตั้งเป้านักท่องเที่ยว 80 ล้านคนในปี 2570 พรรค"เพื่อไทย" ชู 1 อำเภอ 1 แลนด์มาร์กใหม่ท่องเที่ยว "ภูมิใจไทย" ยกท่องเที่ยววาระแห่งชาติ

รวมวิสัยทัศน์ 7 พรรคการเมือง เปิดนโยบายขับเคลื่อนท่องเที่ยว

 

ล่าสุดในการประชุมร่วมระหว่างสมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ)ร่วมกับสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า) ได้มีการเชิญผู้แทนจาก 7 พรรคการเมือง เพื่อมาแสดงวิสัยทัศน์  ภายใต้งาน  “ พรรคการเมืองใดใส่ใจเรื่องท่องเที่ยวปี พ.ศ. 2566 ”

รวมวิสัยทัศน์ 7 พรรคการเมือง เปิดนโยบายขับเคลื่อนท่องเที่ยว

โดยแต่ละพรรค ได้นำเสนอนโยบายในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของไทย ดังนี้

  • พรรคก้าวไกล เน้นแก้กม.ล้าหลัง-กระจายอำนาจ

นายวรภพ วิริยะโรจน์ ตัวแทน พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า พรรคก้าวไกล มีนโยบายในการตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เที่ยวได้ตลอดชีวิต อาทิ เที่ยวหลังเกษียณอายุ เที่ยวในครอบครัว ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นส่วนยกระดับการท่องเที่ยวไทยได้อีกสูงมาก โดยเน้น 3 เรื่องหลักที่ต้องเร่งแก้ไข ได้แก่

 1.การแก้กฎหมายที่ล้าสมัย  “กิโยตินกฎหมาย” เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขัน ซึ่งภาคเอกชนพูดถึงกันมานานมากแล้ว อาทิ กฎหมายโรงแรมขนาดเล็ก หรือผู้จัดการโรงแรม

 2.การกระจายอำนาจ เปลี่ยนบริบทของภาครัฐ เชื่อมั่นในท้องถิ่นให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับพื้นที่มากขึ้น โดยที่ผ่านมาจะยึดนโยบายจากส่วนกลางในการบังคับใช้ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย ทั้งที่คนกำหนดนโยบายนั่งอยู่ในเมืองกรุงเทพฯ แต่กำหนดให้ใช้เหมือนกันทุกจังหวัด 

วรภพ วิริยะโรจน์

บริบทเหล่านี้ไม่สามารถพาประเทศไทยให้ไปไกลกว่านี้ได้  อาทิ กำหนดเวลาเปิดสถานบันเทิงถึง 02.00 น. ทั้งที่เมืองท่องเที่ยวไม่เหมาะสมที่จะปิดในเวลาเดียวกัน
ทำให้การกำหนดให้ท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดนโยบายในระดับปฏิบัติการเองน่าจะเหมาะสมกว่า 

เพราะบางปัญหาที่ติดขัดอยู่ เป็นเพราะข้อจำกัดของระเบียบราชการที่เหนี่ยวรั้งไว้ อาจไม่ได้เป็นเรื่องการไร้ความสามารถของคนระดับท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว 

3.การสร้างงาน สร้างอุตสาหกรรม ที่สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยว โดยการสร้างงาน สร้างอุตสาหกรรมนั้น สามารถใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์เข้ามาช่วยตอบโจทย์มากขึ้น อาทิ การสนับสนุนให้มีการผลิตภาพยนตร์ หรือซีรี่ย์ ที่สามารถนำไปเผยแพร่ในต่างประเทศได้ ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา พร้อมสร้างงานให้กับคนไทยไปในตัวด้วย

นอกจากนี้มองด้วยว่าเป็นโอกาสของธุรกิจโรงแรมไทย หากสามารถผลักดันแพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ (Online Travel Agents: OTA) เข้าไปอยู่ใน “ซิงเกิลแพลตฟอร์ม” สำหรับชาวต่างชาติ  น่าจะช่วยโรงแรมไทยแก้ปัญหาภาระการจ่ายค่าธรรมเนียมแก่ OTA ได้

นายวรภพ กล่าวว่า โอกาสที่เรามองเห็นในตอนนี้คือ การเดินหน้าสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งถือเป็นผลงานของรัฐบาลชุดนี้ โดยพัฒนาให้เกิดเป็นซิงเกิ้ลแพลตฟอร์มสำหรับชาวต่างชาติ ที่ถือเป็นเรื่องดีรัฐบาลมีข้อมูลคนเข้าและออกประเทศอยู่แล้ว ซี่งนักท่องเที่ยวทุกคนต้องผ่านตม. มีปัญหาก็สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ผ่านแฟลตฟอร์มดังกล่าวได้ ช่วยให้เกิดความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวมากขึ้น

รวมถึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการโรงแรมไทย ที่หากในแพลตฟอร์มนั้นมี OTA อยู่ด้วย ก็จะทำให้นักท่องเที่ยวมีความสะดวกในการใช้งาน มีการแจ้งเตือนความสนใจดึงดูดนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาเที่ยวใหม่อีกครั้ง สามารถจองห้องพักผ่านโอทีเอที่พัฒนาโดยเอกชนในนี้ได้เลย แก้ปัญหาเรื่องโอทีเอในปัจจุบันที่สร้างภาระค่าใช้จ่ายของเอกชนไทยค่อนข้างมาก โดยมองว่าเราจำเป็นต้องมีรัฐบาลชุดใหม่ที่มีความเข้าใจในเรื่องต่างๆ เหล่านี้มากกว่าที่ผ่านมา

  • พรรคประชาธิปัตย์ ย้ำแยกกระทรวงท่องเที่ยวออกจากกีฬา-ต่อยอดเป๋าตังทำ OTA

นางสาวพิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ตัวแทน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การท่องเที่ยวไทย มองว่าภาคเอกชนจะต้องเป็นผู้นำ รัฐบาลจะต้องเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งหมายถึงไม่ควรออกกฎกติกาใดที่ไม่เอื้อต่อภาคการท่องเที่ยวไทย โดยรัฐบาลมีหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแล (เรคกูเรเตอร์) จะต้องรับฟังภาคเอกชนให้มากขึ้นกว่านี้อีกหลายเท่า และเป็นการรับฟังด้วยหัวใจ 

พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล

โดยในปัจจุบันผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากแพลตฟอร์มตัวแทนขายต่างประเทศ (โอทีเอ) ที่ปรับขึ้นค่าธรรมเนียม 25% เมื่อรวมกับต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่น อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าจ้างพนักงาน ค่าภาษี จะทำให้ราคาห้องพักของโรงแรมถูกหักไปสูงมาก เหลือเป็นรายได้และกำไรของธุรกิจไม่มากพอที่จะอยู่รอดได้

จึงอยากให้รัฐบาลพัฒนา OTA ที่เป็นของคนไทยเอง อาทิ แอพพลิเคชั่นเป๋าตัง ผนวกกับฐานข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมด นำมาพัฒนารวมกันเพื่อให้เกิด OTA ของไทย ซึ่งจะช่วยสร้างความยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้ แม้ต้องใช้เวลาสักระยะก็ตาม โดยเชื่อว่าทางออกของประเทศไทยคือ ภาคการท่องเที่ยว

“รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยในเรื่องการพัฒนา OTA ขึ้นมา เพื่อไม่ให้ตัวแทนขายทัวร์ท่องเที่ยว (เอเย่นต์ทัวร์) ล้มหายตายจากไปจากภาคการท่องเที่ยวไทย โดยต้องกระจายออกไปในทุกภูมิภาคทั่วไทย เพราะการจ่ายค่าธรรมเนียมให้โอทีเอต่างชาติในอัตรา 25% ตอนนี้ อย่างไรก็จ่ายไม่ไหวอยู่ดี” นางสาวพิมพ์รพี กล่าว

นางสาวพิมพ์รพี กล่าวว่า ความน่ากังวลที่สำคัญเป็นเรื่องทุนจีนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย แต่เปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม ที่เคยเข้ามาลงทุนเพื่อบริหารแล้วส่งต่อให้จากรุ่นสู่รุ่นเป็นธุรกิจครอบครัวอาศัยอยู่ในประเทศเหมือนที่ผ่านมา แต่ในปัจจุบันทุนจีนเข้ามาซื้อโรงแรมหรืออสังหาริมทรัพย์แบบซื้อขาด และนำเงินที่ได้จากการประกอบธุรกิจกลับประเทศต้นทางไป

ทำให้รัฐบาลต้องออกโรงในการป้องกันเรื่องเหล่านี้ให้เข้มแข็งมากที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่าธุรกิจภาคการท่องเที่ยวไทยยังเป็นของคนไทยอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ยังมีนโยบายในการแยกกระทรวงการท่องเที่ยว ออกจากกีฬาอย่างชัดเจนด้วย เพราะถือเป็นคนละประเภทกัน และคนกีฬาก็ไม่สามารถทำงานท่องเที่ยวได้ กลับกันคนท่องเที่ยวก็ไม่สามารถทำงานกีฬาได้ดีเช่นกัน

  • พรรคชาติไทยพัฒนา ชู 5 นโยบายท่องเที่ยวไทยยั่งยืน 

นายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ ตัวแทน พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า สโลแกนการพัฒนาภาคท่องเที่ยวไทยของพรรคฯคือ “ท่องเที่ยวไทยยั่งยืน ฟื้นคืนสมดุลทุกภาคส่วน” ด้วย 5 นโยบาย ได้แก่ 

1.ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและชุมชน

2. การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

3. การยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

4.การส่งเสริมท่องเที่ยวตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และไมซ์ 

5.การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการในยามวิกฤติ หลังช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการท่องเที่ยวประสบปัญหาสายป่านสั้น และมีข้อจำกัดไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้

สัมพันธ์ แป้นพัฒน์

“ที่ผ่านมารัฐบาลอาจกำลังเอาเปรียบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เมื่อปี 2562 สร้างรายได้รวมกว่า 3 ล้านล้านบาทแก่เศรษฐกิจไทย คิดเป็นกำไรประมาณ 10% หรือ 3 แสนล้านบาท และเสียภาษีให้ภาครัฐ 30% หรือประมาณ 9 หมื่นล้านบาท รัฐบาลจึงควรจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวซึ่งสร้างรายได้มหาศาลแก่ประเทศไทย”

  • พรรคชาติพัฒนากล้า ตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติ 80 ล้านคนในปี 2570

นายเทมส์ ไกรทัศน์ ตัวแทน พรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า นโยบายของพรรคฯ คือ “เพิ่มจำนวน เพิ่มวัน เพิ่มรายได้” ได้แก่ การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาประเทศไทยสู่เป้าหมาย 80 ล้านคนในปี 2570 ใกล้เคียงกับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเที่ยวประเทศประเทศฝรั่งเศส

เทมส์ ไกรทัศน์

ที่ผ่านมาจากปี 2562 ไทยเคยได้นักท่องเที่ยว 40 ล้านคน และปี 2566 คาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวอยู่ที่ 25 ล้านคน เป้าหมาย80 ล้านคนในปี 2570 สามารถทำได้

โดยมองว่ามีศักยภาพจากฐานตลาดในเอเชีย เช่น จีน อินเดีย และตลาดใหม่อย่างซาอุดีอาระเบีย รวมถึงการเจาะไลฟ์สไตล์น่าสนใจ เช่น กลุ่มดิจิทัลนอแมด กลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กลุ่มสายมู และกลุ่ม LGBTQ 

ขณะที่การเพิ่มวัน ตั้งเป้าเพิ่มจากวันพักเฉลี่ย 10 วัน เป็น 12 วัน ส่วนการเพิ่มรายได้ ตั้งเป้าเพิ่ม 40% จากเฉลี่ยใช้จ่ายวันละ 5,000 บาทต่อคน เป็น 7,000 บาทต่อคน ผ่านการชูเอกลักษณ์ด้านซอฟต์พาวเวอร์ การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่า 

รวมถึงปรับปรุงระบบคมนาคม ทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟ สนามบิน และอื่นๆ พร้อมกำกับดูแลแท็กซี่ให้ได้มาตรฐาน ไม่ให้เกิด “ดราม่า” ตามมา โดยพรรคฯมีนโยบายให้งบประมาณแก่ทุกจังหวัด จังหวัดละ 1,000 ล้านบาทเพื่อนำไปปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยว

  • พรรคไทยสร้างไทย ดันนโยบาย “แก้ เพิ่ม สร้าง”

นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ตัวแทน พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า พรรคฯมีนโยบาย “แก้ เพิ่ม สร้าง” อาทิ แก้กฎหมายหลายอย่างที่กำลัง “กดทับ” ประเทศไทย เนื่องจากกฎหมายบางฉบับนั้นล้าสมัย อย่าง พรบ.โรงแรม พ.ศ.2547 ต้องเร่งดึงโรงแรมขนาดเล็กเข้าระบบ 

สรเทพ โรจน์พจนารัช

นอกจากนี้ต้องแก้ค่าไฟซึ่งเป็นต้นทุนหลักของโรงแรม ก่อนยุคโควิด-19 ค่าไฟคิดเป็นต้นทุน 7% ของต้นทุนทั้งหมด ปัจจุบันสัดส่วนเพิ่มเป็น 10% นับเป็นต้นทุนที่สาหัสมากสำหรับผู้ประกอบการโรงแรม

ทั้งนี้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” (ล่าสุด ครม.อนุมัติแล้วเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2566 โดยอัตราสำหรับการเดินทางทางอากาศ จัดเก็บ 300 บาทต่อคน เดินทางทางบกและทางน้ำ จัดเก็บ 150 บาทต่อคน) อยากจะขอแบ่ง 100 บาทจากอัตราดังกล่าวมาจัดตั้งกองทุนเพื่อการท่องเที่ยว ให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวสามารถกู้เงินได้โดยตรง

ขณะเดียวกันจะมุ่งเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว มากกว่าการเพิ่มปริมาณ เพราะมีคำถามว่าทำไมเราต้องแข่งกับประเทศฝรั่งเศสในเมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 80 ล้านคนนั้นอาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติของภาคท่องเที่ยวไทย

  • พรรคเพื่อไทย ชู 1 อำเภอ 1 แลนด์มาร์กใหม่ท่องเที่ยว

นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ตัวแทน “พรรคเพื่อไทย” กล่าวว่า นโยบายของพรรคฯคือ “การทวงคืนจุดยืนของภาคท่องเที่ยวไทยในตลาดโลก” หากปล่อยให้ภาคท่องเที่ยวไทย “กินบุญเก่า” มันก็จะมีวันหมดไป จำเป็นต้องสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา ด้วยการเพิ่มโซนธุรกิจ “1 อำเภอ 1 แลนด์มาร์กใหม่” เพื่อแข่งขันกับนานาประเทศที่ได้ปรับปรุงและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในช่วง 3 ปีที่โควิด-19 ระบาด 

จักรพล ตั้งสุทธิธรรม

นอกจากนี้จะก่อตั้ง “ธนาคารท่องเที่ยว” เพื่ออำนวยให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเข้าถึงแหล่งเงินทุนนำไปพลิกฟื้นธุรกิจ ควบคู่กับการดำเนินกลยุทธ์ “ทะเล 5 สี” เช่น ทะเลสีแดง พัฒนาการแข่งขันเชิงคุณภาพ ไม่ใช่ราคา, ทะเลสีเขียว ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ดูแลสิ่งแวดล้อม และ ทะเลสีรุ้ง ส่งเสริมการดึงนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ รวมถึงกลุ่มที่มีศักยภาพอื่นๆ อย่างดิจิทัลนอแมด และกลุ่มเดินทางตามรอยภาพยนตร์และซีรีส์ 

  • พรรคภูมิใจไทย ยกท่องเที่ยววาระแห่งชาติ

นายเขมพล อุ้ยตยะกุล ตัวแทน “พรรคภูมิใจไทย” กล่าวว่า พรรคฯมีนโยบาย “พลิกฟื้นการท่องเที่ยว” ให้เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งเป้ายกระดับการทำงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อสร้างรายได้การท่องเที่ยวให้ได้ 25% ของจีดีพีประเทศไทยในปี 2570 

เขมพล อุ้ยตยะกุล

โดยเพิ่มจากปี 2562 ซึ่งเคยสร้างสัดส่วนรายได้ที่ 17% ของจีดีพี ฟื้นตัวจากปี 2566 ซึ่งตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาประเทศไทย 20-25 ล้านคน ฟื้นรายได้ 80% เมื่อเทียบกับปี 2562 ด้วยการดึงตลาดใหม่ และกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยจากสถิติตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-14 ก.พ.ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยสะสมแล้วกว่า 3 ล้านคน