อิมแพ็ค เปิดตัวเลขยอดจองจัดงานปี 2566 รวมกว่า 1,100 งานเพิ่มขึ้น 41% ครึ่งปีแรกรับงานไปแล้วกว่า 749 งาน มั่นใจปิดรายได้ปี 2565/2566 จากค่าเช่าและค่าบริการ 3,470 ล้านบาท พร้อม ทุ่มงบ 200 ล้านบาท สร้าง Link Bridge เฟส 3 รับลูกค้าไทยและต่างประเทศ
นายพอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี เปิดเผยว่าในปี 2566 นี้อิมแพ็คมียอดจองจัดงานรวมแล้วกว่า 1,073 งาน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 313 งาน คิดเป็น 41.18% โดยแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ได้แก่ ประชุมสัมมนา 233 งาน, แสดงสินค้า 56 งาน, เจรจาธุรกิจ 13 งาน, สังสรรค์ปาร์ตี้ 56 งาน, แต่งงาน 62 งาน, คอนเสิร์ตและ การแสดงสำหรับครอบครัว 106 งาน, จัดเลี้ยงนอกสถานที่ 475 งาน และกิจกรรมอื่นๆ 72 งาน นอกจากนี้ หากแบ่งตามกลุ่มผู้จัดงานภาครัฐ หน่วยงานราชการ อยู่ที่ 184 งาน และภาคเอกชน จำนวน 889 งาน
โดยช่วงครึ่งปีแรก 2566 มีการจัดงานไปแล้วถึง 749 งาน เพิ่มขึ้น 242 งาน หรือคิดเป็น 47.73% จากช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 ที่มีการจัดงานจำนวน 507 งาน ซึ่งที่โดดเด่นของปีนี้ คือ คอนเสิร์ตที่มีการจองจัดงานทุกสัปดาห์ ขณะนี้รวมแล้วกว่า 100 งาน แบ่งเป็น คอนเสิร์ตศิลปินไทยจำนวน 43 งาน และคอนเสิร์ตจากศิลปินต่างชาติมากถึง 63 งาน ส่งผลถึงสัดส่วนการจัดงานของต่างประเทศในปีนี้เพิ่มขึ้นด้วยอยู่ที่ 9.88% จากปี 2565 ที่มียอดการจัดงานจากลูกค้าต่างประเทศ อยู่ที่ 4.11 %
โดยมีงานใหม่ๆ ที่จองพื้นที่จัดงานในปี 2566 อาทิ VIV Asia 2023 and Meat Pro Asia 2023 ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา การกลับมาจัดโชว์ Disney On Ice และงาน Magic Convention 2023 ซึ่งเป็น Incentive หรือการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลของกลุ่มธุรกิจชาวอินเดีย ช่วงเดือนเมษายน งานมหกรรมอาหารหรือไทยเฟก ที่กลับมาจัดเต็มพื้นที่ของศูนย์ฯ ในเดือนพฤษภาคม และ World Hindu Congress 2023 งานประชุมระดับนานาชาติ ที่จะจัดขึ้นเดือนพฤศจิกายน เป็นต้น
“สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ส่งผลให้ปีที่ผ่านมา อิมแพ็ค มียอดการจัดงานและรายได้ดีขึ้นในระดับที่น่าพอใจ จากรายงานเมื่อปิดปีงบประมาณ 2565/2566 (เมษายน 2565-มีนาคม 2566) รายได้ซึ่งมาจากธุรกิจหลัก 3 ส่วน คือ จากการให้บริการพื้นที่งานแสดงสินค้า ศูนย์ประชุม, อาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจโรงแรม เป็นค่าเช่าและค่าบริการเท่ากับ 3,470 ล้านบาท ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามีรายได้จากค่าเช่าและค่าบริการเท่ากับ 1,436 ล้านบาท อัตราเพิ่มขึ้น 2,034 ล้านบาท คิดเป็น 141.6% ทั้งนี้ จากยอดจองพื้นที่จัดงานปี 2566 ที่เพิ่มขึ้นนี้ คาดว่าจะช่วยให้รายได้เติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน”
อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนลูกค้าทั้งผู้จัดงาน ผู้มาร่วมงาน ที่จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนการจัดงานแต่ละประเภท โดยเฉพาะงานแสดงสินค้า งานเจรจาธุรกิจ คอนเสิร์ต งานประชุมระดับนานาชาติ ที่มีชาวต่างชาติร่วมงานจำนวนมาก และต้องการพำนักใกล้สถานที่จัดงาน จึงได้วางงบลงทุนกว่า 200 ล้านบาท พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก สร้างสะพานเชื่อมระหว่างอาคารต่างๆ ให้ลูกค้าเดินทางร่วมงานและกลับที่พักได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
นายวัชระ จันทระโสภา หัวหน้าฝ่ายบริหารโครงการ กล่าวเสริมว่า การก่อสร้างสะพานเชื่อม หรือ Link Bridge เป็นโครงการที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยจุดประสงค์ต้องการความเชื่อมต่อระหว่างอาคารต่างๆ อำนวยความสะดวก ให้ลูกค้าใช้สะพานเดินทางได้รวดเร็วและปลอดภัย เลี่ยงอุบัติเหตุทางถนน ปัญหาการจราจรที่ติดขัดในบางช่วงเวลาได้ ซึ่งปัจจุบันการดำเนินงานมาถึงระยะที่ 3 ของโครงการ เป็นสะพานเชื่อมระยะทางรวม 400 เมตร แบ่งเป็น 2 ช่วง จากอาคาร 12 ไปยังอาคาร อิมแพ็ค ฟอรั่ม ระยะทาง 330 เมตร และตัดแยกทางเข้าโรงแรมโนโวเทลอีก 70 เมตร
โดยได้จัดวางทางขึ้นลง มีบันไดเลื่อน 2 จุด เยื้องอาคารธันเดอร์โดม และด้านหน้าสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงติดตั้งทางเดินเลื่อน จำนวน 2 ตัว ซึ่งในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ การดำเนินงานแล้วเสร็จ สามารถเปิดให้บริการควบคู่กับโครงการเฟส 1 ระยะทาง 290 เมตร จากโรงแรมไอบิสถึงอาคาร 12 และเฟส 2 ระยะทาง 336 จาก จากวงเวียนไอบิส ถึงคอสโมวอล์ค เชื่อมต่อ คอสโม บาซาร์ ถือเป็นการเชื่อมต่อในทุกอาคารคลอบคุมพื้นที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม, โรงแรมที่พัก, ศูนย์การค้า-เอาท์เล็ต และอาคารจอดรถ จะเหลือเพียงสะพานเชื่อมต่อไปยังสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู ใน 2 จุดหลักบริเวณด้านหน้าอาคารชาเลนเจอร์ สำหรับสถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี และบริเวณลานริมทะเลสาบ สำหรับสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี ซึ่งจะเริ่มดำเนินการต้นปี 2567 และเสร็จเรียบร้อย พร้อมเปิดบริการของรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานีในปี 2568