ซีอีโอใหม่ การบินไทย “ชาย เอี่ยมศิริ” ไม่เพียงเป็นลูกหม้อการบินไทยที่ทำงานมาใกล้จะครบ 38 ปี ตั้งแต่เริ่มงานในปี 2528 เท่านั้น แต่ก่อนหน้านี้ยังมีบทบาทสำคัญในฐานะซีเอฟโอ หนึ่งในคีย์แมนที่มีส่วนร่วมในบริบทตั้งแต่การทำแผนฟื้นฟูจนถึงวันนี้ ซึ่งก้าวต่อไปของการบินไทยจะเป็นเช่นไร
มั่นใจวันนี้การบินไทยมีต้นทุนที่แข่งขันได้แล้ว จากการเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดใจกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า สถานการณ์ของการบินไทยในวันนี้ ถือว่าอยู่ในภาวะที่อยู่รอดแล้ว ซึ่งเป็นผล มาจากช่วงต้นๆ ตั้งแต่เข้าแผนฟื้นฟูใหม่ๆ
เราจะเน้นเรื่องการลดต้นทุนอย่างหนัก ทำไงก็ได้ให้การบินไทยอยู่รอด ทำไงก็ได้ให้การบินไทยยื่นแผนฟื้นฟูได้ และแผนฟื้นฟูได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ จนศาลมีคำสั่ง ต่อมาในช่วงนี้และต่อไป
ผมว่าจากความสำเร็จในช่วงก่อนหน้านี้ที่เราลดต้นทุนอย่างหนัก จากพนักงานเดิมที่มีอยู่ 29,000 คน ลดลงไปกว่าครึ่งปัจจุบันเหลืออยู่ที่ 14,900 คน (รวมไทยสมายล์ที่มีอยู่ที่ 800 กว่าคน) การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ปรับลดจำนวน ฝูงบิน ทำให้วันนี้ต้นทุนแข่งขันได้
ทั้งสถานะการเงินของการบินไทยในวันนี้เรามีกระแสเงินสดในมือกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท จัดว่ามีมากที่สุดย้อนหลังไปหลายสิบปี ซึ่งเป็นเงินที่ได้จากการดำเนินธุรกิจ และผลการดำเนินงานในปี 65 และแนวโน้มใน ปี 66 ก็ถือว่ามีทิศทางดีกว่าแผนอย่างมีนัยสำคัญ
เป้าหมายระยะสั้นเน้นพัฒนาบริการ-ปรับกระบวนการทำงานล้างภาพรัฐวิสาหกิจในอดีต
ดังนั้นเป้าหมายการบริหารงานในช่วง 4 ปีนี้ของผม ใน “ระยะสั้น” ผมจะเน้นหนักเรื่องการให้บริการลูกค้า การทำเรื่อง Product Consistency ทำให้โปรดักซ์มีบริการที่สมํ่าเสมอ เพื่อให้ลูกค้าได้ในสิ่งที่ควรจะได้และคาดหวัง จะเน้นเรื่องโอเปอเรชั่นและการให้บริการมากขึ้น สร้างให้เกิดความสมดุลระหว่างต้นทุนและการให้บริการ
ทั้งนี้ด้วยจำนวนพนักงานที่หายไปเยอะ จะทำงานเหมือน เดิมไม่ได้ เราต้องเปลี่ยนแปลงกระบวน การทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยเน้นดิจิทัลให้มากขึ้น เน้นกระบวนการทำงานที่สั้นและกระชับ ไม่ใช่ทำงานเหมือนรัฐวิสาหกิจที่เคยเป็นในอดีต
เพราะการบินไทยเป็นเอกชนเต็มตัวแล้ว เพื่อรักษาระดับคน ให้เท่ากับที่เราวางแผนไว้ ซึ่งในอนาคตจำนวนพนักงานประจำจะเพิ่มเพียงเล็กน้อย แต่จะเพิ่มพนักงานที่เป็นเอ้าท์ซอร์ท ทั้งการจ้างงานผ่าน วิงสแปนที่เป็นบริษัทลูก และเอ้าท์ซอร์ทอื่นๆ ซึ่งในปีนี้จะเพิ่มจำนวนพนักงานเป็น 15,000 คน
มุ่งเป้ารายได้ปี2566 ทะลุ 130,000 ล้านบาท
ส่วนแผนในการหารายได้ในปีนี้การบินไทยตั้งเป้าสร้างรายได้อยู่ที่ 130,000 ล้านบาท เติบโตราว 40% จากปี 2565 ที่คาดว่ารายได้จะอยู่ที่ราว 90,000 ล้านบาท วันนี้แนวโน้มการจองดี อย่างในเดือนม.ค.ที่ปิดไป ก็ถือว่าดีกว่าแผน จนถึงวันนี้ อัตราการบรรทุกเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ 85-86%
โดยในปีนี้การบินไทยสามารถกลับมาทำการบินได้ 65% จากปี 2562 (ก่อนโควิด-19) เนื่องจากการบินไทยยังมีเครื่องบินมาใช้ทำการบินได้ไม่เต็มที่ เพราะซัพพลายเครื่องบินมีน้อย จากผลกระทบโควิด และปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้เครื่องบินยังค้างอยู่ในรัสเซียนับ 100 ลำ ทำให้เรายังไม่สามารถจัดหาเครื่องบินได้อย่างตามใจที่เราต้องการ
ทั้งนี้ปัจจุบันการบินไทยเหลือเครื่องบินลำตัวกว้างไว้ให้บริการอยู่ที่ 41 ลำ (ไม่รวมไทยสมายล์ที่มีเครื่องบินลำตัวแคบอยู่ 20 ลำ) ซึ่งเรามีแผนจะเช่าเครื่องบินมาเพิ่มอีก 9 ลำ ได้แก่ แอร์บัสเอ 350 จำนวน 6 ลำ ที่จะทยอยเข้ามาในเม.ย.-มิ.ย.ปีนี้ และเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 ER อีก 3 ลำ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา คาดว่าจะรับมอบได้ในช่วงสิ้นปี 2566 หรืออย่างช้าต้นปี 2567
แต่ในระหว่างที่ยังไม่มีเครื่องบินเข้ามา การบินไทยได้นำเครื่องบินเก่าที่เราเป็นเจ้าของกลับมาทำการ บินใหม่ 8 ลำ ได้แก่ แอร์บัสเอ 320 จำนวน 3 ลำ และโบอิ้ง 777-200 ER อีก 5 ลำ มาใช้เสริมทัพในช่วงที่ทราฟฟิกกำลังกลับมาในช่วง 3-4 ปีนี้
ทำให้การบินไทยมีเครื่องบินเพิ่มขึ้นเป็น 49 ลำ (ไม่นับรวมเครื่องบินที่จะเช่าเพิ่มมาอีก 9 ลำ) เพื่อนำมาใช้ในการขยายจุดบินเข้าจีน ซึ่งจะเพิ่มเป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.นี้ รวมถึงการเปิดเส้นทางบินใหม่ในยุโรป ที่มองไว้คือ เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ, มิลาน อิตาลี และออสโรล ประเทศนอร์เวย์ และคาดว่าในปี 2568 การบินไทยสามารถกลับมาทำการบินได้ 85% จากปี 2562 (ก่อนโควิด-19)
เป้าหมายระยะกลางดันการบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ-เข้าเทรดหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
ส่วนแผนการทำงานใน “ระยะกลาง” จะเดินตามแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อมุ่งเป้าหมายให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และนำการบินไทยเข้าไปเทรดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เหมือนเดิม ซึ่ง ณ วันนี้จากดีมานด์ผู้โดยสารยังขยายตัวต่อเนื่อง
ทำให้การบินไทยมั่นในว่าปีนี้การบินไทยจะมีผลการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน ภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA) อยู่มากกว่า 2 หมื่นล้านบาท มีแนวโน้มที่การบินไทยจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้เร็วกว่าปลายปี 2567 ที่กำหนดไว้แผนฟื้นฟู
วันนี้การบินไทยไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน การขายทรัพย์สินรองก่อนหน้านี้ที่เกิดขึ้น เป็นเพราะการบินไทยต้องการนำเงินมาจ่ายชดเชยให้พนักงานที่ลาออกไป ซึ่งเราผ่อนจ่ายพนักงานตั้งแต่กลางปี 64 จนถึงวันนี้ใกล้จะหมดแล้วเหลืออยู่เพียง 5-10 ล้านบาทเท่านั้น
ดังนั้นการลงทุนในปีนี้มีน้อยมาก เพราะเครื่องบินก็เป็นการเช่าดำเนินการ การเน้นพัฒนาด้านดิจิทัล ก็ไม่เหมือนในอดีตที่เราต้องลงทุนไอที ทำด้านโครงสร้างพื้นฐานเหมือนสมัยก่อน
ขณะที่ทรัพย์สินต่างๆ ที่กำลังขายอยู่ในขณะนี้ที่ยังเหลืออยู่ อาทิ อาคารสำนักงานขายที่เชียงใหม่ พิษณุโลก ที่ลอนดอน อินโดนีเซีย จาการ์ตา ปีนัง ฮ่องกง มูลค่าราวพันล้านบาท รวมถึงเครื่องบินเก่าที่กำลังดำเนินการขาย 22 ลำ ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการปกติในการปลดระวางเครื่องบินเก่า
เป้าหมายระยะยาวยกระดับการบินไทยกลับไปสู่สายการบินที่มีชื่อเสียงระดับโลก
ขณะเดียวกันการบินไทยก็อยู่ระหว่างการทำแผนการจัดหาเครื่องบินระยะยาว รองรับการดำเนินธุรกิจในช่วงปี 2569-2570 หลังออกจากแผนฟื้นฟู คาดว่าจะได้ข้อสรุป ในกลางปีนี้ ที่ยังบอกไม่ได้ว่าจะเช่าหรือซื้อ เพราะขึ้นอยู่กับดีลของแอร์บัส และโบอิ้งที่เราให้เขานำเสนอมา ซึ่งการจะตัดสินใจซื้อหรือเช่า จำนวนกี่ลำเรายังไม่ระบุ เพราะต้องดูต้นทุนเป็นสำคัญ
สำหรับเป้าหมาย “ปลายทาง” สุดท้ายเราก็จะพัฒนาและยกระดับให้การบินไทย กลับไปสู่สายการบินแห่งชาติที่มีชื่อเสียงติดอันดับโลก และมีความแข็งแกร่งเหมือนในอดีต ที่ยังอาจจะไม่เห็นในช่วง 4 ปีนี้ที่ผมเป็นซีอีโออยู่ แต่จะวางรากฐานเพื่อให้การบินไทยก้าวเข้าไปสู่จุดนั้นในอนาคต
การทำเรื่อง Product Consistency จะทำให้การบินไทยดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน โดยนำจุดแข็งที่ทุกคนยอมรับ คือ ซอฟแวร์ หรือพนักงานให้บริการ และการบินตรง มาเป็นจุดเด่น และวันนี้ด้วยต้นทุนที่เราแข่งขันได้ ก็ทำให้การบินไทยอยู่รอดและจะฟื้นกลับขึ้นมาใหม่อีกครั้ง