บางกอกแอร์เวย์ส กางแผนปี 66 เปิด 4 หมื่นเที่ยวบิน รับท่องเที่ยวฟื้น

22 มี.ค. 2566 | 08:14 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มี.ค. 2566 | 08:41 น.

บางกอกแอร์เวย์สมั่นใจดีมานด์ท่องเที่ยวหนุนอุตสาหกรรมการบินปี 66 คึกคัก เตรียมกว่า 4 หมื่นเที่ยวบินฟื้นเที่ยวไทย ดึงผู้โดยสาร 4.4 ล้านคน ชูกลยุทธ์ 55 ปี ตอกย้ำความมั่นใจ ประสบการณ์เดินทางสุดพรีเมียม

บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส คาดการณ์ปี 2566 ปริมาณผู้โดยสารทั่วโลกแตะที่ระดับ 70 - 80% ของช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง

บางกอกแอร์เวย์ส กางแผนปี 66 เปิด 4 หมื่นเที่ยวบิน รับท่องเที่ยวฟื้น

 

โดยในปี 2566 บริษัทได้วางกลยุทธ์เน้นความแข็งแกร่งในการให้บริการ ตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารและสายการบินพันธมิตร ด้วยความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ดำเนินมากว่า 55 ปี เชื่อมต่อผู้โดยสารสู่ทุกเส้นทางบินยอดนิยม ดึงจุดเด่นการเป็นสายการบินที่มีบริการแบบพรีเมียม 

  • ตั้งเป้าดึงผู้โดยสาร 4.4 ล้านคน 4 หมื่นเที่ยว

พร้อมเสริมจุดแข็ง 3 สนามบิน สนามบินสมุย สนามบินตราด และสนามบินสุโขทัย ให้รองรับเที่ยวบินได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้โดยสาร 4.4 ล้านคน เที่ยวบินกว่า 4 หมื่นเที่ยว และยังมีเป้าหมายก้าวสู่ความยั่งยืนในทุกมิติของการดำเนินงาน 

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การเดินทางระหว่างประเทศและการท่องเที่ยว ทยอยฟื้นตัวและมีการเดินทางของผู้โดยสารจากทั่วโลก ได้ส่งผลเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมการบิน ในปีที่ผ่านมามีปริมาณการเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ

โดยในส่วนของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส พบว่ายอดจองบัตรโดยสารเพิ่มขึ้นตั้งแต่ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 เป็นต้นมา ทั้งการเดินทางในประเทศ และระหว่างประเทศ

ทำให้ปี 2565 มียอดขนส่งผู้โดยสารรวม 2.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 394.8 และ มีจำนวนเที่ยวบินให้บริการรวม 29,892 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 243.8 เมื่อเทียบกับปี 2564  ภาพรวมของจำนวนผู้โดยสารของปี 2565 อยู่ที่ระดับ  45% ของปี 2562 โดยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสที่ 3 และแตะระดับที่ 65% ของช่วงก่อนโควิดในเดือนธันวาคม

  • ปีนี้คาดผู้โดยสารกลับมา70-80%

สำหรับในปีนี้คาดการณ์ว่าปริมาณผู้โดยสารจะอยู่ที่ 70-80% ของปี 2562 จากปัจจัยความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่ยังคงแข็งแกร่ง และการเปิดประเทศของหลายๆประเทศ และผ่อนปรนนโยบายการเดินทางช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง 

ปัจจุบันบริษัทฯ ให้บริการเที่ยวบินเส้นทางภายในประเทศ 15 เส้นทาง เส้นทางระหว่างประเทศ  7 เส้นทาง บริษัทฯ วางเป้าหมายในปี 2566 ในการดึงนักท่องเที่ยวไทย – ต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศไทยและในภูมิภาค ตั้งเป้ารายได้ผู้โดยสาร 15,000 ล้านบาท รวมเที่ยวบินกว่า 4 หมื่นเที่ยวบิน อัตราการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 76% 

  • ชูเซอร์วิสพรีเมี่ยมตอกย้ำครบรอบ 55 ปี

ทั้งในโอกาสครบรอบ 55 ปี ในการดำเนินธุรกิจ บางกอกแอร์เวย์สยังคงมุ่งมั่นที่จะยกระดับและพัฒนาการให้บริการเชื่อมต่อการเดินทางของผู้โดยสารไปถึงยังจุดหมายปลายทาง( Connect Your Happiness)  โดยดึงจุดเด่นของการเป็นสายการบินที่มีบริการครบครัน 

อาทิ บริการเลือกที่นั่งก่อนการเดินทาง บริการสัมภาระฟรี 20 กก. บริการห้องรับรองผู้โดยสารแก่ผู้โดยสารทุกคน บริการอาหารในทุกเที่ยวบิน การบริการระดับพรีเมียมในราคาที่เข้าถึงได้ และจุดแข็งของการเป็นเจ้าของและบริหารงานสนามบิน 3 แห่ง ได้แก่ สนามบินสมุย สนามบินตราด และสนามบินสุโขทัย ที่จะสามารถรองรับเที่ยวบิน และเป็นศูนย์กลางการบินในการเชื่อมต่อระหว่างจุดหมายปลายทางต่างๆ 

บริษัทฯ มีแผนที่จะเพิ่มศักยภาพเพื่อการรองรับการเดินทาง ในด้านระบบการจัดการ การปรับปรุงด้านกายภาพ การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะอยู่ภายใต้ข้อบังคับและกฎระเบียบของหน่วยราชการ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล

นายพุฒิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ เล็งเห็นความสำคัญของการเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืนในด้านธุรกิจ การดำเนินงาน การสร้างความพึงพอใจให้กับผู้โดยสาร พันธมิตร และยังสามารถคงไว้ซึ่งนโยบายด้านการตอบแทนสู่สังคม รวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทฯ คำนึงถึงเสมอมา 

  • มุ่งเป้าหมาย Net Zero 2050 

บางกอกแอร์เวย์สมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนสำคัญในการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคการบิน  โดยปัจจุบัน บริษัทได้ดำเนินโครงการการวางแผนใช้น้ำมันอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 

นอกจากนี้ในระดับนานาชาติ บริษัทฯยังได้เข้าร่วมโครงการ Carbon  offsetting and Reduction Scheme for International Aviation (CORSIA) ของ ICAO เพื่อสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการรักษาระดับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิของภาคการบินพลเรือนระหว่างประเทศ 

บริษัทฯได้มีการศึกษาการใช้น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน Sustainable Aviation Fuel (SAF)ที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมการบินลงได้ โดยเฉพาะเมื่ออุตสาหกรรมการบินวางแผนจะก้าวเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero Carbon Emission หรือคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์  ในปี ค.ศ. 2050 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนดำเนินการในขอบเขตอื่น ๆ เช่น การศึกษาการใช้พลังงานหมุนเวียน การประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์องค์กร แผนพัฒนาโครงการแยกขยะได้ประโยชน์ซึ่งดำเนินการอยู่เดิม อีกทั้งริเริ่มศึกษาโครงการ Upcycling อาทิ ชุดยูนิฟอร์มพนักงาน ขวดน้ำพลาสติกไร้ฉลาก โดยทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่และนำกลับมาใช้ประโยชน์ในกระบวนการธุรกิจ

รวมถึงการ Upcycling ขยะชุมชน เช่น เปลือกหอยนางรม (พื้นที่ทดลอง ณ ต.ท่าโสม อ.เขาสมิง จ.ตราด) โดยออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้ชุมชน

  • ธุรกิจขยับดันรายได้เพิ่มต่อเนื่อง

นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสสายงานการเงินและบัญชี กล่าวว่า ผลการดำเนินงานปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้รวมเท่ากับ 12,742.1 ล้านบาท เทียบกับปี 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 124.8 ซึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการจำหน่ายบัตรโดยสารร้อยละ 609.8 รายได้จากธุรกิจสนามบินร้อยละ 465.4 รายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบินร้อยละ 71.6 จากการกลับมาปฏิบัติการบินของสายการบินต่าง ๆ  

อนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา

บริษัทฯ มีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 889.3 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากปี 2564 จำนวน 1,643.2 ล้านบาท หรือร้อยละ  64.9     

ในปี 2565 บริษัทฯ ย่อยของบริษัทฯในฐานะผู้จัดการกองทรัสต์ได้จัดตั้งกองทรัสต์และนำทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินการบินกรุงเทพ (BA Airport Real Estate Investment Trust: BAREIT) ซึ่งเป็นกองทรัสต์ธุรกิจสนามบินกองแรกของประเทศไทย เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 
ในวันที่ 14 กันยายน 2565 โดยมีมูลค่าการระดมทุน 14,300 ล้านบาท 

ในปี 2565 ที่ผ่านมาสนามบินสมุยมีแนวโน้มของปริมาณเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารที่มาใช้บริการเพิ่มสูงขึ้น โดยมียอดขนส่งผู้โดยสารรวมทั้งสิ้นกว่า 1.3 ล้านคน และมีจำนวนเที่ยวบินใช้บริการรวมทั้งสิ้นกว่า 15,000 เที่ยวบิน เพิ่มสูงขึ้นอย่างเป็นนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปี 2564   

ถึงแม้ว่าจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอาจจะไม่เทียบเท่ากับช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่เป็นสัญญานดีที่แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวอย่างชัดเจนในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายในประเทศไทย

บางกอกแอร์เวย์ส กางแผนปี 66 เปิด 4 หมื่นเที่ยวบิน รับท่องเที่ยวฟื้น

ด้านความคืบหน้าของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ผู้รับสัมปทานโครงพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้มีการเตรียมความพร้อมในด้านการออกแบบวางแผนงาน และการจัดสรรบุคลากร ตลอดจนถึงการเตรียมงานด้านการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมได้อย่างทันท่วงทีเมื่อได้รับการลงนามในสัญญาด้านการส่งมอบพื้นที่สำหรับการก่อสร้างในอนาคต    

รุกทำตลาดโฟกัส Color Marketing 

นายคมกริช งามวงศ์วิโรจน์ ผู้อำนวยการแผนกลูกค้ารายใหญ่และผลิตภัณฑ์รายได้เสริม เปิดเผยว่า ในปีนี้ บริษัทฯ คาดการณ์ว่าสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อและพร้อมเดินทางจะกลับมาอย่างชัดเจน และจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นประมาณ 60 % ของรายได้ทั้งหมด 

คมกริช งามวงศ์วิโรจน์

โดยมีช่องทางการจัดจำหน่ายผ่าน BSP agents ในตลาดหลักอาทิ ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน แอฟริกาใต้ และอีกกว่า 20 ตลาดทั่วโลก รวมถึงการขายผ่านเครือข่ายสายการบินพันธมิตรอีกกว่า 100 สายทั่วโลก  และอีกช่องทางหนึ่งที่เรามุ่งเน้นในปีนี้คือช่องทางกลุ่มตัวแทนจำหน่ายออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมทั่วโลก  
 
นอกจากนี้แผนขยายการขายเชิงรุกในตลาดต่างประเทศ บริษัทฯ ได้มีการแต่งตั้งตัวแทนขายและการตลาดเพิ่มขึ้นอีก 12 สำนักงาน รวมทั้งสิ้นเป็น 41 สำนักงาน โดยเป็นการเปิดสำนักงานในประเทศกลุ่มนอดิกส์หรือสแกนดิเนเวีย และกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ และแต่งตั้งตัวแทนขายและการตลาดในกลุ่มประเทศเยอรมัน ออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์ ประเทศฮ่องกง และออสเตรเลีย 

สำหรับการขายในตลาดในประเทศ บริษัทฯ วางกลยุทธ์การออกโปรโมชั่นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ในช่วงเทศกาล การส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับพันธมิตรในภาคส่วนต่างๆ รวมถึงการขายสินค้า บริการของพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆเสริมให้มากขึ้น คลอบคลุมทุกความต้องการของผู้โดยสาร เช่นประกันการเดินทาง รถเช่า โรงแรม หรือการขายล่วงหน้า ให้เกิดประสบการณ์ที่ดีในการเดินทางกับสายการบินของเรา 

ด้านแผนการตลาด บริษัทฯ มุ่งเน้นการนำกลยุทธ์สร้างตลาดด้วยสีสัน (Color Marketing) โดยจะทำการสื่อสารผ่านแนวคิด “สีฟ้าคือสีแห่งความสุข” ที่นำเอกลักษณ์จากสีของบางกอกแอร์เวย์ส มาสื่อสารเพื่อสร้างการจดจำภาพแห่งความสุขในการเดินทางกับสายการบินฯ ตั้งแต่บริการผ่านพนักงานคอลเซ็นเตอร์ การเลือกจองที่นั่ง บริการห้องรับรองผู้โดยสาร จนถึงจุดหมายปลายทาง 

โดยมี “ญาญ่า อุรัสยา” เป็นพรีเซนเตอร์ ที่มีสไตล์เฉพาะตัว มีความเป็นมิตร การสื่อสารที่จริงใจ สามารถแบ่งปันความสุขให้กับทุกคนในทุกครั้งที่พบเจอและกิจกรรมทางการตลาดในปีนี้จะมุ่งเน้นทำให้แบรนด์บางกอกแอร์เวย์ส เป็นที่จดจำอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมต่างๆ 

บริษัทฯ ยังคงเน้นการส่งเสริมการตลาดผ่านกีฬา (Sport Marketing) หลากหลายรูปแบบสำหรับกิจกรรมหลักของปีนี้ ทั้งการจัดการแข่งขันวิ่งฮาล์ฟมาราธอน บางกอกแอร์เวย์สบูทีคซีรี่ย์ 2023 ใน 4 สนาม ได้แก่ เกาะสมุย  ลำปาง พังงา สุโขทัย โดยจะใช้แนวคิดเรื่องความยั่งยืนผสมผสานเข้าไปในตัวกิจกรรม

เช่นเสื้อวิ่งที่ใช้เทคโนโลยีการทอผ้ารีไซเคิลจากขวดน้ำพลาสติก นอกจากนี้ยังมีงาน Surf Festival 2023 ที่จะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

พร้อมกันนี้ยังมีแผนร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ในการเชิญบรรดาเซเลบริตี้คนดังจากทั่วโลก มาร่วมสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวที่เมืองไทย อีกทั้งยังได้นำเสนอส่วนลดพิเศษสำหรับผู้โดยสารเฉพาะกลุ่ม อาทิ กลุ่มนักศึกษา ผู้สูงวัย และ ผู้ทุพพลภาพ