"ค่าเหยียบแผ่นดิน" จัดเก็บปีนี้กำเงิน 3,900 ล้าน ฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย

18 ก.พ. 2566 | 05:11 น.
อัปเดตล่าสุด :31 มี.ค. 2566 | 06:50 น.

"ค่าเหยียบแผ่นดิน"จัดเก็บปีนี้กำเงิน 3,900 ล้านบาท ฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย ทั้งไทยยังเป็นชาติแรกของโลก ที่เก็บค่าธรรมเนียมและมีการให้สวัสดิการคืนแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ผ่านการทำประกัน

การจัดเก็บ “ค่าธรรมเนียม การท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ” หรือที่เรียกกันว่า “ค่าเหยียบแผ่นดิน” หลังใช้เวลาผลักดันนานกว่า 5 ปี ในที่สุดรัฐบาลก็ไฟเขียวให้เริ่มจัดเก็บได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.นี้ โดยคิดค่าธรรมเนียม 300 บาท สำหรับการเดินทางเข้าไทยผ่านทางอากาศ และ 150 บาท สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวผ่านทางบกและทางนํ้า

 

ทั้งนี้การที่เก็บทางบกและ ทางนํ้าน้อยกว่าทางอากาศ เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่เดินทางข้ามชายแดนเข้ามาเที่ยวเป็นระยะเวลาสั้นๆ เช่น พำนักในไทย 2-3 วันเท่านั้น ไม่ได้มาอยู่นานเหมือนการเดินทางมาทางอากาศที่ตามวีซ่าจะอยู่นานสูงสุดได้ถึง 30 วัน

โดยการจัดเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อเดินทางเข้าไทยทางอากาศ จะจัดเก็บค่าธรรมเนียม 300 บาท/คน รวมไปกับค่าตั๋วเครื่องบิน ซึ่งจะแบ่งรายได้ 5% ให้กับสายการบินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ส่วนกรณีที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย ผ่านด่านทางบกและทางนํ้า นักท่องเที่ยวต้องชำระผ่าน Website หรือ Mobile App. หรือตู้ Kiosk ในอัตรา 150 บาท/คน/ครั้ง

การจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน

 

การจัดเก็บทางอากาศจะไม่ยุ่งยาก เพราะชาร์จรวมไปแล้วกับค่าตั๋วเครื่องบิน ตอนที่นักท่องเที่ยวต่างชาติซื้อตั๋วเครื่องบิน และส่วนใหญ่ของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้าไทยผ่านทางอากาศ แต่ในส่วนการเดินทางผ่านทางบกและนํ้า จะเปิดให้ชำระผ่านแอพฯก่อน และขณะนี้กำลังพิจารณาว่า จะกำหนดตู้ Kiosk บริเวณด่านใด จึงจะเหมาะสม เพราะบางด่านเป็นด่านการค้าไม่ใช่ท่องเที่ยว ก็ไม่ควรจะไปตั้งตู้ชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าว

เนื่องจากค่าธรรม เนียมดังกล่าว จะจัดเก็บกับนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น ส่วนชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ อาทิ นักธุรกิจ นักศึกษา การเดินทางเพื่อการทูต ปฏิบัติราชการ ผู้พำนักชั่วคราว หรือเข้ามาทำงานในไทยที่มี Work Permit รวมถึงคนไทย ก็ไม่ได้จัดเก็บค่าธรรมเนียมในส่วนนี้

ยกเว้นคนไทยที่ถือพาสปอร์ตต่างชาติเท่านั้น ที่ต้องจ่ายค่าเหยียบ แผ่นดิน ซึ่งถ้าไม่อยากจ่ายก็ใช้พาสปอร์ตไทยในการเดินทางเข้าประเทศไทยได้

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คาดว่าในปี 2566 ซึ่งจะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 66 จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 13 ล้านคนที่เดินทางเข้าไทยทางอากาศ ทำให้มีรายได้จากค่าธรรมเนียมราว 3,900 ล้านบาท (จากเงินที่เก็บมา 300 บาทต่อคน) จะนำมาซื้อประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยว 50 บาท ส่วนที่เหลือในปีนี้คาดว่าประมาณ 3,250 ล้านบาทจะนำเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย

พิพัฒน์ รัชกิจประการ

โดยปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จะจัดทำระเบียบการใช้เงินมาเสนอนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการที่มาจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 10 กระทรวงมากำกับการใช้เงิน ซึ่งรวมถึงกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จึงขอยืนยันว่าเรามีการใช้จ่ายได้เงินที่ได้มา ดังกล่าวอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพราะสามารถตรวจสอบได้

“เงินในกองทุนฯจะนำมาใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และสร้างแหล่งท่องเที่ยวแบบมนุษย์สร้าง (Manmade Attraction) ตลอดจนใช้สำหรับจัดอีเวนต์ต่างๆ และในกรณีเกิดเหตุการณ์รุนแรงเหมือนการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ก็สามารถนำเสนอ ครม.ให้นำเงินดังกล่าวมาให้ภาคเอกชนท่องเที่ยวกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องได้” นายพิพัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่เม็ดเงินที่จะถูกนำเข้ากองทุน หากเดินทางเข้าไทยทางอากาศ จะไม่ได้นำเงิน 300 บาทต่อคนเข้าเต็มจำนวน เนื่องจากต้องหักค่าใช้จ่าย 5% เป็นค่าดำเนินการของสายการบินที่จะดำเนินการชาร์จรวมอยู่ในค่าตั๋วเครื่องบิน หักอีก 17% หรือราว 50 บาท เพื่อนำมาทำประกันอุบัติเหตุให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ 

โดยมีความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต 1 ล้านบาท ค่ารักษาพยาบาล 500,000 บาท เป็นต้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพิ่มเติม และอาจมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกองทุนบ้างเล็กน้อย เช่น จ้างบุคลากร ค่าใช้สอยและวัสดุ ค่าตอบแทน เป็นต้น

แต่เบ็ดเสร็จแล้วค่าเหยียบแผ่นดินราว 60-70% ต่อการจัดเก็บนักท่องเที่ยวต่อคน จะถูกนำมาใช้ตามวัตถุประสงค์ของ “กองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย” ตามที่ระบุใน พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ. 2552 

รวมถึงที่แก้ไขเพิ่มเติม อาทิ พัฒนาแหล่ง/สินค้า/บริการด้านการท่องเที่ยว ฟื้นฟูทรัพยากรด้านการท่องเที่ยว พัฒนาบุคลากร การวิจัย การตลาด รวมถึงเป็นค่าใช้จ่ายในการทำประกันสุขภาพและอุบัติเหตุให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ช่วยลดภาระงบประมาณแผ่นดินในการดูแล

โดยการใช้จ่ายเงินจากค่าธรรมเนียมนี้จะมีคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ที่แต่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการ เป็นผู้พิจารณาจัดสรรงบฯ

อย่างไรก็ตามการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน จริงๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่และปัจจุบันมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในลักษณะนี้แล้วกว่า 40 ประเทศ

ดังนั้นการคิดค่าเหยียบแผ่นดิน ที่จริงๆ ก็ถือว่าไม่ได้มากมายสำหรับนักท่องเที่ยว แต่เราสามารถ นำเงินมาพัฒนาแก้ปัญหาความเสื่อมโทรม รวมทั้งสาธารณูปโภคต่างๆ ที่สนับสนุนการท่องเที่ยวให้มีความปลอดภัย โดยยึดหลักการผู้ใช้เป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle : PPP) ซึ่งกำหนดให้ผู้ใช้ทรัพยากรเป็นผู้ร่วมจ่ายในความเสื่อมโทรมจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี 

อีกทั้งไทยยังเป็นชาติแรกของโลก ที่เก็บค่าธรรมเนียมและมีการให้สวัสดิการคืนแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ผ่านประกันอุบัติเหตุ การเสียชีวิต และการส่งศพกลับประเทศ เพื่อดูแล ช่วยเหลือ เยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับบาดเจ็บระหว่างการท่องเที่ยวด้วย