หลังโควิด-19 “ดิจิทัล โนแมด” (Digital Nomad) หรือกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ พร้อมกับทำงานไปด้วย เพียงแค่แล็ปท็อปที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต มีแนวโน้มเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในปี 2566 กลุ่มดิจิทัล โนแมดมีมากถึง 35 ล้านคน สร้างมูลค่าเศรษฐกิจรวมประมาณ 787 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยประเทศไทย ติดอันดับ 1 ใน 10 ที่ดิจิทัล โนแมดข้ามโลกเลือกไทยเป็นจุดหมายพักนานเที่ยวทำงาน ซึ่งอยู่ในอันดับ 2 รองจากเม็กซิโก
นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากกระแสการเติบโตอย่างน่าจับตามองของ “ดิจิทัล โนแมด” หรือ Digital Nomad ทั่วโลก เป็นโอกาสใหม่ของผู้ประกอบการ กลุ่มท่องเที่ยวไทยที่จะพัฒนาสินค้าบริการ สร้างจุดหมายปลายทางใหม่ๆ ให้เกิดการกระจายรายได้ในวงกว้าง ทั้งในภาคท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกระจายไปสู่ชุมชนต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ
ข้อมูลจากเว็บไซต์ think remote ในปี 2566 พบว่า ทั่วโลกมีผู้ที่ทำงานอิสระพร้อมกับเลือกสถานที่ใหม่ๆ หรือดิจิทัลโนแมด ประมาณ 35 ล้านคนโดยเกือบครึ่งหนึ่ง หรือ 15.5 ล้านคนมาจากสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นถึง 4.5 ล้านคน เมื่อก่อนการระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2563 และคาดการณ์ว่าภายใน 2 ปี สหรัฐอเมริกาจะมีดิจิทัล โนแมดถึง 35.7 ล้านคน หรือประมาณ 22% ของแรงงานทั้งหมด
ชาวดิจิทัลโนแมด หรือถูกนิยามว่า พลเมืองโลก คือกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตและเลือกทำงานจากที่ไหนก็ได้ในโลก เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปเชื่อมต่อกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ดี ทำงานทางไกลผ่านระบบออนไลน์ มักจะพำนักระยะยาว ใช้ร้านกาแฟ ห้องสมุดสาธารณะ และ Co-working Space เป็นสถานที่ทำงาน และจากสถิติพบว่า ชาวดิจิทัลโนแมดจะอยู่ประจำที่เดียว ราว 9 เดือน มีส่วนน้อยที่อาจพำนักที่ใดที่หนึ่งได้นานถึง 1 ปี
สถานการณ์โควิด-19 ทำให้นโยบายของบริษัทต่างๆ ในระดับโลกมีนโยบายให้พนักงานทำงานที่ใดก็ได้ หรือ Work From Anywhere อาทิ AMAZON, Google, Apple Computer Inc, Microsoft, Twitter, META Facebook, American Express, Siemens, Lift, Airbnb, Spotify หรือแม้แต่ Ford เป็นสาเหตุสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการเฟื่องฟูของกระแสคนทำงานที่สามารถเดินทางได้อย่างอิสระ
ทำให้ 46 ประเทศทั่วโลกปรับเปลี่ยนนโยบายมาตรการวีซ่าที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดเหล่าดิจิทัล โนแมด โดยล่าสุดอินโดนีเซียประกาศพัฒนาวีซ่าแบบใหม่สำหรับ 5 ปี นานกว่าวีซ่านักเดินทางดิจิทัลอื่นๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ผลสำรวจความคิดเห็นของชุมชนชาวดิจิทัลโนแมดเอง ก็เห็นว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งใน Top destination โดยเว็บไซต์ Instant Officer จากประเทศอังกฤษ จัดให้ “กรุงเทพมหานคร” เป็นอันดับ 2 เมืองที่ดีที่สุดในโลก
สำหรับดิจิทัล โนแมด ปี 2022 และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย จากการจัดอันดับ 80 เมืองทั่วโลก ขณะที่เว็บไซต์ By Digital Nomads จัดอันดับให้ “เชียงใหม่” ติดอันดับ 3 ของโลก ในการจัดอันดับ The 16 Best Places For Digital Nomads To Live In 2023
Airbnb เผยผลสำรวจพฤติกรรมและความต้องการของชาวดิจิทัลโนแมด ในปี 2565 โดยผลสำรวจพบว่า กรุงเทพ กระบี่ เชียงใหม่ เกาะลันตา เกาะพะงัน ภูเก็ต เป็นท็อปเดสติเนชั่นสำหรับดิจิทัล โนแมด
ไทยติดอันดับระดับต้นๆของกลุ่มดิจิทัล โนแมด เป็นเพราะมีข้อดีมากมาย ที่กลุ่มดิจิทัลโนแมดต้องการ ได้แก่
แนวโน้มขยายตัวของกลุ่มดิจิทัล โนแมด จึงนับเป็นโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทย ที่สำคัญในการต่อยอดภาคการท่องเที่ยวไทย พัฒนาธุรกิจ เพื่อรองรับชาวดิจิทัลโนแมด ไม่ว่าจะเป็นที่พักเพื่อชาวโนแมด, ทัวร์วัฒนธรรม/อาหาร, กิจกรรมผจญภัย, คลาสเรียนภาษา, Workshop ศิลปะ งานคราฟต์ ทำอาหาร, กิจกรรม เวลเนสเพื่อสุขภาพ, จัดอีเวนต์/ปาร์ตี้
“ชาวดิจิทัลโนแมดไม่ได้มาทำงานอย่างเดียว แต่จะออกเดิน ทางท่องเที่ยว สำรวจวัฒนธรรม ทำความรู้จักกับผู้คนในท้องถิ่น และใช้เวลาในพื้นที่มากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะพัฒนาธุรกิจเดิมหรือสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามองครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะพัฒนาธุรกิจเดิม หรือสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ให้ตอบโจทย์” รองผู้ว่าการ ททท. กล่าวทิ้งท้าย