ช่วงบ่ายนี้วันนี้ (13 เมษายน 2566) นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นประธานในพิธีเปิดเทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ประจำปี 2566 ภายใต้คอนเซปต์ “Defining Your Thainess” ณ บริเวณซอยจุฬาลงกรณ์ 5 (ถนนอุทยาน 100 ปี) งานประเพณีสงกรานต์ 5 ภูมิภาค ซึ่งเป็นหนึ่งใน Soft Power คือ F-Festival เพื่อกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศ หนุนรายได้หมุนเวียน 1.8 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้เทศกาลสงกรานต์เป็นประเพณีที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ถือเป็นหนึ่งใน Soft Power (5F) คือ F-Festival ที่แข็งแกร่ง และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และอยู่ระหว่างพิจารณาให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือ Intangible Cultural Heritage ชิ้นที่ 4 ของไทย ต่อจาก โขน นวดไทย และโนรา
โดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) เพื่อขับเคลื่อนปีท่องเที่ยวไทย 2566 ให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่มีคุณค่าและความหมายแก่นักท่องเที่ยวในทุกการออกเดินทาง (Meaningful Travel) ททท. จึงผนึกกำลังต่อยอดประชาสัมพันธ์ประเพณีสงกรานต์ จัดงานเทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน 2566 ณ ซอยจุฬาลงกรณ์ 5 (ถนนอุทยาน 100 ปี) กรุงเทพมหานคร
โดยมุ่งนำเสนออัตลักษณ์แห่งวิถี รากเหง้า และคุณค่าความเป็นไทย ผ่านประเพณีสงกรานต์ของ 5 ภูมิภาค เพื่อส่งมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวใหม่ ๆ ในมุมมองที่แตกต่าง นำสู่การเดินทางท่องเที่ยวจริงในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และให้การท่องเที่ยวเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังได้ร่วมกันสืบสานวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ไทยต่อไปด้วย
สำหรับ เทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ประจำปี 2566 ททท. จัดงานขึ้นภายใต้คอนเซปต์ “Defining Your Thainess” มุ่งนำเสนออัตลักษณ์ประเพณีสงกรานต์ที่แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น 5 ภูมิภาค ประกอบด้วย
ภาคเหนือ ชวนนักท่องเที่ยวสัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งล้านนา นำเสนอการสาธิตประดิษฐ์ “ตุง” โดยใช้วิธี “การตานตุง” เพื่อนำไปปักบนเจดีย์ทรายและถวายเป็นพุทธบูชาในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ และชวนทำ “น้ำส้มป่อย” เพื่อใช้สำหรับพิธีรดน้ำดำหัว สามารถช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายตามความเชื่อของชาวเหนือ
ภาคกลาง ชวนดับร้อนด้วยเมนูอาหารสุดชื่นใจ “ข้าวแช่” ที่มีต้นกำเนิดจากประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญ ในสมัยโบราณนิยมรับประทานข้าวแช่ในช่วงฤดูร้อนตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมเรื่อยไปจนถึงเดือนพฤษภาคม
ภาคอีสาน พาเรียนรู้ “ประเพณีเสียเคราะห์” หรือสะเดาเคราะห์ พิธีกรรมจากความเชื่อระหว่างพุทธและพราหมณ์ ศรัทธาในสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ ภูตผี ปีศาจ เทวดา ว่าจะช่วยปัดเป่าคลายความกังวล โรคภัยไข้เจ็บ ให้กลับมาแข็งแรง พ้นเคราะห์พ้นโศกได้
ภาคตะวันออก นำเสนอประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายข้าวเปลือก ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ประเพณีของชาวไผ่ดำ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา สำหรับการก่อเจดีย์ทรายข้าวเปลือกเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
ภาคใต้ นำเสนอพีธีแห่นางดาน หนึ่งในอัตลักษณ์สงกรานต์ภาคใต้ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดา ผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง ตามความเชื่อศาสนาพราหมณ์
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ให้ผู้ร่วมงานได้สัมผัสประสบการณ์ประเพณีไทย อาทิ กิจกรรมสรงน้ำพระเพื่อขอพรเสริมสิริมงคลในช่วงปีใหม่ไทย ชมการแสดงเชิงวัฒนธรรมจาก 5 ภูมิภาค กิจกรรม DIY และอิ่มอร่อยไปกับอาหารจากชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น และพิเศษสุด สำหรับผู้เข้าร่วมงานที่สะสมตราประทับจากกิจกรรมครบ 5 ภูมิภาค สามารถแลกรับของที่ระลึกสุดพิเศษจาก ททท.
ทั้งนี้ ททท. คาดการณ์ว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจะคึกคักมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้เกิดรายได้รวมประมาณ 18,530 ล้านบาท สำหรับตลาดในประเทศ คาดว่ามีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ 3,808,500 คน-ครั้ง และใช้จ่ายสร้างรายได้หมุนเวียน 13,500 ล้านบาท
ขณะที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทย 305,000 คน โดยฟื้นตัวประมาณร้อยละ 60 ของจำนวนนักท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2562 และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 5,030 ล้านบาท จากการเดินทางของนักท่องเที่ยวตลาดระยะใกล้ ภูมิภาคอาเซียน และภูมิภาคเอเชียตะวันออก
โดยตลาดที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่ อินเดีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส และ รัสเซีย รวมทั้งนักท่องเที่ยวจาก มาเลเซีย และ สปป.ลาว ที่เดินทางข้ามแดนเข้ามาท่องเที่ยวร่วมกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์คึกคัก ในพื้นที่จังหวัดชายแดน อาทิ งาน Hatyai Midnight Songkran อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และงาน Udon Songkran Festival จ.อุดรธานี