"การบินไทย"คิกออฟควบรวม"ไทยสมายล์" 10 ปีขาดทุน 2 หมื่นล้าน

04 ก.ค. 2566 | 05:26 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ย. 2566 | 15:10 น.

การบินไทยเดินหน้าควบรวมไทยสมายล์ ทยอยโอนแอร์บัส A320 ล็อตแรก 4 ลำเสริมฝูงบิน ปรับโฉมใหม่นำมาสยายปีกอินเดีย มั่นใจโอนย้ายเครื่องบิน 20 ลำ พร้อมพนักงานแล้วเสร็จสิ้นปีนี้ ดันการใช้งานเครื่องบินเพิ่ม 11-12 ชั่วโมงต่อวันในช่วง 3 ปีนี้ หลัง 10 ปีขาดทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท

การบินไทยได้เริ่มนับหนึ่งเดินหน้าตามแผนควบรวมสายการบินไทยสมายล์แล้ว หลังจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) มีมติเห็นชอบให้การบินไทยปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มธุรกิจการบินของการบินไทย ตามแนวทางที่คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการและฝ่ายบริหารนำเสนอ

โดยจะควบรวม บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด (ไทยสมายล์) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่การบินไทยถือหุ้นอยู่ 99.99% จะส่งผลให้เครื่องบินที่ปัจจุบันบริหารจัดการ ภายใต้ไทยสมายล์ย้ายมาบริหารจัดการของการบินไทย

ล่าสุดการบินไทยได้ทยอยโอนเครื่องบินแอร์บัส A 320-200 จำนวน 4 ลำ จาก 20 ลำที่การบินไทยได้ให้สายการบินไทยสมายล์เช่าดำเนินการ พร้อมทยอยแปลงโฉมเครื่องบินรุ่นนี้ ให้เป็นโลโก้ของการบินไทย

ไทยสมายล์

โดยได้ลบโลโก้ของไทยสมายล์ออกจากลำตัวเครื่องบิน แล้วเปลี่ยนเป็นโลโก้การบินไทยเสร็จแล้ว 1 ลำ และจะทยอยปรับโฉมลำอื่นๆที่ทยอยโอนมา เพื่อเตรียมนำมาปฏิบัติการบินภายใต้การบินไทย

สำหรับเครื่องบินแอร์บัส A 320-200 การบินไทยจะนำมาให้บริการเส้นทางบินระหว่างประเทศ เริ่มจากเส้นทางกรุงเทพฯ(สุวรรณภูมิ)-สู่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย เที่ยวบิน TG 351/352 ให้บริการในแบบชั้นประหยัด 168 ที่นั่ง ซึ่งจะเริ่มบินตั้งแต่วันที่ 2 กรกฏาคมนี้ และจะทยอยรับโอนเครื่องบินทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนธันวาคม ปี 2566 นี้

\"การบินไทย\"คิกออฟควบรวม\"ไทยสมายล์\" 10 ปีขาดทุน 2 หมื่นล้าน

ขณะที่การรับโอนบุคลากรของสายการบินไทยสมายล์ เข้ามาเป็นพนักงานของการบินไทย จะทยอยรับโอนบุคคลากรการบินส่วนแรก เพื่อดำเนินการฝึกอบรมและขอใบอนุญาต และบุคคลากรส่วนงานสนับสนุนเข้ามาก่อน จากนั้นจะทยอยโอนเข้ามาแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งไทยสมายล์มีพนักงานราว 800 คน โดยการโอนย้ายที่เกิดขึ้นจะไม่กระทบต่อโครงสร้างค่าตอบแทน สภาพการจ้าง และอายุงานของพนักงานแต่อย่างใด

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่่บริหาร บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการบินไทยได้ยื่นจดทะเบียนเครื่องบินแอร์บัส A320 ของไทยสมายล์ เข้าฝูงบินของการบินไทยแล้ว ซึ่งในช่วงแรกจะนำเข้ามาก่อน 4 ลำ เพื่อทำการบินในเส้นทางระหว่างประเทศ โดยมองไว้ว่าจะเป็นเส้นทางบินสู่อินเดียเป็นหลัก

ชาย เอี่ยมศิริ

การบินไทยตั้งเป้าว่าจะควบรวมสายการบินไทยสมายล์ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ก็จะทำให้นำเครื่องบินที่ให้ไทยสมายล์เช่าทั้งหมด 20 ลำ กลับมาดำเนินการโดยการบินไทยได้ทั้งหมด เพื่อทำการบินในเส้นทางทั้งหมดที่ไทยสมายล์เคยทำการบิน

ทั้งในระหว่างที่การบินไทยดำเนินการตามขั้นตอนของกฏหมายที่เกี่ยวข้องในการควบรวมกิจการ ผู้โดยสารยังสามารถซื้อบัตรโดยสารและใช้บริการเที่ยวบินของไทยสมายล์ได้ตามปกติในระหว่างที่การบินไทยดำเนินการปรับโครงสร้าง ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการของผู้โดยสาร

ทั้งนี้หากรวมเครื่องบินแอร์บัส A 320 ทั้ง 20 ลำของไทยสมายล์เข้าฝูงบินของการบินไทย รวมกับการจัดหาฝูงบินใหม่อีก 51 ลำของการบินไทย ได้แก่

  • แอร์บัส A 350-900 จำนวน 11 ลำ (เช่าดำเนินการ)
  • แอร์บัส A321 neo 10 ลำ (เช่าดำเนินการ)
  • เครื่องบินลำตัวกว้าง 30 ลำ (ยังไม่ได้กำหนดรุ่นและอยู่ระหว่างพิจารณาเช่าซื้อหรือเช่าดำเนินการ)

ดังนั้นจะทำให้ในปี 2570 การบินไทยจะมีเครื่องบินจาก 65 ลำ รวมเป็น 113 ลำเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ รองรับการเติบโตของธุรกิจการบินในอีก 5 ปีนี้ และทำให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นโฮมเบสของสายการบินของไทย สามารถแข่งขันได้กับสายการบินต่างชาติที่อยากเข้ามาเปิดบินในไทย นายชาย กล่าวทิ้งท้าย

\"การบินไทย\"คิกออฟควบรวม\"ไทยสมายล์\" 10 ปีขาดทุน 2 หมื่นล้าน

สาเหตุหลักที่การบินไทยต้องควบรวมไทยสมายล์ 

1.เป็นการใช้ทรัพย์สินอย่างมีมูลค่ามากขึ้น

2.ทำให้มีอำนาจในการต่อรองกับเวนเดอร์ ในการซื้อบริการต่างๆ ที่จะมีเพิ่มขึ้น เพราะขนาดธุรกิจของไทยสมายล์ คิดเห็น 10% ของการบินไทย การปรับโครงสร้างนี้ก็จะทำใหมีการใช้ซัพพลายต่างๆใช้ร่วมกันได้ 

3. แก้ปัญหาการขาดทุนของไทยสมายล์ ซึ่งที่ผ่านมาการบินไทย และไทยสมายล์ ถือใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศAir Operator Certificate หรือ AOC คนละบริษัท ทำให้การบินไปบางประเทศทำไม่ได้ เพราะมีเรื่องของสิทธิการบิน และไทม์สล็อตที่ไม่สามารถโอนข้ามกันได้

ส่งผลให้ไทยสมายล์มีการใช้งานเครื่องบินไม่ถึง 9 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยสูง ขณะที่การบินไทยใช้เครื่องบิน(Aircraft Utilization) อยู่ที่ 12-13 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นถ้าแบ่งเครื่องบินลำตัวแคบของไทยสมายล์มาให้การบินไทยใช้ทำการบิน การใช้ประโยชน์ของเครื่องบินต่อวัน จะเพิ่มขึ้นเป็น 11 ชั่วโมงกว่า ซึ่งสูงกว่าอยู่ที่ไทยสมายล์ 2 ชั่วโมงกว่าต่อวัน

ทำให้ต้นทุนต่อชั่วโมงลดลง 20 % แค่นี้ผลประกอบการ ที่ใช้เครื่องบินเอ 320 ก็จะดีขึ้นแล้ว เพราะการบินไทยมีไทม์สล็อต สามารถนำเครื่องบินที่จะรวมเข้ามา เพื่อนำมาใช้บินในตอนกลางคืนได้

\"การบินไทย\"คิกออฟควบรวม\"ไทยสมายล์\" 10 ปีขาดทุน 2 หมื่นล้าน

อีกทั้งยังทำให้การบินไทยมีฝูงบินเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเครื่องบินลำตัวแคบ จากปัจจุบันที่การบินไทยมีเฉพาะเครื่องบินลำตัวกว้างที่ให้บริการได้เพียง 45 ลำ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการบริหารเส้นทางบินให้เชื่อมต่อกัน บริหารเวลาการบินและสิทธิการบินในเส้นทางการบินต่างๆเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการจำหน่ายบัตรโดยสารในรูปแบบการเชื่อมต่อเครือข่ายเที่ยวบิน ( Network Sale) และเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันด้านการบริหารจัดการต้นทุน

ทั้งในปัจจุบันเราจะเห็นว่าการควบรวมกิจการของสายการบินแม่และสายการบินลูก หรือสายการบินในเครือมีแนวโน้มเป็นปกติ ซึ่งเป็นการปรับยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจ อย่าง สิงคโปร์ แอร์ไลน์ ควบรวมกับ ซิลล์แอร์ ,คาเธ่ย์ แปซิฟิก ควบรวมกับดรากอนแอร์ นายชาย กล่าวทิ้งท้าย

ในส่วนของผลการดำเนินงานของไทยสมายล์ นับตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในปี 2556 ถึง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 มีผลการขาดทุนสะสมต่อเนื่องรวม 20,012 ล้านบาท และมีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบจำนวน 18,166 ล้านบาท และมีความเสี่ยงในการขาดสภาพคล่องในการดำเนินกิจการตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 เป็นต้นไปหากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากการบินไทย

การควบรวมกิจการจึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ซึ่งการบินไทยคาดว่าหลังการปรับโครงสร้างดังกลาว จะส่งผลให้อัตราการใช้งานเครื่องบิน A 320 เฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นจาก 8.92 ชั่วโมงต่อวัน เป็น 11.28 ชั่วโมงต่อวัน ภายในปี 2568

ในขณะที่อัตราการใช้งานเครื่องบินในฝูงบินของการบินไทยรวมทุกแบบอากาศยานจะปรับตัวสูงขึ้นจาก 11.18 ชั่วโมงต่อวัน เป็น 11.52 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วง 6 เดือนแรก และปรับตัวสูงขึ้นเป็น 12.76 ชั่วโมงต่อวัน ภายในปี 2568 และมีผลตอบแทนจากการจำหน่ายบัตรโดยสารต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจาก 2.23 บาทเป็น 2.27 บาท

ส่งผลให้การบินไทยมีผลประกอบการในภาพรวมช่วงปี 2566-2568 ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้หลังการโอนย้ายเครื่องบินและบุคลากรของไทยสมายล์ไปยังการบินไทยเสร็จสิ้นแล้ว จะยังสถานะการดำเนินกิจการของบริษัทไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด โดยยังไม่ดำเนินการจดทะเบียนเลิกบริษัทแต่อย่างใด